โอกาสลงทุนใน “หุ้นเวียดนาม” ที่เปี่ยมด้วย “ศักยภาพ”

โอกาสลงทุนใน “หุ้นเวียดนาม” ที่เปี่ยมด้วย “ศักยภาพ”

สรุปความสัมภาษณ์

จากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว จนถึงขั้นติดลบกันเลย แต่หนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้นในปี 2020 ก็คือเวียดนาม โดย GDP เติบโตได้ 2.91% และด้วยเหตุนี้เองทำให้นักลงทุนหันมาสนใจเวียดนามกันมาก วันนี้กองทุนบัวหลวงจะมาตอบทุกข้อสงสัยว่าอะไรที่ทำให้เวียดนามน่าสนใจลงทุน ตลาดหุ้นเวียดนามตอนนี้แพงไปแล้วหรือยัง ยังลงทุนได้หรือไม่

คำถามแรกก็คือ ทำไมเวียดนามถึงน่าสนใจลงทุน ในประเด็นนี้ คุณเมธา พีรวุฒิ Assistant Vice President, Fund Management Group กองทุนบัวหลวง อธิบายว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แม้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2021 ที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด โดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคบริการ โดยล่าสุดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3 ปี 2021 ของเวียดนาม ออกมา -6.2%  และเกิดผลกระทบวงกว้างไปยังห่วงโซ่อุปทานโลกของแบรนด์ชั้นนำที่มีฐานการผลิตในเวียดนาม แต่ รัฐบาลเวียดนามเริ่มปรับตัวเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยเริ่มผ่อยคลายมาตรการ ล็อกดาวน์ควบคู่ไปกับการเร่งการฉีดวัคซีน จนคาดว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงราวๆ ไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 

ล่าสุด กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาปกติมากขึ้น ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ส่งผลให้ Bloomberg คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้แรง โดยเติบโตสูงถึง 7% ในปี 2022 เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับ Theme การลงทุนในเวียดนามที่น่าสนใจนั้น มีด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่

  1. การเติบโตของสังคมเมืองและเทรนด์การบริโภคของพรีเมียม
  2. การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI
  3. การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล

ในประเด็นการเติบโตของสังคมเมืองและเทรนด์การบริโภคของพรีเมียมนั้น คุณเมธ ระบุว่า ด้วยจำนวนประชากรเวียดนามที่มีขนาดใหญ่กว่า 98 ล้านคน และมีอายุเฉลี่ยเพียง 32 ปี ซึ่งเป็นวัยแรงงาน การบริโภคจึงเติบโตสูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มวัยแรงงานเริ่มออกจากภาคเกษตรและเข้าสู่ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงทำให้ รายได้แรงงานเติบโตขึ้นทุกปีที่ราวๆ 8-9% ต่อปี สะท้อนจากตัวเลขค้าปลีกในภาวะปกติจะโตราวๆ 10% และน่าจะโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของสังคมเมืองคือ การเงิน ไอที อสังหาริมทรัพย์ และการบริโภค

ส่วนอีกเทรนด์การบริโภคที่พิเศษของเวียดนามคือ ความนิยมบริโภคของดี กลุ่มสินค้าพรีเมียม ด้วยแรงหนุนจากการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลาง ที่ปัจจุบันมีราวๆ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในประเทศอาเซียน 6 ประเทศ โดยเทรนด์นี้ เราเห็นชัดในสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จาก FDI นั้น เนื่องจาก FDI และภาคการผลิตเป็นส่วนสำคัญในตลาดเวียดนาม โดยยอดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสุทธิ หรือ Net FDI inflow ต่อ GDP ของเวียดนามแซงหน้าทั้งไทย จีน และ ค่าเฉลี่ยทั้งโลก ส่วนหนึ่งก็ด้วยแรงหนุนจากนโยบาย China +1 strategy ที่ทำให้ บริษัทข้ามชาติเพิ่มการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมาเวียดนาม เพื่อใช้ประโยชน์จากค่าแรงที่ไม่แพง แรงงานที่มีทักษะและการศึกษาที่ดี รวมถึงตลาดในประเทศใหญ่ และที่ตั้งของประเทศเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีพื้นที่ติดทะเลค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นทำเลที่ดีต่อการส่งออก ขณะเดียวกันยังมีแรงหนุนจากข้อตกลงทางการค้าที่เวียดนามทำไว้กับนานาประเทศ จนปัจจุบัน แบรนด์ชั้นนำระดับโลกหลายแบรนด์ เช่น Samsung, LG, Apple และ Nike ล้วนมีฐานการผลิตในเวียดนามทั้งสิ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จาก Theme นี้ มีหลากหลายมาก ตั้งแต่ โครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุสาหกรรม ผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์  เป็นต้น

ส่วน Theme สุดท้าย คือการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น จะเห็นได้ชัดว่า ในยุคโควิด-19 การทำงานต่างๆ เปลี่ยนรูปแบบไปโดยสิ้นเชิง มีการเร่งปรับตัวดำเนินธุรกิจโดยใช้ดิจิทัลมากขึ้น โดยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล หรือ Digital transformation มีบทบาทสำคัญในการปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ หลายบริษัทเร่งพัฒนา online platform มากขึ้น หรือเริ่มลงทุนระบบเพื่อรองรับการทำงานที่บ้านของพนักงานมากขึ้น รวมถึงภาคการผลิตเอง ก็เริ่มที่จะพัฒนา ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ (Robotic) มาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาคในการผลิตมากขึ้น สะท้อนจากการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ในปี 2021 ยังคงเป็นบวกหากเทียบกับช่วงก่อนโควิด นอกจากนี้ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP จากที่มีสัดส่วน 5% ในปี 2019 เป็น 20% ในปี 2025 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จาก Theme นี้ ได้แก่ ธุรกิจที่เกียวเนื่องกับไอทีทั้งหมด เช่น data center, cloud computing รวมถึงบริษัทที่มีนวัตกรรม หรือนำเทคโลยีเข้ามามีบทบาทในการประกอบธุรกิจ เช่น E-commerce

จากความน่าสนใจของเวียดนามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้กองทุนบัวหลวง เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ช่วงวันที่ 14 – 20 ต.ค. นี้ ซึ่ง คุณเจฟ สุธีโสภณ CFA® Vice President, Fund Management Group กองทุนบัวหลวง เล่าเจาะลึกเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นเวียดนามมีความน่าสนใจอย่างไร โดย คุณเจฟ อธิบายว่า อยากให้ทุกท่านลองนึกภาพเมื่อปี 2005 – 2014  ในเวลานั้น FDI กำลังเข้ามาในไทยจำนวนมาก ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวก็เติบโตได้ดี ซึ่ง SET Index ในช่วงเวลานั้น วิ่งจาก 600 จุด ไปจนถึง 1,500 จุด ซึ่งภาพนี้กำลังเกิดขึ้นในเวียดนาม ที่มีเงิน FDI กำลังไหลเข้าเวียดนามจำนวนมาก จากการที่เวียดนามเป็นฐานการผลิต และการส่งออกก็แซงหน้าไทยไปตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ขณะที่กำลังซื้อก็ดีมาก มีการซื้อประกันชีวิตในช่วงแรกๆ การท่องเที่ยวก็บูม โดยก่อนมีโควิด นักท่องเที่ยวเข้าเวียดนาม 19 ล้านคน ขณะที่ไทย 40 ล้านคน ซึ่งภาพเศรษฐกิจเวียดนามตอนนี้คล้ายกับไทยในอดีตมาก เราจึงมั่นใจว่าตลาดหุ้นเวียดนามจะบูมได้หมือนตลาดไทยในยุคนั้น

ทั้งนี้ มีผู้ลงทุนสอบถามเข้ามามากว่า ลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามตอนนี้จะแพงไปหรือยัง เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณเจฟ ให้คำตอบว่า ปี 2020 ตลาดหุ้นเวียดนามปรับขึ้นมา 15% ปีนี้ก็ปรับขึ้นมาแล้ว 20% หลายคนอาจคิดว่าตลาดหุ้นเวียดนามแพงไปแล้วหรือยัง แต่จริงๆ แล้ว ตลาดหุ้นเวียดนามยังไม่แพงเลย โดยราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของปี 2022 อยู่ที่ 13 เท่า ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ซื้อขายกันที่ P/E 15 เท่า และถ้าดูเฉพาะหุ้นขนาดกลาง หรือ mid cap ของเวียดนาม ก็มี P/E เพียง 9 เท่า ดังนั้นโอกาสในการทำกำไรในเวียดนามยังดีมาก

นอกจากนี้ หากดูตัวเลข Earnings Per Share Growth Rate คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงกำไรต่อหุ้น (EPS) เวียดนามก็จะโตดีที่ที่สุดในปี 2022 โดยอยู่ที่ 25% ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่อยู่ที่ 14-15% เรียกว่าทั้งถูกและดีด้วย

ที่สำคัญเวียดนามกำลังจะได้รับการอัปเกรดเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ หรือ Emerging Market เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ที่ตอนนี้อยู่ใน Emerging Market แล้ว โดยปัจจุบันเวียดนามยังอยู่ใน กลุ่มตลาดหุ้นชายขอบ หรือ Frontier Market เพราะว่า ติดเรื่องเพดานเงินทุนที่ต่างชาติเข้าไปซื้อหุ้นได้ รวมทั้งการซื้อหุ้นในเวียดนามยังต้องเอาเงินประกันไปวางก่อน การเปิดบัญชีของนักลงทุนต่างชาติยังยุ่งยาก แต่อีก 2-3 ปี คงจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งถ้าตลาดเวียดนามได้รับการอัปเกรดเป็น Emerging market ก็จะมีโอกาสปรับขึ้นอีกได้ และเงินก็จะไหลเข้าไปลงทุนมากขึ้น

คุณเจฟ เล่าถึง กองทุน B-VIETNAM ที่จะเสนอขายวันที่ 14-20 ต.ค. นี้ว่า  กองทุนก็จะไปลงทุนทั้งใน ETF และหุ้นเวียดนาม ซึ่งสาเหตุที่เลือกลงทุนใน ETF เพราะมีสภาพคล่องสูง ถ้าเราอยากมี exposure ในเวียดนามเร็ว ก็เข้าไปลงทุนใน ETF ได้เลย บวกกับหุ้นบางตัวมีเพดานสำหรับให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปถือหุ้นได้เต็มแล้ว ก็สามารถลงทุนผ่าน ETF ได้ ทำให้ไม่ต้องไปเสียค่า premium สูง ส่วนการลงทุนในหุ้น เราจะลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ หรือ big cap และหุ้นขนาดกลาง หรือ mid cap แต่จะเน้นที่กลุ่ม mid cap เพราะมีความน่าสนใจ และปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่ยังลงทุนกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม big cap ดังนั้นก็ยังมีโอกาสอยู่มากใน mid cap

สำหรับ ความเสี่ยงของการลงทุนในเวียดนาม นั้น คุณเจฟ อธิบายว่า ความเสี่ยงแรกคือ ตลาดหุ้นเวียดนามมีนักลงทุนรายย่อยซื้อขาย 80% ดังนั้นความผันผวนก็จะสูง หากใครจะไปลงทุนในเวียดนามต้องยอมรับเรื่องนี้ได้ แต่ในฐานะที่กองทุนบัวหลวงเป็นนักลงทุนสถาบันที่มองการลงทุนระยะยาว ภาวะตลาดแบบนี้ ถ้านักลงทุนรายย่อยตกใจเทขาย เราก็อาจจะเข้าไปซื้อได้ หรือในเวลาที่ตลาดร้อนแรงจนเกินไป เราก็ขายออกมาได้

ความเสี่ยงข้อต่อมาคือเรื่องค่าเงิน เพราะทางการไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ได้ ให้ทำได้เฉพาะผู้ส่งออกและนำเข้าเท่านั้น แต่เรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะค่าเงินค่อนข้างนิ่ง 3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินดองเคลื่อนไหวอยู่ที่ 23,000 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเพราะการส่งออกดีมาก เกินดุลการค้ามาตลอด ทำให้ประเทศมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงข้อสุดท้ายที่หลายคนกังวล คือ เรื่องการเมือง ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่จริงๆ แล้วประเด็นนี้กลับไม่ใช่ความเสี่ยงเลย เพราะกลายเป็นว่า การเมืองของเวียดนามนิ่งกว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตย โดยเวียดนามจะมีการเลือกตั้งภายในทุกๆ 5 ปี

โดยรวมแล้วแม้เวียดนามจะมีความเสี่ยง แต่จากที่เรากล่าวไปทั้งหมด ท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านั้นก็มีโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจรออยู่ ซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนผ่าน B-VIETNAM ได้ และกองทุนบัวหลวงเชื่อว่าการลงทุนระยะยาวจะช่วยให้นักลงทุนค้นหาโอกาสเหล่านี้ที่รออยู่ได้

สำหรับใครที่สนใจจะลงทุนกับ B-VIETNAM ในช่วง IPO ระหว่างวันที่ 14-20 ต.ค. นี้ สามารถซื้อได้ ในราคาหน่วยลงทุนละ 10 บาท มูลค่าการซื้อขั้นต่ำ 500 บาท พิเศษในช่วง IPO ลดค่าธรรมเนียมการขายเหลือ 0.75% จากปกติ 1.50%

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดกองทุน B-VIETNAM หรือติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและคู่มือการลงทุนได้ที่กองทุนบัวหลวง โทร. 02-674-6488 กด 8 ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง บล.เอเซีย พลัส บมจ.หลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี บลน.ฟินโนมีนา บล.ไทยพาณิชย์ และ บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) นอกจากนี้ ท่านสามารถทำรายการซื้อในช่วง IPO ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking ได้ตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.00 น.

 

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต