B-SELECT โอกาสการลงทุนกับ Theme ธุรกิจที่กำลังเติบโตในระยะยาว

B-SELECT โอกาสการลงทุนกับ Theme ธุรกิจที่กำลังเติบโตในระยะยาว

สรุปความสัมภาษณ์

คุณมทินา วัชรวราทร CFA® 

Head of Investment Strategy กองทุนบัวหลวง

คำถามหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันเป็นประจำจากนักลงทุนก็คือ ช่วงนี้ลงทุนอะไรกันดี ด้วยเหตุนี้กองทุนบัวหลวงจึงจัดทำ B-Select ขึ้นมา เพื่ออัปเดตมุมมองของผู้จัดการกองทุนในทุกๆ ไตรมาส เพื่อดูว่าในช่วงนั้นมี Theme การลงทุนอะไรที่น่าสนใจบ้าง

     ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ กองทุนบัวหลวงคัดเลือกกองทุนโดดเด่นมาแนะนำทั้งหมด 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงยูเอสอัลฟ่า (B-USALPHA) กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นญี่ปุ่น (B-NIPPON) และกองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน (B-SIP)

B-USALPHA

เฟดจะเริ่มลดการทำ QE Tapering หรือลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ ในเดือน พ.ย. 2021 และเราคาดว่าประมาณเดือน มิ.ย. 2022 น่าจะดำเนินการสำเร็จ ซึ่งเรื่อง QE Tapering เป็นเรื่องที่ตลาด price in ไปแล้ว และต่อไปนโยบายการคลังจะเข้ามาทดแทนนโยบายการเงิน ก็สามารถทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ เพราะ นโยบายการคลังเป็นการลงทุน ทำให้เกิดการจ้างงาน เมื่อคนมีงานทำ ก็จะมีเงินไปจับจ่ายใช้สอยทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ ทำให้เราเชื่อว่า นโยบายการคลังจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น และจะเป็นส่วนช่วยให้ตลาดหุ้นเดินหน้าต่อไปได้

โดยรวมแล้ว party is not over งานเลี้ยงยังไม่เลิกรา แต่ด้วยความที่ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นมาสูงแล้ว ดังนั้นระหว่างทางก็อาจจะมีการขายทำกำไร หรือ take profit ได้บ้าง แต่เมื่อมองไปข้างหน้าแล้วก็เชื่อว่าตลาดยังเป็นขาขึ้นต่อ

ทั้งนี้ มาเจาะลึกเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวของประธานาธิบดี Joe Biden ว่ามีอะไรบ้าง จะพบแผนงานดังนี้

แผนที่  1   Bipartisan American Innovation and Competition Act โดย Bipartisan ก็คือเรื่องที่ทั้ง 2 พรรคเห็นพ้องตรงกัน ซึ่งในแผนแรกนี้เป็นงบประมาณที่ต้องการนำไปพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับจีน วงเงิน 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปลงทุนพัฒนางานวิจัย เรื่องเซมิคอนดักเตอร์ หรือเรื่องห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) เพราะที่ผ่านมา อเมริกาไม่ได้เน้นผลิต แต่เน้นธุรกิจบริการเมื่อเกิดปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงักหรือปัญหาห่วงโซ่การผลิต ทำให้เราเห็นว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ เผชิญปัญหาขาดแคลนสินค้า ของหมดชั้นวางของ แต่สิ่งที่ไม่หมดคือเงินสด ดังนั้นถ้าจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง อเมริกาต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ ก็ต้องแก้ปัญหาในเรื่องนี้

แผนที่ 2   Bipartisan Infrastructure Investment & Job Act เป็นอีกแผนหนึ่งที่ทั้ง 2 พรรค เห็นตรงกันว่า จะต้องมีการลงทุนเรื่อง โครงสร้างพื้นฐาน เป็นวงเงิน 550,000 ล้านดอลลาร์สหัฐ โดยวงเงินนี้จะนำไปลงทุนในการขนส่ง ถนน หนทาง ทางรถไฟ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสีเขียว ซึ่งก็เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่ สหรัฐฯ จะต้อง ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ เพราะที่ผ่านมามีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่ำมาก ไม่เคยเกิน 2% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่จีนมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า สหรัฐฯ ถึง 4 เท่า  us.jpg

แผนที่ 3   วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอด 10 ปี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในด้านต่างๆ เช่นให้ยกเว้นภาษีสำหรับคนมีลูก ให้การศึกษาฟรี หรือการเข้าถึงการรักษาสถานพยาบาล ซึ่งประกอบไปด้วย American Family Plan และ American Job Plan เน้นการแบ่งเบาภาระของประชาชน ขณะที่งบประมาณเรื่องพลังงานสะอาด และรถยนต์ EV ก็อยู่ในแผนนี้ด้วย โดยแผนนี้กำลังรอเข้าสภาคองเกรสพิจารณาอยู่ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าตัวเลขที่แท้จริงจะออกมาเท่าไหร่

เมื่อประมาณการตัวเลขงบประมาณ โดยนำทั้ง 3 แผนนี้มารวมกัน จะอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอด 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีขนาด 20% ของ GDP สหรัฐฯ ถือเป็นแผนที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยได้เห็นมาตั้งแต่ Great Depression เมื่อปี 1929 และด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงเช่นนี้ เราจึงมองว่า ตลาดหุ้นจะยังมีแรงขับเคลื่อนได้ต่อ ทั้งจากมาตรการการคลัง การลงทุนของภาคเอกชน

ในส่วนของประเด็นเงินเฟ้อ ก็มีหลายเสียงมีความกังวลว่า จะเกิดภาวะ Stagflation หรือไม่ โดย Stagflation มาจากคำว่า stagnation ก็คือ การที่เศรษฐกิจไม่โต เศรษฐกิจนิ่งๆ มารวมกับคำว่า inflation คือเงินเฟ้อ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในปี 1970 ก็คือ ราคาน้ำมันสูง เศรษฐกิจไม่โต การจ้างงานต่ำ การว่างงานสูง ซึ่งเรามองว่า ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต การจ้างงานค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนการว่างงานค่อยๆ ลดลง อย่างไรก็ตาม เรามองว่า เงินเฟ้อจะไม่ได้ลดลงเร็ว และเงินเฟ้ออาจจะอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง

B-INNOTECH

อีกคำถามที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ คือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีแแพงไปแล้วหรือยัง  แล้วโลกหลังโควิด หุ้นผู้ชนะจะยังเป็นหุ้นเทคฯ อยู่รึเปล่า ซึ่งในประเด็นนี้เราจะพาไปย้อนดูตั้งแต่ปี 1800 ว่า แต่ละอุตสาหกรรมที่มีอิทธิผลต่อมูลค่าตลาด มีอิทธิพลยาวนานแค่ไหน

tech.jpg

เริ่มตั้งแต่ปี 1800 ที่ทั้งตลาดแทบจะมีแต่หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินและอสังหาริมทรัพย์ เรียกว่าประมาณ 80-90% ของตลาด S&P เลยก็ว่าได้ ต่อมาช่วงปี 1850 ก็เป็นยุคของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กลุ่มขนส่ง ก่อสร้าง ซึ่งสามารถมีมูลค่าตลาดได้เกิน 50% ของตลาด เพราะฉะนั้นในเวลานี้ที่มีความกังวลกันว่าหุ้นกลุ่มเทคฯ ซึ่งมีมูลค่า 25-28% ของมูลค่า S&P ถือว่าเยอะเกินไปหรือไม่ เราก็มองว่า หากพิจารณาโดยย้อนกลับไปอดีต เปรียบเทียบกับอดีต ก็ไม่ถือว่าเยอะเกินไป

หุ้นเทคโนโลยีนั้นเพิ่งเริ่มจะครองตลาดในปี 1990 ซึ่งมาถึงตอนนี้ก็ผ่านมากว่า 30 ปีเท่านั้น ฉะนั้นเราจึงมองว่าวัฎจักรของหุ้นกลุ่มเทคฯ รอบนี้ยังไม่จบ ยังสามารถครองตลาดได้เป็นระยะเวลานาน

pe.jpg

เมื่อพิจารณาในแง่ของมูลค่าหุ้น หรือ valuation จะพบว่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในปี 2000 มีราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) เกิน 50 เท่า  แต่ว่าในเวลานี้ P/E อยู่ที่ประมาณ 30-40 เท่า ทั้งยังเป็นบริษัทที่มีกำไรแล้วด้วย  ด้วยเหตุนี้เราจึงมองว่า มูลค่าของบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่ในตลาด S&P เวลานี้ถือว่าอยู่ในมูลค่าที่เหมาะสม

B-NIPPON

เรามองว่าหุ้นยุโรปและหุ้นญี่ปุ่น น่าจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด เริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด

j1.jpg

คณะกรรมการของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ Bank of Japan ออกมาระบุว่า ถึงแม้ว่า ประเทศอื่นๆ จะเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงไป แต่ญี่ปุ่นจะยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป และจะยังคงใช้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ซึ่งคงจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะไปถึงระดับ 2% ได้ เพราะฉะนั้นเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นยินดีให้เกิดมากๆ

ทั้งนี้ เรามองว่าทั้งญี่ปุ่นและยุโรปน่าจะถอนสภาพคล่องได้หลังเฟด ส่วนกำไรของบริษัทของยุโรป และญี่ปุ่นในปีนี้ ก็ทำได้ดี และนักวิเคราะห์ก็ปรับประมาณการณ์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

j2.jpg

ด้วยเหตุนี้เราจึงมองว่า ญี่ปุ่นมีความน่าสนใจลงทุน โดยเฉพาะญี่ปุ่นเพิ่งจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ฟูมิโอ คิชิดะ เพราะฉะนั้นก็ยังมองว่าดัชนีญี่ปุ่นยังคง laggard (ปรับขึ้นตามหลังตลาดอื่นๆ) และน่าจะไปต่อได้

นอกจากนี้ญี่ปุ่นกำลังจะเปิดประเทศ ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ก็ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง ดีต่อการส่งออกของญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่นก็สามารถทำกำไรได้ดีในไตรมาสนี้ และ valuation ก็ไม่แพง ดังนั้นก็น่าจะทำให้การลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนได้ในปีหน้า

B-SIP

     เรื่องพลังงานสะอาด มีปัจจัยสนับสนุนมากมายที่ทำให้พลังงานสะอาดจะต้องเกิดขึ้น โดย IEA หรือ International Energy Agency เพิ่งออกมาเรียกร้องให้แต่ละประเทศเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานสะอาด เพราะยังไม่คงไม่เพียงพอที่ถึงเป้าหมายต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050

ขณะที่ในเดือน พ.ย. นี้ จะมีการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UN) ที่ชื่อว่า COP26  ซึ่งเป็นการประชุมที่ผู้นำทั่วโลกจะเข้าร่วมการประชุมเพื่อพูดคุย และทบทวนว่า แต่ละประเทศจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมไปถึงไหนกันแล้ว แผนปฏิบัติการคืออะไร และที่ผ่านมาได้ทำหรือไม่

เราคาดว่าในการประชุมครั้งนี้จะได้เห็นนโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมออกมา และเราน่าจะได้เห็นรัฐบาลเพิ่มสัดส่วนการลงทุนไปในพลังงานสะอาดมากขึ้น ส่วนบริษัทที่ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจจะต้องเจอกับค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นไปอีก และเราคาดว่าน่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมามากขึ้นเพื่อที่จะลดต้นทุนพลังงานสะอาด

เมื่อกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศมา ผู้นำแต่ละประเทศก็มีส่วนร่วมด้วย ส่วนเอกชนก็ขานรับแนวทาง เม็ดเงินลงทุนก็หลั่งไหลเข้ามาในพลังงานสะอาด เพราะฉะนั้น พลังงานสะอาด จะกลายเป็นเทรนด์การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดได้แน่นอน และนี่เพิ่งเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

นี่ก็คือเรื่องราวของทั้ง 4 กองทุนนี้ B-Select คัดเลือกมาให้ในไตรมาสที่ 4 นี้ และสุดท้ายนี้ขอฝากแง่คิดดีๆ สำหรับนักลงทุนว่า การลงทุนระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าเราจะเผชิญกับความผันผวนอะไรระหว่างทาง เราก็ควร stay invested ไว้ เพื่อให้เราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ อย่าตื่นตกใจกับสถานการณ์ระยะสั้นที่ผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป แต่ให้มองว่า ช่วงเวลาแบบนี้เป็นโอกาสที่ดีของการเข้าลงทุน