โรงไฟฟ้าถ่านหินญี่ปุ่นเดินหน้าผสมแอมโมเนียในการผลิต เพื่อเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอน

โรงไฟฟ้าถ่านหินญี่ปุ่นเดินหน้าผสมแอมโมเนียในการผลิต เพื่อเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอน

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ญี่ปุ่นเพิ่มความพยายามขยายอายุการใช้โรงงานไฟฟ้าถ่านหินออกไปผ่านโครงการเพิ่มแอมโมเนียคาร์บอนต่ำเข้าไปเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิง โดยมีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงในการจัดหาพลังงานและการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย

ประเทศอันดับ 5 ของโลกในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างญี่ปุ่น ตั้งใจใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงเพื่อไปถึงเป้าหมายปี 2050 ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ และเพื่อบรรเทาแรงกดดันจากอังกฤษกับประเทศอื่นๆ ในประเด็นการเลิกใช้ถ่านหิน ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของโลก COP26 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นแล้วในเมืองกลาสโลว์ โดยญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แต่ญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานถ่านหินและก๊าซมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2011 ที่เกิดภัยพิบัติกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์เผชิญวิกฤติ

ญี่ปุ่นมีความหวังอย่างสูงว่าจะบุกเบิกเส้นทางใหม่เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงงานถ่านหินได้ ซึ่งหากทำได้ก็จะสามารถนำไปปรับใช้ได้ในประเทศอื่นๆ ด้วย

เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา JERA ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้แอมโมเนียส่วนน้อยในการผสมเข้าไปในสถานีไฟฟ้า Hekinan 4.1 กิกะวัตต์ ในเมืองไอจิ ซึ่งเมืองนี้อยู่ตอนกลางของญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของบริษัท Toyota Motor Corp

แอมโมเนียส่วนใหญ่จะทำจากไฮโดรเจนที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติและไนโตรเจนจากอากาศ ซึ่งจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เวลาเผาไหม้ แต่ในกระบวนการผลิตก็อาจสร้างมลภาวะได้ถ้าใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล

โครงการของโรงไฟฟ้า Hekinan มีเป้าหมายจะใช้แอมโมเนีย 20% ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 กิกะวัตต์ เป็นเวลา 2 เดือน โดยใช้แอมโมเนีย 30,000-40,000 ตัน ภายใน มี.ค. 2025 หากประสบความสำเร็จก็จะเป็นโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รายใหญที่สุดในโลกรายแรกที่ทดลองใช้ และญี่ปุ่นก็หวังว่าการใช้แอมโมเนียจะทดแทนถ่านหินได้ โดยจะพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้แอมโมเนียเต็มรูปแบบภายในปี 2050