Fund Comment ตุลาคม 2564 : ภาพรวมตลาดหุ้น

Fund Comment ตุลาคม 2564 : ภาพรวมตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ดัชนี MSCI World Index ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 5.0% หลังปรับตัวลดลงในเดือนก่อนหน้า ดัชนีกลับมายืนบริเวณจุดสูงสุดได้อีกครั้ง นำโดยตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯและยุโรปที่สามารถปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้ โดยแม้ว่าประเด็นความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อที่สูงจะยังมีอยู่ แต่นักลงทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในระยะข้างหน้า รวมถึงหลายฝ่ายยังคงมองว่าเศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation ซึ่งสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

ขณะที่ปัจจัยที่ตลาดจับตามองคือการประชุมนโยบายการเงินของ Fed นั้น Fed ได้ประกาศทำ QE Taper ตามที่ตลาดคาด และส่งสัญญาณที่ Dovish ต่อตลาด ทั้งประเด็นเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงว่ามาจากความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานชั่วคราว และยังคงมีความยืดหยุ่นต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจ สถานการณ์ COVID-19 และการจ้างงาน ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวขึ้นมาที่ประมาณ 1.6% ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้จำกัด กอปรกับนักลงทุนรอติดตามผลประกอบการไตรมาส 3 ที่กำลังทยอยประกาศออกมา

ด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ IMF ได้มีการปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2021F ลดเล็กน้อยเป็น 5.9% จาก 6.0% ในเดือนกรกฎาคม โดยยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2022F ไว้ที่ 4.9% และมองว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวสูงสุดในไตรมาส 4 ก่อนที่จะชะลอลงกลับเข้าสู่ระดับก่อน COVID-19 ในกลางปี 2022 อย่างไรก็ดี IMF มองว่ามีความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจทรงตัวอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมิน หากต้นทุนราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ปัญหาขาดแคลนสินค้ายืดเยื้อเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้คาดว่าเงินเฟ้อจะทำไปจุดสูงสุดในกลางปี 2022 ด้านตัวเลขเศรษฐกิจเดือนตุลาคม Composite PMI ของสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นเป็น 57.3 จุด สูงสุดในรอบ 3 เดือน หนุนโดยภาคการบริการเป็นหลัก

ขณะที่ภาคการผลิตปรับลดลงจากยอดคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว ท่ามกลาง ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและด้านโลจิสติกส์ รวมถึงแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยหมดไป ขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ยังคงต้องใช้เวลากว่าจะได้รับการอนุมัติจากสภา ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณชะลอตัวลงในช่วงนี้ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจยูโรโซน ดัชนี Composite PMI ปรับตัวลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยเผชิญปัญหาจากแคลนพลังงานเข้ามาเพิ่มเติม จากปัญหา Supply disruptions ที่มีอยู่ก่อนหน้า ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากหลายประเทศในวงกว้างจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป

ด้านตลาดหุ้นไทยปรับตัวในกรอบแคบ ปรับเพิ่มขึ้น 1.1% โดยตลาดยังคงติดตามถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศและและภาคการท่องเที่ยว หลังจากผ่อนคลายมาตรการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3 ที่กำลังทยอยประกาศออกมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับขึ้นได้ดีในเดือนนี้ ยังคงเป็นกลุ่มธนาคาร โดยได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับปัจจัยบวกจากการผ่อนปรนมาตรการ LTV จากแบงก์ชาติ เป็นต้น ในระยะข้างหน้า หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้ดีตามลำดับ ทั้งจากภายในและจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็จะช่วยหนุนแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในวงกว้างในปีหน้าได้

กลยุทธ์การลงทุน ยังคงให้น้ำหนักกับธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ให้ความระมัดระวังมากขึ้นกับธุรกิจที่ผลประกอบการมีโอกาสถูกกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น