สำรวจ ASEAN และเทรนด์การลงทุน

สำรวจ ASEAN และเทรนด์การลงทุน

โดย…จันทร์เพ็ญ กิตติเวทย์วิทยา

กองทุนบัวหลวง

แม้ว่าประเทศไทยจะเลื่อนการเปิดพื้นที่ Sandbox ในพื้นที่ 5 จังหวัด จากเดิม 1 ตุลาคม เป็น 1 พฤศจิกายน 2564 ก็ตาม แต่ไทยเองก็เริ่มผ่อนคลายการ Lockdown ในหลายๆ กิจการมากขึ้น ทั้งร้านเสริมสวย สปา โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร รวมทั้งเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชากร โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เสี่ยงอย่างกรุงเทพมหานครที่จำนวนคนฉีดวัคซีนครบโดสในปัจจุบันมีแล้ว 44% ทั้งนี้ก็เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาและเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีแผนเปิดเมืองเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเช่นกัน แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนให้ครบโดสของประชากรทั้งประเทศยังต่ำกว่า 30% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ยกเว้นสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเกินกว่า 70% และ 60% ตามลำดับ

ในแง่ของเทรนด์การลงทุนก็มีหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจ อย่างแรก คือ เรื่องของ Digitalization เพราะแม้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วก็ตาม แต่การเกิดขึ้นของ COVID-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดในกิจกรรมต่างๆ และกลับกลายเป็นสิ่งกระตุ้นหรือเร่งให้อัตราการเกิด Digitalization ของธุรกิจต่างๆ เร็วมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2020 ที่ผ่านมานั้น ภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวน  New Internet Users  เพิ่มขึ้นกว่า 40 ล้านคน ส่งผลให้ Traditional Business Models แบบเดิมๆ ต้องปรับตัวอย่างมาก

อย่างเช่น การที่ Grab จับมือกับ Singtel เพื่อทำ Digital Banking ในสิงคโปร์ เพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าของทั้ง 2 ฝ่าย หรือในไทยเอง ก็เริ่มเห็นการจับมือกันทำธุรกิจเพิ่มขึ้น อย่างล่าสุด คือ กรณีของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ จัดตั้งบริษัทแม่ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดจากธุรกิจธนาคาร สู่ Tech Company และจับมือกับพันธมิตร อย่าง AIS เพื่อให้บริการ Digital Lending และร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน

อีกประเด็น คือ เรื่องของการ M&A เพราะในยามที่เกิดวิกฤติย่อมมีโอกาสให้กับอีกหลายๆ คน และแม้ว่าไม่ได้เกิดจากผลกระทบของ COVID โดยตรง แต่ด้วยภาพการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้การ M&A กิจการต่างๆ มีมากขึ้น อาทิ การที่ Citigroup สถาบันการเงินจากสหรัฐอเมริกาตัดสินใจที่จะขายธุรกิจ Consumer Banking ในทวีปเอเชีย 12 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนการหาผู้ซื้อธุรกิจเหล่านี้ในแต่ละประเทศ ก็ถือว่าเป็นโอกาสให้กับผู้เล่นในตลาดที่มีความพร้อมทางด้านการเงินในการเข้าซื้อกิจการต่อจาก Citigroup หรือการที่ Tesco บริษัทค้าปลีกมหาชนรายใหญ่ของอังกฤษ ประสบปัญหาทางธุรกิจและตัดสินใจขายกิจการในไทยออกไปให้แก่เครือเจริญโภคภัณฑ์

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเทศอย่างเวียดนามที่คาดว่าจะเห็นการ M&A มากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจ Consumer Goods, Industrials และ Property เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตที่สูง โดยมีประชากรจำนวนมากเกือบ 100 ล้านคน และมีแนวโน้มขยายตัวเข้าสู่สังคมชั้นกลางอย่างต่อเนื่องทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลเวียดนามเองก็เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งการผ่อนคลายกฏเกณฑ์ การวางแผนแปรรูป SOEs จึงไม่แปลกที่มีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากที่ต้องการเข้าไปลงทุนตั้งรากฐานและขยายกิจการในเวียดนามโดยเฉพาะจากจีน ฮ่องกง สิงคโปร์

สุดท้ายคงหนีไม่พ้นเรื่องของ Green Energy ในภูมิภาค ASEAN ที่แต่ละประเทศต่างมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น อินโดนีเซียตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 23% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศภายในปี 2025 ขณะที่ไทยเองสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนกำหนดไว้ 38% ภายในปี 2037 แต่คาดว่าแผนพลังงานแห่งชาติฉบับใหม่อาจมีการปรับเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนและยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ เช่นเดียวกับเวียดนามที่แต่เดิมมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก แต่ภายใต้แผนพลังงานฉบับใหม่ของเวียดนามก็คาดว่าจะมีการลดสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินลงและเพิ่มพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อมารองรับ ไม่ว่าจะเป็น Transmission Line การพัฒนาระบบ Smart Grid และ Energy Storage System

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอนาคตจะมีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นก็ตาม แต่ด้วยความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ยังสูงในภูมิภาคนี้ รวมถึงเพื่อรักษาความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าในแต่ละประเทศ โรงไฟฟ้าจากก๊าซและถ่านหินก็ยังมีความสำคัญอยู่ดี ทำให้เรายังคงเห็นแผนการลงทุนในการนำเข้า LNG มาใช้ในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่สะอาดเพื่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนออกมาให้น้อยที่สุด (Clean Coal Technology) เหมือนกับที่จีนและญี่ปุ่นใช้อยู่ในปัจจุบัน