พัฒนาการของ FinTech ใน ASEAN

พัฒนาการของ FinTech ใน ASEAN

โดย…ณัฐคม ธีรโรจนวงศ์

กองทุนบัวหลวง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวงการการเงินและการธนาคารต่างๆ มากมาย และคำว่า FinTech ได้ถูกนำมาพูดถึงอย่างแพร่หลาย จนเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการชำระเงินออนไลน์ของกลุ่มธนาคาร การให้สินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคล หรือ P2P Lending รวมไปถึงการพัฒนาการจ่ายเงินรูปแบบใหม่อย่าง Buy now Pay later ในกลุ่ม E-Commerce ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้เข้าถึงการบริการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้ารายใหม่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับพัฒนาการของ FinTech ในภูมิภาคอาเซียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนของกลุ่มสตาร์ทอัพเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 52% ต่อปี โดยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพสูงถึง 904 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีบริษัทเกิดใหม่กว่า 46 บริษัท ทำให้ในภูมิภาคอาเซียนมีบริษัท FinTech เกิดใหม่รวมทั้งหมด 2,744 บริษัท ซึ่งถ้าแบ่งประเภทธุรกิจออกมา E-Payment ยังคงมีสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนสูงกว่า 52% ตามมาด้วย Alternative Lending (P2P Lending) 18% และ InvestmentTech 9%

จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจ E-Payment หรือ การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ในรูปแบบของ E-Wallet, Credit Card หรือ Mobile Banking ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการถือเงินสดอีกด้วย จากข้อมูลของ Worldpay ในปี 2020 ระบุว่า จำนวนธุรกรรมผ่าน Point of Sale (POS) ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ใช้เงินสดลดลง 6 ถึง 27% นำโดยเวียดนามและอินโดนีเซีย ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคมีปริมาณการใช้เงินสดอยู่ในระดับ 50 ถึง 60% ยกเว้นสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีปริมาณการใช้เงินสดต่ำกว่า 40% จากความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งถ้าเทียบกับสัดส่วนการใช้เงินสดทั่วโลกที่ 20.5% แล้ว ธุรกิจ E-Payment ในอาเซียนยังคงมีช่องว่างให้สามารถขยายตัวต่อได้

สิงคโปร์ เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งของโลก และยังมีสัดส่วนของบริษัท FinTech เกิดใหม่สูงที่สุดในภูมิภาคกว่า 44% จากความเป็นผู้นำทางการเงินในภูมิภาค ทำให้รูปแบบการเกิดใหม่ของกลุ่ม FinTech มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น และประเภทของธุรกิจไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในรูปแบบระบบ Payment เพียงอย่างเดียวเหมือนประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีจุดดึงดูดที่ทำให้กลุ่มสตาร์ทอัพใหม่ๆ ให้ความสนใจ อย่างเช่น การสนับสนุนของทางภาครัฐ ทั้งด้านนโยบาย และด้านการเงิน อีกทั้งยังมีการออก Regulatory Sandbox เพื่อเป็นสนามทดสอบให้กับนวัตกรรมใหม่ๆ จึงทำให้เกิดบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากมาย จนทำให้บางบริษัทได้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับ Unicorn หรือบริษัทที่มีมูลค่ากิจการมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างเช่น บริษัท Nium ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มผู้ให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระหว่างประเทศ ในรูปแบบ Embedded Financial Services หรือเป็นการฝังระบบการบริการธนาคารเข้าไปกับธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเงินอย่างธนาคาร ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา ยังรวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ อย่าง E-Commerce, Ride-Hailing หรือ Travel Agency ต่างๆ ด้วย ซึ่งจะสามารถทำให้ลูกค้าเหล่านี้เชื่อมต่อและจัดการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้อย่างง่าย อีกทั้ง Nium ยังได้เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง VISA ในการออกและบริหารจัดการบัตรเครดิต ทั้งด้านการชำระ เรียกเก็บเงิน และการจัดการ Loyalty Program ของบัตรต่างๆ ในทวีปยุโรปและออสเตรเลียอีกด้วย

อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการเติบโตของ FinTech ได้อย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนบริษัท FinTech คิดเป็น 20% และอยู่ในอันดับ 2 ของภูมิภาค จากการเปิดเผยข้อมูลของธนาคารอินโดนีเซียพบว่า ในปี 2020 มีปริมาณการใช้ E-Money สูงถึง 13.95 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตกว่า 39% ส่งผลให้สัดส่วนการใช้เงินสดลดลงเหลือ 53% (ปี 2019 เท่ากับ 77%) ของจำนวนธุรกรรมผ่าน POS ทั้งหมด ซึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงสถาณการณ์โควิด และการแข่งขันของบริษัท E-Wallet ที่สูงขึ้น โดยมีผู้เล่นหลักอย่าง ShopeePay, GoPay และ Ovo ที่ครอง Market Share มากกว่า 80%

ในส่วนประเทศไทยเรานั้น การเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัพ FinTech ยังคงเป็น Early Stage อยู่ จากจำนวนสตาร์ทอัพที่มีสัดส่วนเพียง 8% ของภูมิภาค และเม็ดเงินการลงทุนส่วนใหญ่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังคงกระจุกตัวกับธุรกิจ Payment กว่า 70% ตามมาด้วย InsurTech 19% และ InvestmentTech 10% โดยมีบริษัทที่โดดเด่นอย่าง 2C2P ที่ให้บริการ Payment Gateway หรือการชำระเงินออนไลน์ Finnomena ให้บริการลงทุนในกองทุนต่างๆ Bitkub เป็นแพลตฟอร์มในการซื้อขายเหรียญดิจิทัล และ Rabbit Internet ที่มีบริการหลากหลาย ทั้งบริการทางการเงินอย่าง Rabbit Linepay บริการด้านการประกันภัยอย่าง Rabbit Finance อีกทั้งยังให้บริการบัตร Rabbit ของรถไฟฟ้าบีทีเอสอีกด้วย

สำหรับพัฒนาการของ FinTech ในประเทศไทยที่เห็นได้เด่นชัดนั้น คือ โครงการพัฒนา National E-Payment ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทางภาครัฐและภาคเอกชน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พร้อมเพย์ ซึ่งทำให้ทางภาครัฐสามารถจ่ายสวัสดิการต่างๆ และเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการปรับโฉมระบบ Digital Payment ในไทยให้มีความทันสมัย และสอดรับกับ Digital Lifestyle ที่เพิ่มมากขึ้น และต่อมาได้มีการพัฒนา Thai QR Code ขึ้น ทำให้การชำระเงินผ่าน QR Code ของกลุ่มธนาคาร และ E-Wallet ต่างๆ มีมาตรฐานเดียวกัน และยังสามารถนำออกไปใช้ชำระเงินใน 6 ประเทศในอาเซียนได้อีกด้วย

ในขณะเดียวกัน เรายังได้เห็นการปรับตัวของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้ทันสมัย อีกทั้งยังมีการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินออนไลน์ออกไป ทำให้เกิดแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้รวดเร็วมากขึ้น จากการเปิดเผยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณธุรกรรมในการชำระเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้งมีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว โดยในปี 2020 มีปริมาณธุรกรรมทั้งสิ้น 9,167 ล้านรายการ มีมูลค่า 39.4 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าเฉลี่ย 4,301 บาทต่อธุรกรรม นอกจากนี้ การให้บริการ E-Money หรือ E-Wallet ก็มีการเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 108 ล้านบัญชี แซงหน้าระบบออนไลน์แบงก์กิ้งที่มีผู้ใช้งาน 104 ล้านบัญชีไปแล้ว

จากการปรับตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาค แต่ทิศทางการเติบโตในแต่ละประเทศยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ จากข้อมูลของ Worldpay และ World Bank ระบุว่า ในปี 2020 ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีอัตราการใช้เงินสดที่สูงถึง 50-60% ของธุรกรรม POS ทั้งหมด อีกทั้งอัตราการเข้าถึงการบริการของธนาคารยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% ทำให้การพัฒนาของ FinTech ในประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และกระจุกตัวกับระบบการใช้จ่ายเงินเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตประเทศเหล่านี้จะมีแนวโน้มการเติบโตในแนวกว้าง หรือรูปแบบการให้บริการที่มีความหลากหลายมากขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ มีอัตราการใช้เงินสดในระดับต่ำเพียง 25% และมีสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงการบริการของธนาคารสูงถึง 98% ประกอบกับการสนับสนุนด้านนโยบายจากทางภาครัฐ ทำให้การพัฒนาและการเข้าถึง FinTech เป็นไปได้อย่างรวดเร็วจนขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาค และในอนาคตการเติบโตของ FinTech ในสิงคโปร์จะเกิดขึ้นในเชิงลึก หรือการให้บริการที่มีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการเงินในภูมิภาคอาเซียนต่อไป