รักษ์โลกด้วยพลาสติกชีวภาพ

รักษ์โลกด้วยพลาสติกชีวภาพ

โดย…รุ่งนภา  เสถียรนุกูล

กองทุนบัวหลวง

ขยะพลาสติก ถือได้ว่า เป็นปัญหาระดับโลก   ในหลายๆ ประเทศต่างพยายามในการลดและเลิกการใช้พลาสติกลง  อย่างในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน  ได้มีมาตรการในการควบคุมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก (Plastic Ban Policy) โดยออกมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น  การห้ามแจกถุงพลาสติกในแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายไม่ได้ในธุรกิจจัดส่งอาหารออนไลน์ในเมืองใหญ่ อย่างกรุงปักกิ่ง ก่อนที่จะขยายผลครอบคลุมเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่ออกกฎห้ามผลิตและใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ได้แก่ ช้อน ส้อม มีด ตะเกียบ จาน หลอด ก้านทำความสะอาดหู แท่งคนเครื่องดื่ม ก้านลูกโป่ง กล่องโฟม และผลิตภัณฑ์ที่ผสมสาร OXO (พลาสติกไม่ย่อยสลายทางชีวภาพ) ซึ่งผลจากการที่รัฐออกกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้นโยบายและลดการใช้พลาสติกลงอย่างมาก

สำหรับประเทศไทยนั้น  ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในช่วงก่อนเกิด Covid-19  มีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี  แต่หลังจากที่มี  Covid-19  ปริมาณขยะพลาสติกไม่ได้ลดน้อยลงไป ทั้งยังกลับมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น  โดยในปี 2562 คนไทยสร้างขยะพลาสติกเฉลี่ย 96 กรัม/คน/วัน  แต่ในปี 2563 การสร้างขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 40%  เฉลี่ยมาอยู่ 134 กรัม/คน/วัน  โดยหลักๆ ขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นมานั้น  มาจากการที่คนหันมาใช้บริการสั่งอาหาร Delivery  เพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งในการส่งอาหารในแต่ละครั้ง  จะทำให้เกิดขยะพลาสติกไม่น้อยกว่า 5 ชิ้น  ได้แก่  ถุงพลาสติก  กล่องพลาสติกใส่อาหาร  ซองพลาสติกที่แยกชนิดอาหาร  แก้วพลาสติกใส่เครื่องดื่ม  ช้อนและส้อมพลาสติกพร้อมซองใส่ หรือซองใส่เครื่องปรุงรส

โดยรายงานจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ระบุว่า ปริมาณขยะพลาสติกในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562   ถึง  62%  ทั้งยังเป็นขยะพลาสติกที่นำไป Recycle ได้น้อย เพราะส่วนมากเป็นขยะถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อนใส่อาหาร กล่องโฟมใส่อาหาร ขวดและแก้วน้ำพลาสติก  โดยสถาบันยังคาดการณ์อีกว่า ปริมาณขยะพลาสติกจากธุรกิจจัดส่งอาหารออนไลน์ภายใน 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2568) จะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2,325–6,395 พันล้านชิ้นต่อปี

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงก้าวขึ้นมาได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์เครื่องใช้ในการบริโภคอาหาร ก็เป็นหนึ่งแนวคิดที่ได้รับความนิยมมาก  หลายบริษัทให้ความสำคัญกับการลดใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียว (Single-Use Plastics) และใช้วัสดุจากชีวภาพเข้ามาทดแทน  ส่งผลให้พลาสติก PLA ได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น  ถึงแม้ว่าจะยังมีปัญหาเรื่องราคาต้นทุนต่อหน่วยที่สูงกว่าพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง  ซึ่งพลาสติก PLA มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความใส  ถึงแม้ว่าจะไม่ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้เองเมื่อนำไปฝังกลบในดิน

พลาสติก PLA หรือ Polylactic Acid เป็นพลาสติกชีวภาพสามารถย่อยสลายได้ วัตถุดิบที่ใช้การผลิตจะมาจากธรรมชาติ ได้แก่ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง  ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ออกมาเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA และนำไปใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตพลาสติก PLA  ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก PLA ที่มีขายส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ยังคงเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก คือ สหรัฐอเมริกา ที่ผลิตและจำหน่ายแบบบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปและเม็ดพลาสติก ซึ่งความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพนี้จะมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องของบรรจุภัณฑ์กินได้  ที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นนวัตกรรมใหม่และได้รับความนิยม เนื่องจากสามารถย่อยสลายได้เร็วและช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ยกตัวอย่าง เช่น  บริษัท NOTPLA ในประเทศอังกฤษ ออกผลิตภัณฑ์  ชื่อ  Ooho  ที่เป็นแคปซูลบรรจุของเหลวไว้ในฟิล์มกันน้ำที่ทำจากสาหร่ายทะเล ซึ่งบรรจุภัณฑ์นี้ สามารถใช้บรรจุเครื่องดื่มและซอส โดยสามารถบริโภคเครื่องดื่มพร้อมทั้งบรรจุภัณฑ์ได้ หรือสามารถที่จะย่อยสลายได้ภายใน 4-6 สัปดาห์ หรือ Mogu Cup ซึ่งเป็นถ้วยใส่อาหาร พัฒนาโดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ในญี่ปุ่นอย่าง Asahi Breweries Ltd. และบริษัท Marushige ซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตภาชนะและตะเกียบกินได้

วัตถุดิบหลักของถ้วยที่พัฒนาในครั้งนี้ มาจากแป้งมันฝรั่งที่ปลูกในญี่ปุ่นและอบในอุณหภูมิสูงเพื่อให้ถ้วยอยู่ทรงแข็งแรง  ส่วนในประเทศไทย ก็คิดค้นบรรจุภัณฑ์อาหารกินได้แล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ฟิล์มห่ออาหารจากแครอท หลอดกินได้จากพืชตามธรรมชาติ กระดาษห่อลูกอมจากข้าว เป็นต้น ซึ่งบางผลิตภัณฑ์ได้ผลิตออกมาจำหน่ายแล้วในท้องตลาด แต่บางผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัยและพัฒนาก่อนผลิตขายในเชิงพาณิชย์

กระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคมีความตระหนักต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  ทำให้หลายบริษัทต่างพัฒนา ค้นคว้า ริเริ่มสร้างสรรค์ หาวิธีพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นพลาสติกชีวภาพใหม่ๆ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบที่ใช้แล้วทิ้ง ในระดับราคาที่รับได้ในธุรกิจทั่วไป  กระแสความนิยมนี้ ก่อให้เกิดเป็น New S Curve ใหม่ให้กับหลายบริษัท เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น  ซึ่งทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาต่อเนื่อง