เจาะลึกแผนพัฒนา EEC ผลงานชิ้นโบว์แดงรัฐบาล

เจาะลึกแผนพัฒนา EEC ผลงานชิ้นโบว์แดงรัฐบาล

By…ณัฐพัช กิตติปวณิชย์

Macro Analyst, กองทุนบัวหลวง

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทย หรือ Eastern Economic Corridor: EEC ถูกพาดขึ้นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หลังมีความคืบหน้าออกมาให้เห็นไม่ขาดสาย ได้แก่

1)   สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติอนุมัติพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.   EEC) วาระสุดท้าย เพื่อวางกรอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่ใน EEC

2)   การเตรียมตัวตอกเสาเข็มโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เชื่อมโยงจุดยุทธศาสตร์ประเทศ

3)   กระแสตอบรับจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งผลให้คำขอรับการส่งเสริมที่เพิ่มขึ้นถึง       +49% เป็น 2.97 แสนล้านบาทในปี 2017 ปัจจัยเหล่านี้ค่อยๆเข้ามาเป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จ      โครงการ EEC ซึ่งรัฐบาลกำลังพยายามผลักดันอย่างสุดตัว

เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมหลายประเภทของไทยมีศักยภาพพัฒนาสูง ภายใต้กฎหมายการลงทุนที่เอื้ออำนวย ผนวกกับพื้นฐาน Supply Chain ของผู้ผลิตไทยที่แข็งแกร่งรองรับการลงทุนต่อยอดได้ เป็นเหตุให้เราเริ่มเห็นแผนขยายการลงทุนเพิ่มของผู้ประกอบการหลายรายอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นโยบายรัฐบาลประตูเปิดทางการลงทุนเอกชน

มองย้อนไปเมื่อช่วงกลางปี 2017 คณะกรรมการนโยบายพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เตรียมบังคับใช้ พ.ร.บ. EEC เพื่อกำหนดทิศทางนโยบาย ขอบเขตพื้นที่ และประเภทอุตสาหกรรมที่จะได้รับการส่งเสริมภายใต้โครงการ EEC โดยหลังจากผ่านการพิจารณาจาก สนช. อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ. 2018 สนช. ก็มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ. EEC สองวาระสุดท้ายแล้ว และได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ทำให้เกิดเป็นความชัดเจนเชิงนโยบายและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปขยายการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับ EEC มีรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้

1)   ขีดเส้นขอบเขตการส่งเสริม ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ รัฐบาลกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนอย่างจำเพาะเจาะจงเรียกว่า “เขตเล็ก” กล่าวคือ อุตสาหกรรมเพิ่มขีดความของสามารถประเทศ เช่น การวิจัยและพัฒนา ดิจิทัล และธุรกิจอากาศยาน ถูกบรรจุเข้าไปอยู่บนพื้นที่ที่จัดสรรไว้ภายใน “เขตส่งเสริมกิจการพิเศษ” (EECi EECd และ Aerotropolis) ขณะที่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ ปิโตรเคมี และเกษตรแปรรูป ที่ต้องการขอรับสิทธิประโยชน์ ต้องมีฐานการผลิตภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมจากรัฐบาลในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งขณะนี้มีนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าข่าย (กำลังยื่นขอและได้อนุมัติแล้ว) รวมกันอยู่ทั้งหมด 21 แห่ง ทั้งนี้ ท้ายที่สุดรัฐบาลไม่เพียงต้องการยกระดับการลงทุนขึ้นเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายสร้างระบบสาธารณูปโภค พัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ และระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการผุดขึ้นของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต่อไป

2)   ขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพิ่มเงื่อนไขการฝึกทักษะแรงงาน เมื่อต้นปี 2018 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มเติม มีการพิจารณาเพิ่มระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดออกไป 2 ปี รวมแล้วเกิน 8 ปีได้ สำหรับอุตสาหกรรมเพิ่มขีดความสามารถภายในเขตส่งเสริมกิจการพิเศษใน EEC มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2018 แต่จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2019 เพิ่มจากการลดหย่อน 50% อีก 5 ปีบนกฎฉบับเดิมปี 2017 ผนวกกับสิทธิทางภาษีพื้นฐานอื่นๆของ BOI ที่มีเพดานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปี ทั้งนี้ มีเงื่อนไขพ่วงมาด้วยว่า ผู้ลงทุนจำต้องมีโครงการฝึกอบรมทักษะสำหรับนักศึกษาตามสัดส่วนของสิทธิทางภาษีที่ได้รับ ให้สอดคล้องไปกับการจัดตั้งโรงเรียนและศูนย์วิจัยจากภาครัฐ เพื่อผลิตแรงงานที่มีความรู้และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในอนาคตอีกด้วย

3)   มาตรการส่งเสริมอื่นๆ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ สิทธิประโยชน์อื่นๆประกอบด้วย

  • วีซ่าทำงาน 5 ปี พร้อมกับลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลลงเหลือ 17% สำหรับผู้บริหาร ผู้ เชี่ยวชาญ และนักวิจัยต่างชาติ (ต่ำที่สุดในอาเซียน)
  •  การถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการส่งเสริม หรือเช่าที่ดินราชพัสดุ 50 ปี และ    สามารถรับการพิจารณาต่ออายุได้อีก 49 ปี
  • การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรขาเข้าเครื่องมือเครื่องจักร
  • การผ่อนคลายข้อบังคับธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น โดยสิทธิ์การเช่าที่ดินเป็นหัวข้อที่มี             กระแสต่อต้านออกมาบ้าง เพราะถูกมองว่าเป็นการให้ต่างชาติเข้ามาถือครองพื้นที่ในระยะ      ยาว แต่จะสังเกตได้ว่าสิทธิดังกล่าวปรากฎอยู่บนรายละเอียด พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์               เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมปี 1999 อยู่ก่อนแล้ว และได้ถูกเอามานำเสนอให้ชัดเจน          อีกครั้งเท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสิทธิใหม่เพิ่มขึ้นมาด้วย เช่นการอนุญาตให้ผู้ประกอบ          การสามารถใช้สกุลเงินต่างชาติในการชำระค่าสินค้าหรือบริการภายในเขต EEC ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่รัฐบาลกำลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่

ดังนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มาตรการส่งเสริมเหล่านี้จะมีบทบาทช่วยดึงดูดผู้ลงทุนให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไม่ให้ล้าหลัง อย่างไรก็ดี การผลักดันเชิงนโยบายนั้นเป็นเพียงมุมหนึ่งบนแผนของรัฐบาลเท่านั้น เพราะความพร้อมของสิ่งปลูกสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยที่ผู้ลงทุนให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากจะเพิ่มขีดความสามารถและลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวสืบเนื่องไป

ลงเข็มโครงการก่อสร้างพื้นฐาน… ประเทศไม่ตกขบวน

การพัฒนาสิ่งปลูกสร้างพื้นฐานเป็นชิ้นส่วนสำคัญของ EEC เพราะจะช่วยแก้ปัญหาคอขวด เชื่อมโยงโครงข่ายให้สมบูรณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รัฐบาลจึงได้พิจารณาอนุญาตให้บังคับใช้นโยบาย EEC Track ที่ช่วยร่นระยะการดำเนินการอนุมัติก่อนเริ่มก่อสร้างลงถึงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 10 เดือน เป็นปัจจัยทำให้ 5 โครงการหัวใจหลักของ  EEC ได้แก่

1)   รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท จะช่วยลบรอยต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯและพื้นที่ยุทธศาสตร์ใน EEC ผ่านระบบรางมาตรฐาน (Standard Gauge) 1.435 เมตร ระยะทาง 260 กิโลเมตร ลดเวลาการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯสู่สนามบินอู่ตะเภาลงเหลือต่ำกว่า 1 ชั่วโมง จากรถยนต์ที่ต้องใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมง โดยโครงการเพิ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม. เมื่อเดือน มี.ค. 2018 มีแผนจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ที่ทางเอกชนจะต้องลงทุนงานโยธา ระบบเดินรถ การบำรุงรักษาโครงการ และรับความเสี่ยงค่าโดยสารเองภายใต้ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี แต่ผู้ชนะการประมูลก็จะได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ Mixed-Use บริเวณสถานีมักกะสัน 140 ไร่ และศรีราชา 30 ไร่ พ่วงไปด้วย ทั้งนี้ เอกชนจากทั้งในและต่างประเทศออกมาแสดงความสนใจกันร่วมประมูลกันแล้วหลายบริษัท น่าจะทราบผลและเซ็นสัญญาเพื่อเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ ก่อนที่จะเปิดให้บริการในปี 2023

2)   ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ในจังหวัดระยอง จะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารทางอากาศของไทยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดในสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเลยขีดความสามารถรองรับแล้ว โดยสำหรับเฟสแรก กำลังมีการเตรียมพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน  (MRO) พร้อมๆไปกับการก่อสร้าง Runway ที่ 2 ก่อนที่จะสามารถก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ในกรอบวงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มความจุของท่าอากาศยานขึ้นเป็น 15 ล้านคนต่อปี (จากปัจจุบัน 3 ล้านคนต่อปี) คาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2023

3)   ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) กิจกรรม MRO กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย จากจำนวนฝูงบินในภูมิภาคที่มีการคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงได้วางแผนสร้างศูนย์ MRO ใหม่ขึ้นในเขตท่าอากาศยานอู่ตะเภาตอบรับแนวโน้มดังกล่าว ประกอบไปด้วยการก่อสร้างอาคารซ่อมบำรุง (Hangar) สามารถบรรจุเครื่องบินเครื่องบินลำตัวกว้างอย่าง A380 ได้ถึง 3 ลำ อาคารโรงซ่อมบริภัณฑ์ โรงพ่นสี พื้นที่ซ่อมบำรุงระดับลานจอด และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆในวงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสิ่งปลูกสร้างและงานโยธา 7 พันล้านบาทจากกองทัพเรือซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ และการลงทุนธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานมูลค่า 4 พันล้านบาทจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในภาคการบิน คาดว่าระยะที่ 1 จะเสร็จสิ้นในปี 2020

4)   ท่าเรือแหลมฉบัง  ระยะที่ 3 ในจังหวัดชลบุรี มูลค่าลงทุนรวม 1.5 แสนล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามรัฐบาลที่ต้องการดันให้ไทยให้เป็น “Sea Gateway” ของเอเชีย เมื่อแล้วเสร็จท่าเรือแหลมฉบังจะไต่ขึ้นเป็นท่าเรือที่สามารถรองรับสินค้าได้มากที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก โดยโครงการดังกล่าวตั้งมีอยู่บนพื้นที่ 1,600 ไร่ เป็นการก่อสร้างท่าเรือตู้สินค้าเพิ่มเติมอีก 4 ท่า สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 18 ล้าน TEU1 ต่อปี (ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 มีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้า 11 ล้าน TEU ต่อปี) ควบคู่ไปกับการสร้างท่าเรือขนส่งรถยนต์ เพิ่มการรองรับรถยนต์เป็น 3 ล้านคันต่อปี (จาก 2 ล้านคันต่อปีในปัจจุบัน) นอกจากนั้น ยังจะมีการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งและสถานีขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระยะที่ 2 (STRO 2) ประกอบไปด้วย มีกำหนดเปิดใช้บริการในปี 2025

หากว่าโครงการเหล่านี้ ผ่านการเซ็นสัญญาและพร้อมก่อสร้าง ก็จะเข้ามายืนยันความต่อเนื่องของโครงการต่อไปภายหลังการเลือกตั้งให้สามารถเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจในพื้นที่ EEC ได้ตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ตามแผนเดิม

5)   ท่าเรือมาบตาพุด มีความคืบหน้าและน่าจะได้เอกชนมารับเหมาและเซ็นสัญญาก่อสร้างภายในปีนี้

แจกแจง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศ

ที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะมีฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งหลายประเภท แต่การเปลี่ยนแปลงไปของบริบทโลก เช่น การผลิตสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านบนอัตราค่าจ้างต่ำ อายุเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว หากว่าเราไม่เริ่มปรับเข้าหาอุตสาหกรรมชนิดใหม่ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาไม่เต็มศักยภาพ

ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมของไทย รัฐบาลจึงจำแนกอุตสาหกรรมเป้าหมายออกเป็น 10 รายการ เป็นยกระดับธุรกิจที่สามารถต่อยอดได้ 5 ประเภท และเติมอุตสาหกรรมล้ำสมัยเข้าไปอีก 5 หมวดหมู่ ซึ่งหลายๆหมวดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวที่ไม่เพียงแต่สร้างรายได้และเป็นพระเอกที่เข้ามาหนุนเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะส่งผลบวกต่อภาคการขนส่งและการบิน รวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์จากเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงกลายมาเป็นการชูจุดแข็งของประเทศให้เข้ามาเสริมอุตสาหกรรมอื่นไปพร้อมๆกันนั่นเอง ทั้งนี้ จากสถิติ การขอรับการส่งเสริมปี 2017 อยู่สูงที่สุดในจังหวัดระยองที่ 1.90 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นชลบุรีที่มียอดขอ 6.79 หมื่นล้านบาท และฉะเชิงเทรา 3.92 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ส่งผลให้ยอดขอรวมกันทั้งหมดโตถึง +49% เทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งการขอส่วนใหญ่นั้นอยู่ภายใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้อีกด้วย

โดยสรุป ถึงแม้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต แต่รัฐบาลได้เล็งถึงปัญหาและพยายามวาดโครงการอย่างเช่น EEC ออกมาเพื่อให้เราสามารถก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นไปได้ โดยสิ่งที่ตลาดกำลังจับตามอง อาทิ การอนุมัติกฎหมายปลดล็อกการลงทุน ความคืบหน้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ รวมไปถึงกระแสตอบรับจากผู้ลงทุน ล้วนแต่เป็นประเด็นสำคัญที่ตลาดให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องจับตามองพัฒนาการของ EEC อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะ EEC เป็นโครงการระยะยาว และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอเพื่อปรับรูปแบบโครงการให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้น ภายใต้เป้าหมายการเติบโตของ  GDP ที่ +5% ต่อปีภายในปี 2021