อยากโสดแบบชีวิตดี๊ดี ต้องวางแผนการเงิน

อยากโสดแบบชีวิตดี๊ดี ต้องวางแผนการเงิน

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM

รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่เน้นไปที่การทำงานเพื่อหาเงิน  เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า  การที่มีเงินมากพอนั้นเป็นพลังที่สำคัญ  ในการขับเคลื่อนชีวิตดีๆ ให้กับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความสะดวกสบาย และการได้รับบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า “เงิน” แม้จะซื้อไม่ได้ทุกอย่าง แต่เงินสามารถช่วยอำนวยความสุขให้กับเราได้อยู่ไม่น้อย

สำหรับเป้าหมายในชีวิตของคนในยุคปัจจุบันนั้น ก็ไม่เหมือนกับคนในยุคก่อนที่มักใช้ชีวิตตามแบบแผนของสังคม เริ่มต้นจากเรียน ทำงาน แต่งงาน เสียสละทุกอย่างเพื่อครอบครัว โดยคำนึงถึงความสุขของตัวเองเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่งเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตตามลำดับขั้นตอน ในขณะที่คนในยุคปัจจุบัน มีความสามารถและชอบที่จะทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กันอย่างสมดุล (Work-Life Balance) และที่สำคัญมากที่สุดคือ คนในยุคปัจจุบันเน้นหาคุณค่าในตัวเอง  เลือกที่จะมีความสุขกับการใช้ชีวิตของตัวเอง ทำให้ความคิดในการจะมีคู่  ไม่ได้เป็นเป้าหมายสำคัญในชีวิต  เรียกได้ว่า  “มีก็ดี  ไม่มีก็ได้  มีไม่ดี  ไม่มีเสียดีกว่า”  ทำให้คนในยุคปัจจุบันส่วนหนึ่งเลือกที่จะครองตัวเป็นโสดมากกว่า

ในส่วนของการวางแผนการเงินสำหรับคนโสด จะได้เปรียบกว่าคนที่มีคู่หรือครอบครัวก็ตรงที่ ทุกการวางแผนการเงิน ทุกการตัดสินใจลงทุน ล้วนเกิดจากเป้าหมายของตัวเรา และเพื่อตัวของเราเองจริงๆ

แต่ภายใต้ความรู้สึกสบายๆ ในเรื่องการบริหารจัดการเงิน คนโสดด็มีเรื่องให้ต้องคิด ต้องใส่ใจมากกว่า โดยต้องตระหนักเสมอว่า “เราตัวคนเดียว” ถ้าไม่ได้มีมรดกตกทอดจากพ่อแม่เป็นกอบเป็นกำ เราจำเป็นต้องมีความรอบคอบ  และคิดให้ครอบคลุมในทุกด้าน เพราะถ้าหากเราต้องประสบปัญหาชีวิตหรือปัญหาทางการเงิน “เราจะไม่มีใครคอยช่วยเหลือ”

การวางแผนการเงินสำหรับคนโสด อย่างแรกที่ต้องทำคือ  “ต้องรู้จักตัวเองให้ดี” ซึ่งไม่ใช่แค่การรู้ว่าเราต้องการใช้ชีวิตแบบไหน?   แต่ต้องรู้ไปถึงนิสัยในการใช้จ่ายเงินด้วยว่า  เราเป็นสายประหยัด สายเปย์  หรือทางสายกลาง ซึ่งเราสามารถรู้จักได้จากการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และหมั่นทบทวนรายการใช้จ่ายของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้บริหารจัดการเงินได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

อย่างที่สองคือ “ต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินที่เพียงพอ” เพราะอย่างที่ย้ำมาตั้งแต่ตอนต้นว่า คนโสด ถ้าบริหารจัดการเงินผิดพลาด เกิดเหตุฉุกเฉินทางการเงินขึ้นมาไม่มีใครสามารถช่วยเราได้ โดยเงินสำรองฉุกเฉินตามหลักการบอกว่า คนที่เป็นพนักงานประจำควรมีสำรองไว้อย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่าย

ส่วนคนที่ทำอาชีพอิสระ ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว  ควรมีสำรองไว้อย่างน้อย 6 – 8 เท่าของค่าใช้จ่าย แต่จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้เราเรียนรู้ว่า  เหตุที่ไม่คาดคิด  อาจกินระยะเวลายาวนานกว่าที่เราคิดเอาไว้ได้เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงควรมีแผนสำรองเผื่อเอาไว้เสมอ ซึ่งอาจพิจารณาจัดสรรเงินอีกส่วนไว้สำรองเป็นก๊อกสอง โดยอาจจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ก็ได้

อย่างสุดท้ายที่คนโสดละเลยไม่ได้คือ  “ต้องกำหนดเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน”  โดยเฉพาะเป้าหมายเกษียณ และเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของตัวเองในอนาคต เพราะคนโสดส่วนใหญ่คือคนที่มีความสุขกับชีวิตของตัวเอง และมีความสุขกับช่วงเวลาในปัจจุบัน (Enjoy the Moment) ทำให้ใส่ใจกับการวางแผนเพื่อความสุขในระยะสั้น – ปานกลาง และอาจละเลยเป้าหมายระยะยาวอย่างเป้าหมายเกษียณ เพราะรู้สึกว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว (อีกนานกว่าจะแก่) โดยที่อาจลืมไปว่า ช่วงชีวิตที่ใช้จ่ายเงินมากที่สุดคือ “เกษียณ” ตั้งแต่การต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีรายรับเข้ามาหรือมีรายรับน้อยลง รวมไปถึงปัญหาสุขภาพตามช่วงวัยที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลรักษา

เป้าหมายระยะยาวเพื่อการเกษียณนี้ สามารถใช้เครื่องมือในการลงทุนอย่างกองทุนรวมเข้ามาช่วยได้ โดยอาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป หรือสำหรับคนที่เสียภาษีแล้ว อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  เพราะได้ทั้งลดหย่อนภาษีและมีโอกาสที่เงินจะเติบโตได้ในระยะยาว   และด้วยเงื่อนไขในการลงทุนของกองทุน RMF ที่กำหนดให้ลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีลงทุน ถือครองอย่างน้อย 5 ปีวันชนวัน  และลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุ  55 ปีบริบูรณ์นี้   กลับเป็นตัวช่วยที่ทำให้เรามีวินัยในการลงทุนและมีโอกาสที่เงินจะเติบโตได้ดี

นอกจากการลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณ คนโสดจำเป็นต้องใส่ใจวางแผนดูแลสุขภาพด้วย  ตั้งแต่การออกกำลังกาย (แผนนี้ใช้เงินน้อย ควบคุมความรุนแรงได้ดี แต่ต้องขยัน) รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันสุขภาพ เพราะคนโสด ในช่วงที่เจ็บไข้ไม่สบาย อาจทำให้รายรับขาดหาย ส่งผลให้เดือดร้อนทางการเงินได้ง่ายกว่า

และก็อย่างที่เรารู้กันว่า รายจ่ายจากค่ารักษาพยาบาลนั้นแพงขึ้นทุกวัน ดังนั้น คนโสดก็อาจจะต้องวางแผนในส่วนนี้ให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทำงานกับบริษัทที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล หรือทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม  เพื่อที่จะโอนความเสี่ยง จากการที่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยที่เราไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้