LTF ครบกำหนดแล้ว เอาไปลงทุนที่ไหนต่อดี

LTF ครบกำหนดแล้ว เอาไปลงทุนที่ไหนต่อดี

สรุปความสัมภาษณ์

เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นการลงทุนในหุ้น เป็นกองทุนที่ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งก็มีเงื่อนไขการถือครองอย่างน้อย 5 ปีปฏิทิน และ 7 ปีปฏิทิน บางคนถือครองจนครบกำหนดทั้งหมดแล้ว บางคนก็มีการถือครองทั้งส่วนที่ครบกำหนดและไม่ครบกำหนดปะปนกันอยู่

ในปี 2565 นี้ เงินลงทุนปี 2559 ที่ต้องถือครอง 7 ปีปฏิทิน จะครบกำหนดแล้ว หลายคนมีข้อสงสัยว่าแล้วจะทำอย่างไรดี จะต้องโยกย้ายเงินไปลงทุนที่ไหนต่อดี ซึ่งการมองแบบนี้ เป็นการมองแยกส่วนเป็นรายตัว ทำให้การจัดพอร์ตยาก จึงขอแนะนำให้นักลงทุนมองภาพใหญ่ก่อน ว่าควรลงทุนในหุ้นสัดส่วนเท่าไหร่ ตราสารหนี้เท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ โดยยังคงลงทุนต่อเนื่อง (stay invested) ก่อนที่จะเลือกว่า จะโยกย้ายเงินลงทุนจาก LTF ไปลงทุนที่ไหนต่อ

ตัวอย่างของการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เป็นการจัดพอร์ต บริหารสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเอง คือ เมื่อมีความสามารถรับความเสี่ยงได้มาก อายุยังน้อย มีระยะเวลาการทำงานอีกนาน มีทรัพย์สินจำนวนมากพอที่สามารถนำทรัพย์สินไปเสี่ยงได้ เจอความเสี่ยงขาดทุนไปก็ยังไม่เดือดร้อนอะไรมากนัก คือกลุ่มที่ลงทุนในหุ้นสัดส่วนสูงได้ ซึ่ง LTF ก็เป็นกองทุนหุ้นแบบหนึ่ง ที่ลงทุนหุ้นไทย สามารถลงทุนต่อไปได้

ส่วนคนที่ลงทุนไว้เรื่อยๆ จนเหลืออายุการทำงานไม่นาน คือใกล้เกษียณแล้ว โดยหลักการแล้วควรลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศ  ซึ่งก็อาจใช้โอกาสนี้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน LTF ไปลงทุนในส่วนอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยลง

สำหรับ ผู้ที่ต้องการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น อยากให้พิจารณาว่าต้องการลงทุนในหุ้นเท่าไหร่ สมมติว่าเดิมลงทุนในหุ้น 50-60% ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝาก ขอให้นักลงทุนพิจารณาโดยรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น LTF RMF กองทุนอื่นๆ เงินฝาก หุ้นกู้ หรือพันธบัตรที่ซื้อไว้ ถ้าหากเงินส่วนนี้เป็นเงินเย็นที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ หากต้องการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น อาจจะลดจาก LTF ในส่วนที่ครบกำหนดได้

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น อาจจะลดสัดส่วนจากกองทุน LTF ส่วนที่ครบกำหนดก็ได้ ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้ต้องการย้ายไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำเลย อาจจะคงเงินลงทุนไว้ในกองทุนหุ้นอย่าง LTF ต่อ หรือย้ายไปลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ

โดยรวมแล้ว อยากให้มองว่า พอร์ตโดยรวมสำคัญที่สุด หากต้องการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น แต่ไม่ต้องการย้ายไปลงทุนในตราสารหนี้เลย ลองมองหากองทุนผสมที่เน้นตราสารหนี้ กองทุนผสมที่มีการบริหารหรือจัดสัดส่วนการลงทุนในระดับที่เหมาะสมไว้ให้แล้ว เช่น กองทุน B-SENIOR กองทุน B-SENIOR-X กองทุน B-INCOME รวมถึงกองทุน BMAPS25 ซึ่งเป็นกองทุนผสมที่มีหุ้นไม่เกิน 25% และ BMAPS55 ที่มีหุ้นไม่เกิน 55%

ส่วนกลุ่มที่ยังลงทุนในหุ้นได้ ยังรับความเสี่ยงได้สูง อาจจะด้วยเงื่อนไขว่ามีระยะเวลาลงทุนได้นาน แล้วต้องการย้ายเงินลงทุนจาก LTF ไปลงทุนในตราสารอื่นๆ ที่เป็นกองทุนหุ้นนั้น ตามหลักการลงทุน Stay Invested ขอให้ลองพิจารณาว่าจะลงทุนในกองทุนหุ้นในประเทศสัดส่วนเท่าไหร่ และกองทุนหุ้นต่างประเทศสัดส่วนเท่าไหร่

ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ย้ายไปลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศที่มีผลการดำเนินงานดีไปเลย เพราะเหมือนเป็นการวิ่งตามผลตอบแทน ซึ่งไม่ใช่การจัดสัดส่วนหรือการบริหารพอร์ตลงทุนที่ดีนัก

แม้ LTF ในปัจจุบัน อาจจะให้ผลตอบแทนที่สู้กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศไม่ได้ แต่เรื่องการลงทุนไม่มีอะไรแน่นอน การลงทุนใน LTF คือการลงทุนในหุ้นไทย ดังนั้นความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการลงทุนในต่างประเทศ ก็คือความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ LTF จะมีความเสี่ยงเรื่องนี้น้อยมาก ขณะที่กองทุนต่างประเทศมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

เราควรลงทุนทั้งกองทุนหุ้นไทยและกองทุนหุ้นต่างประเทศ หากอัตราแลกเปลี่ยนมีประเด็นอะไรขึ้นมา กองทุนหุ้นไทยก็ยังปลอดภัยกว่า ดังนั้นสัดส่วนที่เหมาะสมควรจะมีการลงทุนในหุ้นไทยด้วย ซึ่งสัดส่วนของแต่ละบุคคล ไม่มีกำหนดตายตัว แต่เดิมอาจจะบอกว่าการลงทุนในหุ้น ควรจะไปลงทุนในต่างประเทศ 20% และอยู่ในหุ้นไทย 80% เพราะการลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงมากกว่า แต่เมื่อเทียบกับโอกาสรับผลตอบแทนในปัจจุบันแล้ว สามารถย้ายไปลงทุนในต่างประเทศได้มากกว่านั้น โดยอาจลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้มากถึง 60-70% และอยู่ในหุ้นไทย 30-40% ก็ได้

สำหรับคนที่ LTF ครบกำหนดแล้ว อยากลงทุนต่อในหุ้นไทย ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายไปลงทุนในกองทุนหุ้นไทยอื่นก็ได้ เพราะการลงทุนใน LTF คือการลงทุนต่อเนื่องในหุ้นไทย ซึ่งเรายังสามารถลงทุนต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าต้องขายคืนเมื่อครบกำหนด

ในส่วนของผู้ที่ต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มี LTF แล้ว ก็ยังมีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ซึ่งกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นการลงทุนระยะยาว สามารถบริหารสัดส่วนพอร์ตลงทุนได้ เนื่องจากมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากกว่า LTF ทั้งกองทุนหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม มีให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักลงทุนที่จะจัดพอร์ต ดังนั้นอยากให้นักลงทุนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนไม่ลืมที่จะใช้สิทธิประโยชน์จากการลงทุนในกองทุนเหล่านี้