BBLAM Economic Outlook 2022 : ตอนที่ 2 ยูโรโซน ญี่ปุ่น อินเดีย

BBLAM Economic Outlook 2022 : ตอนที่ 2 ยูโรโซน ญี่ปุ่น อินเดีย

สรุปความ 

Economic Research

BBLAM  ได้นำเสนอมุมมองเศรษฐกิจรายประเทศทั้งในภาพรวม และเจาะลึกเศรษฐกิจรายประเทศไปแล้ว 3 ประเทศ คือ สหรัฐฯ จีน และไทย ในตอนที่ 1 ซึ่งในตอนที่ 2 นี้ จะมานำเสนอมุมมองเศรษฐกิจของยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดียกันต่อ

  • ยูโรโซน

มองย้อนกลับไปในปี 2021 จะพบว่า เศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2021 เป็นต้นมา เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง บวกกับการกระจายวัคซีนค่อนข้างดี ส่งผลให้รัฐบาลมีการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น จะเห็นได้จากตัวเลขต่างๆ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI โดยเฉพาะภาคบริการที่ฟื้นตัวค่อนข้างแรง หลังจากช่วงต้นปีเผชิญกับโควิดไป

01net.jpg

อย่างไรก็ดี หากดูในภาคการผลิตอุตสาหกรรม ในช่วงครึ่งปีหลัง 2021 ยังมีปัจจัยลบที่เข้ามา คือ ปัญหา supply shortage หรือการขาดแคลนในฝั่งอุปทาน ที่เข้ามาส่งผลกระทบอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ ทำให้ยอดขายรถยนต์ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีหลัง 2021 และยังเป็นปัญหาที่คงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

ในระยะสั้นแม้จะเจอปัจจัยลบจากหลายด้าน ทั้ง supply shortage รวมถึงโควิดที่แพร่ระบาด และปัจจัยเงินเฟ้อ แต่เชื่อว่า ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะปรับตัวได้ดีขึ้น จากปัญหาต่างๆ ที่ค่อยๆ คลี่คลายไป ทำให้ BBLAM มองว่า ทั้งปี 2022 เศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะเติบโตได้ 4.2% จากปี 2021 ที่มองว่าจะเติบโต 5.1%

02net.jpg

สำหรับปัจจัยกดดัน หลักๆ คือเรื่องเงินเฟ้อ ได้แก่ วิกฤติราคาแก๊ส ที่เกิดจากปัจจัย 3 ปัจจัย คือ ความต้องการที่แข็งแกร่งในช่วงฤดูหนาว เรื่องปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสต็อกของแก๊สที่อยู่ในระดับต่ำในรอบหลายปีของยูโรโซน ส่งผลให้ราคาแก๊สปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. 2021 อยู่ที่ระดับ 4.9% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และในเดือน ธ.ค. อาจจะปรับตัวสูงขึ้นได้อีก ทั้งจากราคาน้ำมันและแก๊สที่ปรับขึ้น

03net.jpg

ในมุมมองของธนาคารกลางยูโรโซน หรือ ECB เอง และมุมมองของตลาดมองว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2022 อัตราเงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มปรับลดลงได้จากฐานที่สูงในปี 2021 และปัญหา supply shortage น่าจะเบาบางลงในช่วงครึ่งปีหลัง

05net.jpg     ดังนั้นในมุมมองระยะข้างหน้า เงินเฟ้อน่าจะค่อยๆ ปรับลงมา และ ECB ก็มองว่าปี 2023-2024 เงินเฟ้อน่าจะลงมาอยู่ที่ 1.8% ได้ แต่เรามองว่า ก็ยังมีความเสี่ยง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอนสูง ก็อาจเป็นไปได้ที่ปี 2022 ทาง ECB จะปรับเงินเฟ้อขึ้น ซึ่งก็จะกดดันการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB เช่นกัน

06net.jpg

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ECB มีแผนปรับลดการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่มีการเข้าซื้อสินทรัพย์สภาพคล่องด้วย จากเดิมที่มีมาตรการ PEPP ซึ่งจะหมดลงในเดือนมี.ค. 2022 แต่ว่า ECB ก็มีการปรับเพิ่มการเข้าซื้อผ่านโครงการเดิมคือโครงการ APP จาก 20,000 ล้านยูโร เป็น 40,000 ล้านยูโร  แต่ก็ค่อยๆ ลดลงไปในไตรมาส 3-4 ของปีจนกลับไปสู่ 20,000 ล้านยูโรเหมือนเดิม เป็นทิศทางที่สะท้อนให้เห็นว่า ECB กำลังทยอยลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ลง แต่เป็นไปอย่างระมัดระวัง เพราะเศรษฐกิจยูโรโซนยังไม่ได้ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากนัก ทำให้มองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ECB คงไม่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เร็วที่สุดก็คงจะเป็นช่วงปลายปี หรืออาจเป็นช่วงปี 2023-2024 ไปเลยมากกว่า

นอกจากนี้ในส่วนของมาตรการการคลังต่างๆ ของยูโรโซน ก็ยังสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change และเรื่องการปรับตัวสู่ดิจิทัล หรือ digitalization โดยเฉพาะเยอรมนี ที่มีการจัดสรรเงินไปสนับสนุนการทำให้เศรษฐกิจมี digitalization มากขึ้น ดังนั้นจึงถือว่าเป็น 2 กลุ่มที่น่าสนใจในระยะถัดไปของยูโรโซน สนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปี 2022 ยังเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการเงินและการคลังที่ยังสนับสนุนอยู่

08net.jpg

  • ญี่ปุ่น

ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญอยู่ 3 เหตุการณ์ ได้แก่

09net.jpg

1.การแพร่ระบาดของโควิด – ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเผชิญกับการระบาดของโควิดถึง 3 ระลอก เป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป เนื่องจากการแพร่ระบาดลากยาวมาจนถึงไตรมาสที่ 3 เลย
2.การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือน ก.ค. 2021 – ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะไม่ได้เป็นสาเหตุของการระบาดของโควิดตามมาอย่างที่ประชาชนมีความกังวลไว้ในตอนแรก
3.การลาออกของนายกรัฐมนตรีถึง 2 ท่านด้วยกัน คือ นายชินโซ อาเบะ และนายโยชิฮิเดะ ซูกะ แต่ว่าหลังจากการเลือกตั้งในเดือน ต.ค. 2021 ญี่ปุ่นก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ นายฟูมิโอะ คิชิดะ ซึ่งหลังจากที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าที่ตลาดคาด และตลาดก็ตอบรับกับข่าวนี้ค่อนข้างดี ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2021

มองไประยะข้างหน้าในปี 2022 หลังจากที่ญี่ปุ่นมีการแพร่ระบาด 3 ไตรมาสติดกัน จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ค่อนข้างชะลอตัว 3 ไตรมาสติดกัน หลังจากเหตุการณ์โควิดดีขึ้น กระบวนการกระจายวัคซีนของญี่ปุ่นดีมาก BBLAM ก็เลยมองว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2021 เศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาพตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่กลับมาฟื้นตัวค่อนข้างแรง

10net.jpg

อีกปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น คือ การส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างมากต่อ GDP ญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ เครื่องจักร เครื่องจักรไฟฟ้าค่อนข้างมาก ดังนั้นก็จะได้อานิสงส์จากการที่โลกอยู่ในวัฏจักรการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี

11net.jpg

สำหรับมาตรการทางการคลัง หลังจากที่นายคิชิดะ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเรามองว่ามาตรการนี้ก็น่าจะมีผลดีต่อเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2022 โดยหลักๆ มาตรการก็จะเน้นไปที่การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด และสนับสนุนการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

12net.jpg

ในส่วนของนโยบายการเงิน BBLAM มองว่า ถึงแม้ในปี 2021 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะเข้าซื้อสินทรัพ์น้อยลง เห็นได้จากงบดุลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับปี 2020 ที่ปรับขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อบวกกับการเข้าซื้อดัชนีอ้างอิงสินทรัพย์ หรือ ETF เอง ก็ไม่ได้มีการเข้าซื้อมากตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 แต่ว่าท่าทีของ BoJ เมื่อเทียบกับ Fed และ ECB ก็มีท่าทีที่ dovish หรือดำเนินนโยบายการเงินแบบประนีประนอมมากกว่า และมองว่า BoJ น่าจะเป็นธนาคารกลางลำดับท้ายๆ ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

13net.jpg

  • อินเดีย

ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปในปี 2021 เศรษฐกิจอินเดียเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิดอย่างหนักในเดือน พ.ค. 2021 แต่ว่าการระบาดแม้ว่าจะหนัก แต่รัฐบาลไม่ได้มีการประกาศล็อคดาวน์ทั้งประเทศเหมือนกับปี 2020 ส่งผลให้การฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว

14net.jpg

เมื่อมองไประยะข้างหน้าปี 2022 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินเดียน่าจะเป็นไปในวงกว้างมากขึ้น โดยปี 2021 การฟื้นตัวหลักๆ มาจากมาตรการการคลังและการส่งออก แต่ในระยะข้างหน้า มองว่า จะมีการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุน เข้ามาเพิ่มเติมสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินเดีย ทำให้ในปีงบประมาณหน้า คือปี 2022/2023 เศรษฐกิจอินเดียน่าจะเติบโตประมาณ 8.5% จากปี 2021/2022 ที่จะเติบโตประมาณ 9.5%

สิ่งสำคัญของเศรษฐกิจอินเดียเวลานี้คือ สถานการณ์โควิด โดยหากดูตัวเลขรายสัปดาห์อาจยังไม่เห็นสัญญาณของการติดเชื้อระลอกที่ 3 มากนัก แต่ถ้าดูตัวเลขรายวัน จะเห็นว่าในช่วงสัปดาห์หลังปีใหม่ (2-8 ม.ค. 2022) การแพร่ระบาดของโควิดเร่งตัวขึ้นมาค่อนข้างเร็ว เป็นสัญญาณว่าการแพร่ระบาดในอินเดียเข้าสู่ระลอกที่ 3 แล้ว ซึ่งก็จะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินเดียได้

15n.jpg

อย่างไรก็ตาม อินเดียกระจายวัคซีนไปได้ค่อนข้างมากแล้ว โดยผู้ใหญ่อายุเกิน 18 ปี มีการฉีดวัคซีนโดสแรกไปแล้ว 80-90% ปัจจัยนี้เองจะช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ได้

อีกปัจจัยที่สำคัญสำหรับอินเดีย ที่กดดันการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางอินเดีย คือเรื่องเงินเฟ้อ โดยดัชนีราคาค้าส่ง หรือ Wholesale Price Index มีการปรับตัวขึ้นอย่างมาก จากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต และราคาน้ำมัน โดยเรามองว่าในระยะข้างหน้า ผลกระทบน่าจะค่อยๆ ส่งผ่านมาสู่ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ได้ ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะอยู่ในกรอบ 2-6% ของธนาคารกลางอินเดีย แต่เรามองว่ามีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น จนอาจไปแตะที่ระดับกว่า 6% ได้

16n.jpg

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอินเดีย ก็ยังมีท่าทีสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นหลัก มากกว่าการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ ทำให้เรามองว่า ธนาคารกลางอินเดียจะยังไม่ปรับเพิ่มนโยบายดอกเบี้ย Repo Rate หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรเร็วนัก แต่น่าจะปรับเพิ่ม Reverse Repo Rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ให้กับธนาคารกลางของอินเดียก่อน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 จากนั้นปรับขึ้นต่อเนื่องจนกลับไปสู่ระดับ 3.75% ซึ่งเป็นที่ระดับเดิม ก่อนที่จะปรับ Repo Rate ขึ้น โดยเรามองว่าจะมีการปรับขึ้น Repo Rate ปลายปีเลย

17n.jpg

โดยรวมแล้ว การที่ธนาคารกลางอินเดียยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยเร็วนัก น่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ สามารถติดตามมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และไทยได้ ใน BBLAM Economic Outlook 2022 : ตอนที่ 1 สหรัฐฯ จีน ไทย ตามลิงค์นี้ >> https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/economic-insights/bblam-economic-outlook-2022

นอกจากนี้ยังสามารถติดตามอ่านรายละเอียด รายงานมุมมองเศรษฐกิจครึ่งแรกปี 2022 ของ BBLAM เพิ่มเติมได้ที่นี่  >>​​ ​​​​ https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/economic-insights/bf-economic-review-2022