Cashless Society

By…อรุณี ศิลปการประดิษฐ

ทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

ปัจจุบันนี้ โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ส่งผลให้พฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วิธีการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับการใช้เงินสด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินสดเพื่อซื้อของกินของใช้ การใช้เงินสดจ่ายค่าใช้จ่างต่างๆ ผ่านทางเคาเตอร์ของธนาคาร การถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เราสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ผ่านระบบออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าหรือบริการ หรือแม้แต่การทำธุกรรมทางการเงินอื่นที่มีความซับซ้อน

ซึ่งหลายประเทศก็ได้มีการออกนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ Cashless Society หนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำด้านนี้ ได้แก่ ประเทศสวีเดน ปัจจุบัน 80% ของธุรกรรมทางการเงินในสวีเดนเป็นธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัลทั้งบัตรเครดิตและแอปพลิเคชั่นทางมือถือ ซึ่งคนสวีเดนส่วนใหญ่มองว่าการทำธุรกรรมทางดิจิทัลจะทำให้ปลอดภัยจากการโจรกรรม รวมทั้งทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้รวดเร็ว สำหรับประเทศในโซนเอเซียแล้ว ประเทศที่เป็นผู้นำด้านธุรกรรมออนไลน์คงหนีไม่พ้นประเทศจีน ที่เรียกได้ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศจีนใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อจ่ายเงินสำหรับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือการซื้อสินค้าตามตลาดก็สามารถจ่ายผ่าน QR code ได้

สำหรับประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่การเป็น Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด อย่างชัดเจนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการที่ภาครัฐจัดตั้ง National e-Payment เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ให้มีระบบรองรับการชำระเงินที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับการใช้งานทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่ขยายวงกว้างขึ้น และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากการให้บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) สำหรับให้บริการโอนเงินระหว่างบุคคล รวมทั้งการโอนเงินสวัสดิการและค่าใช้จ่ายต่างๆของภาครัฐ หรือการส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป

ซึ่งแน่นอนว่า แนวคิดเกี่ยวกับ Cashless นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขายหรือการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะคนอาจตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายกว่าการใช้เงินสด รวมทั้งประหยัดเวลาในการเดินทางไปเลือกซื้อสินค้า โดยสามารถเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อเลือกซื้อสินค้าอยู่ที่บ้านได้เลย นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนแอบแฝงในการบริหารจัดการเงินสดของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารความเสี่ยงต่อการสูญหาย การขนส่ง การจัดเก็บ รวมทั้งต้นทุนในการจัดพิมพ์ธนบัตร และที่สำคัญ การที่ธุรกรรมทางการเงินเข้าสู่ระบบดิจิทัล หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลทางการเงินให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ธนาคารพาณิชย์สามารถใช้ข้อมูลทางการเงินประกอบการขอสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หรือหน่วยงานภาครัฐสามารถตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่ายขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามในข้อดีก็ย่อมมีข้อเสียเช่นกัน การที่ธนาคารหรือรัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินได้อาจทำให้ประชาชนสูญเสียความเป็นส่วนตัวหรือเสรีภาพทางการเงินได้ ตัวอย่างเช่น การที่รัฐกำลังร่างกฎหมายให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรตรวจสอบ หากมียอดโอนเกิน 200 ครั้งต่อปีและมีจำนวนเงินเกิน 2 ล้านบาท หรือมียอดโอนเกิน 3,000 ครั้งต่อปี ธนาคารจะส่งรายงานให้สรรพากรทำการตรวจสอบการยื่นภาษี หรือ อาจเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยจากการนำข้อมูลไปอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ อาจเกิดการโจรกรรม และที่สำคัญที่สุดคือการที่สามารถใช้จ่ายในการซื้อสินค้าได้สะดวกขึ้นอาจทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวได้อีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากที่ธนาคารหลายแห่งเริ่มปรับลดจำนวนสาขาลง หรือการที่ธนาคารประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีก้าวขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินชีวิตมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในด้านต่างๆ ในวงกว้าง โดยเฉพาะตลาดแรงงานหรือการศึกษา เราจำเป็นที่จะต้องปรับตัวตามสถาการณ์ให้ทัน เพราะไม่เช่นนั้น วันหนึ่งเราอาจถือเงินสดออกมาจากบ้านแล้วพบว่าไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะประเทศเข้าสู่ระบบ Cashless อย่างสมบูรณ์