“พลิกแนวคิดใช้จ่ายกับชีวิตปัจจุบัน” (ตอนจบ)

“พลิกแนวคิดใช้จ่ายกับชีวิตปัจจุบัน” (ตอนจบ)

By…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

BF Knowledge Center

ต่อจากตอนที่แล้ว เราได้ทิ้งท้ายไว้ว่า แล้วจะผ่อนเดือนละเท่าไหร่ถึงจะไม่ตึงมือเกินไป คำตอบง่ายคือ ภาระผ่อนชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ ก็ไม่ควรเกิน 40% ดังนั้น หากมีรายได้เดือนละ 50,000 บาท ควรมีภาระผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 20,000 บาท ดังนั้น หากกู้ 750,000 ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ผ่อน 5 ปี จะเท่ากับต้องผ่อนเดือนละ 13,750 บาท ก็ไม่ได้สูงจนเกินไปนัก เพราะนอกจากภาระผ่อนแล้ว อย่าลืมว่า เราต้องมีค่าน้ำมันที่ต้องเติม, ค่าที่จอดรถ, ค่าดูแลรักษารถ, ค่าล้างรถ (ล้างเองได้) รวมถึงค่าประกันรถและค่าต่อทะเบียนรถ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเกิดขึ้นอีก

ถ้าอยากผ่อนมากกว่านี้ ทำได้ไหม

ทำได้ เพราะดูแล้วความสามารถในก่อนผ่อนยังได้อีกเดือนละประมาณ 6,xxx บาท แต่อย่าลืมว่า เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเรามีเตรียมไว้แล้วหรือยัง ซึ่งต้องมีเงินก้อนนี้ก่อนเสมอที่จะทำอะไร และการผ่อนรถต้องดูความสามารถในการผ่อนทั้งหมด เพราะหากเราตัดสินใจผ่อนหนัก แต่หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินต้องใช้เงินทำให้ความสามารถในการผ่อนของเราลดลงหรือผ่อนไม่ได้ อาจมีปัญหากับ Finance (Leasing) ได้ ทางที่ดีควรดูความสามารถในการผ่อนของเราให้ดีก่อน และถ้าเรามีเงินก้อน ก็ไม่แนะนำให้นำมาปิดภาระหนี้รถ เพราะดอกเบี้ยที่คิดเป็นแบบคงที่ (ไม่ลดต้นลดดอกเหมือนหนี้บ้าน)

มีวิธีไหน ที่จะช่วยในการบริหารเงิน หรือยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ได้บ้าง

ทางเลือกหนึ่งที่พอจะช่วยได้ คือ การใช้ บัตรเครดิต แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธี คือ รูดก่อน ชำระเต็มทีหลังตามกำหนด หรือเลือกโปรโมชั่นผ่อนชำระ 0% หรือเลือกแบบมีส่วนลดเติมน้ำมัน ส่วนลดค่าอะไหล่รถยนต์ ก็จะพอช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปได้บ้าง

 

นอกจากนี้ ลองหาตัวช่วยอื่น เช่น การลดค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ลง อย่างเช่น ค่ากาแฟ จากที่ดื่มวันละ 2 แล้ว เหลือวันละแก้ว ก็อาจช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายได้สูงถึงเดือนละ 2,000 – 3,000 บาทเลยทีเดียว

และสุดท้ายคือการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น โดยการทำอาชีพเสริมในสิ่งที่ถนัด เช่น ถนัดทำขนม (ต้องอร่อย) ก็สามารถทำขายได้ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง

 

“อย่าฟุ้งเฟ้อตามกระแสนิยม ให้อยู่กับปัจจุบัน คิดให้ดีให้รอบคอบก่อนตัดสินใจใช้จ่าย”