เมื่อเงินลงทุนช่วยลดภาษีได้

เมื่อเงินลงทุนช่วยลดภาษีได้

By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

BF Knowledge Center

ระดับความเสี่ยงและโอกาสรับผลตอบแทนเป็นของคู่กัน ตราสารการเงินความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนก็ควรจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากกว่าตราสารการเงินความเสี่ยงต่ำ เพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยงนั้นๆ แต่ปัจจุบันมีการลงทุนบางประเภทที่มีเงื่อนไขพิเศษจูงใจให้เกิดการลงทุน กล่าวคือทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมมากกว่าการลงทุนทั่วไปทันที ไม่ว่าการลงทุนนั้นจะมีระดับความเสี่ยงเท่าใดก็ตาม

วิธีลงทุนแบบพิเศษที่กล่าวถึงนี้ก็คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวม 2 ประเภท อย่างกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund, RMF) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund, LTF) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อชักจูงบุคคลธรรมดาให้เข้ามาลงทุน โดยภาครัฐเสนอสิทธิประโยชน์ให้นำเงินลงทุนมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไข

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ จัดตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อจูงใจให้ประชาชนแต่ละคนรู้จักวางแผนเก็บเงินตั้งแต่ตอนอยู่ในวัยทำงานไว้ใช้หลังเกษียณ เพื่อลดภาระของภาครัฐที่ต้องจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต โดยยินยอมให้ประชาชนนำเงินลงทุนแต่ละปีไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ละปี และเมื่อรวมกับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขหลักว่าจะต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ไม่น้อยกว่า 5 ปี จนถึงอายุ 55 ปี จึงไถ่ถอนเงินลงทุนจากกองทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว จัดตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนจากภาครัฐเช่นกัน แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดทุนไทย ด้วยการเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันอย่างกองทุนรวมให้มีสัดส่วนมากขึ้น และจูงใจให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ละปี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขสำคัญก็คือจะต้องลงทุนอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน ในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว และจะใช้สิทธิได้แค่ปีภาษี 2562 นี้เท่านั้น

กองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายให้ได้เลือกตามความต้องการของผู้ลงทุนแต่ละคน ตั้งแต่กองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม ไปจนถึงกองทุนตราสารทุน ขณะที่กองทุน LTF มีเฉพาะกองทุนตราสารทุนเท่านั้นเนื่องจากมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อพัฒนาตลาดทุนและให้เข้าใจการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก แต่ไม่ว่าจะลงทุนในกองทุนประเภทใด มีความเสี่ยงมากหรือน้อย สิ่งที่ผู้ลงทุนจะได้รับทันที คือการประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐในแต่ละปี และเนื่องจากระบบการเรียกเก็บภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาของประเทศไทยใช้ “อัตราภาษีแบบก้าวหน้า” ผู้ใดมีรายได้มากก็มีหน้าที่เสียภาษีในอัตราเพิ่มขึ้นสำหรับรายได้ส่วนเพิ่ม

ดังนั้นผู้ลงทุนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงก็จะยิ่งได้ประโยชน์จากการลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทมาก เช่น นาย ก มีรายได้ในแต่ละปีอยู่ในเกณฑ์สูง เสียภาษีในอัตราสูงสุดถึง 35% หากลงทุนใน RMF และ LTF สูงสุดรวมกันถึงหนึ่งล้านบาท นาย ก อาจจะประหยัดภาษีได้ถึง 350,000 บาท หรือในแง่การลงทุน เท่ากับ นาย ก จ่ายเงินลงทุนจริงเพียง 650,000 บาท (1,000,000 บาท – 350,000 บาท) แต่ได้หน่วยลงทุนมูลค่า 1,000,000 บาท คือมีกำไร 350,000 บาท หรือคิดเป็น 53.8% ทันทีที่ลงทุน

กองทุนทั้ง 2 ประเภทถูกนิยมใช้เพื่อวางแผนบริหารภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา แต่ถ้ามองในมุมการลงทุนนั่นคือผลตอบแทนที่ได้มาง่ายๆ และเป็นส่วนเพิ่มที่ไม่ควรเพิกเฉยกันอีกต่อไปสำหรับการวางแผนการลงทุนตามเป้าหมายระยะยาว