Fund Comment กุมภาพันธ์ 2565 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment กุมภาพันธ์ 2565 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือน ก.พ. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีขึ้นไป เปลี่ยนแปลงในช่วง -4 ถึง +7 bps สำหรับพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ณ สิ้นเดือน ก.พ. อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.19% (+6 bps จากสิ้นเดือนก่อน) ซึ่งยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี

โดยในช่วงต้นเดือน ก.พ. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภายหลังการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm payrolls) เดือน ม.ค. ที่เพิ่มขึ้น 4.67 แสนตำแหน่ง สูงกว่าตลาดคาดที่ 1.25 แสนตำแหน่ง และอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าตลาดคาดที่ 7.3% โดยตลาดคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เร่งปรับนโยบายการเงินเข้มงวดเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน ก.พ. สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีความตึงเครียดมากขึ้น หลังรัสเซียประกาศใช้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. และหลายประเทศทยอยออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้ให้ตลาดการเงินทั่วโลกเกิดความผันผวน นักลงทุนปรับลดความเสี่ยง (Risk-off) เงินลงทุนไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับลดลงจากช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่อยู่ระดับเหนือ 2.0% มาอยู่ที่ 1.83% ณ สิ้นเดือน ก.พ.

ด้านนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้มียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มูลค่าสุทธิ 52,876 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 41,047 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 30,151 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดอายุ 18,322 ล้านบาท

สำหรับผลการประชุมธนาคารกลางหลักของโลก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินตามเดิมในการประชุมวันที่ 3 ก.พ. โดยคงอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ Deposit Facility Rate ที่ -0.50% Main Refinancing Rate ที่ 0.0% และ Marginal Lending Rate ที่ 0.25% ส่วนการเข้าซื้อสินทรัพย์ ECB จะยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ตามกำหนดในเดือน มี.ค. นี้ แต่ยังคงซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ Asset Purchase Program (APP) อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์หลังการประชุมมีท่าทีที่เข้มงวด (Hawkish) ขึ้นอย่างมาก โดยประธาน ECB ระบุว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับสูงยาวนานกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะจากราคาพลังงาน แต่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงปีนี้ และระบุอีกว่าที่ประชุมมีความกังวลอย่างมากต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดในเดือน ม.ค. ซึ่งขยายตัว 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ประธาน ECB ไม่ได้ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งแตกต่างจากมุมมองเดิมที่เคยระบุว่าไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ด้านการประชุม กนง. ในวันที่ 9 ก.พ. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาดและอาจอยู่เหนือกรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปี แต่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จึงยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก

ขณะที่สภาพัฒน์ฯ รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2564 ขยายตัวที่ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าตลาดคาดที่ 0.8% และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัว -0.3% โดย GDP ทั้งปี 2564 ขยายตัวที่ 1.6% สูงกว่าตลาดคาดที่ 1.0% และดีขึ้นจากปี 2563 ที่หดตัว -6.2% สำหรับในปี 2565 สภาพัฒน์ฯ ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ 3.50-4.50%

ส่วนกระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ. เร่งตัวขึ้นเป็น 5.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงสุดในรอบ 13 ปี และเพิ่มขึ้นจาก 3.23% ในเดือน ม.ค. สาเหตุหลักมาจากสินค้ากลุ่มพลังงาน รวมถึงสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบ รวมทั้งผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัว 1.80% เพิ่มขึ้นจาก 0.52% ในเดือน ม.ค.

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะยังทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งกองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตลอดปีนี้

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งต้องติดตามการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed และตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ Fed ใช้ในการประเมินทิศทางนโยบายการเงิน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการประชุมธนาคารกลางหลักของโลก ได้แก่ ECB (10 มี.ค.) Fed (15-16 มี.ค.) และ BoJ (17-18 มี.ค.) รวมทั้งการประชุม กนง. ของไทย (30 มี.ค.)