Fund Comment มีนาคม 2565 : ภาพรวมตลาดหุ้น

Fund Comment มีนาคม 2565 : ภาพรวมตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นโลกค่อนข้างผันผวนในเดือนมีนาคม โดย MSCI World Index ปรับตัวลงก่อนในครึ่งแรกของเดือน จากสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียที่มีทีท่ายืดเยื้อกว่าที่คาด และการทยอยประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก ก่อนที่กลับขึ้นมาในครึ่งเดือนหลัง และปิดเดือนบวกได้ที่ 1.9% จากการที่สงครามนั้นไม่ได้ขยายวงกว้างออกไปและความพยายามเจรจาระหว่างสองประเทศที่มีมากขึ้น รวมทั้งการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียของยุโรปนั้นก็ไม่ได้รุนแรงมาก เนื่องจากแต่ละประเทศล้วนแต่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศตัวเองจึงยังต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียต่อไป

และการประชุม FOMC ล่าสุด ซึ่งผลออกมาตามที่ตลาดคาด โดย Fed ได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018 และส่งสัญญาณผ่าน Dot Plot ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปี 2022-2023 ไปที่ 2.75%

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ใน Eurodollar Futures ที่คาดว่าจะขึ้นไปสูงสุดที่ราว 3% ในปี 2023 นั้น ก็ได้สะท้อนว่า ตลาดได้คาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ไปมากแล้ว ขณะที่ภาวะ Inverted Yield Curve ของสหรัฐฯ ซึ่งบ่งชี้ถึงความกังวลต่อความเสี่ยงของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต ก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจอาจไม่สามารถรับการขึ้นดอกเบี้ยที่มากขนาดนั้นได้ ทำให้ในระยะข้างหน้า Fed อาจต้องชั่งน้ำหนักมากขึ้นระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายของ Fed กับ ผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากการประชุมในวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดกลับมาเพิ่มน้ำหนักกับหุ้นเติบโตที่ถูกกระทบหนักจากความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

ด้านเศรษฐกิจโลกนั้น แม้ในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวดี แต่หลายประเทศเริ่มมีโมเมนตัมที่จะชะลอตัวลงในไตรมาสสอง โดยสงครามยูเครน-รัสเซีย และมาตรการการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ซึ่งทำให้ราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และอาหารปรับตัวสูงขึ้นจากเดิม ส่งผลกดดันต่อระดับเงินเฟ้อ และกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะข้างหน้า ซึ่งเศรษฐกิจกลุ่มยุโรปมีความเชื่อมโยงกับรัสเซียมากที่สุด ทั้งด้านการค้า การเงิน และการนำเข้าพลังงาน จึงจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากประเด็นดังกล่าวมากที่สุด

ขณะที่การล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นของจีนเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิดในประเทศก็เป็นปัจจัยที่กระทบภาคการผลิตและภาคการส่งออกของจีนในช่วงสั้นข้างหน้า แต่การหนุนจากนโยบายการเงินและการคลังจากทางภาครัฐ และการไม่เข้าร่วมการคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซีย จะทำให้จีนน่าจะยังรักษาโมเมนตัมการเติบโตไว้ให้ใกล้เคียงกับที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าที่ 5.5% ไว้ได้ ในระยะข้างหน้า

ตลาดยังคงมีความหวังเจรจาสันติภาพ โดยถ้าหากมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้นที่จะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ก็อาจจะช่วยทำให้ตลาดหุ้นโลกเคลื่อนไหวในทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระยะถัดไป ยังคงเป็นสิ่งที่จะมีผลต่อท่าทีของนโยบายการเงินของ Fed ที่จะมีการประชุมครั้งถัดไปในเดือนพฤษภาคม

ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับตัวในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นโลก โดยปรับขึ้นได้ 0.6% ในเดือนมีนาคม โดยผันผวนไปตามปัจจัยภายนอกข้างต้น ขณะที่ปัจจัยในประเทศ หนุนโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น และกระแสเงินลงทุนไหลเข้าจากต่างชาติ โดยมีซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท

ด้านผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 มีแนวโน้มดีขึ้น QoQ และ YoY ขณะที่แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะข้างหน้า จะช่วยหนุนการเศรษฐกิจในประเทศได้ อย่างไรก็ดี ตลาดอาจมี Upside จำกัดในช่วงสั้นจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีโมเมนตัมการเติบโตที่ชะลอลง และแนวโน้มความเข้มงวดทางการเงินโลก โดยแม้ว่าตลาดจะได้รับรู้และอยู่ในคาดการณ์ของตลาดไปมากแล้ว แต่ก็เป็นปัจจัยที่กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งทำให้การลงทุนจะต้องมีความ Selective มากขึ้น

กลยุทธ์การลงทุน เน้นลงทุนหุ้นหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการดี และได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไม่มาก เช่น หุ้นที่มีความสามารถในการปรับราคา หรือ หุ้นคุณภาพที่มีความต้านทานต่อภาวะเศรษฐกิจ