เงินเฟ้อพุ่ง ปรับพอร์ตกองทุนอย่างไรให้เหมาะสม

เงินเฟ้อพุ่ง ปรับพอร์ตกองทุนอย่างไรให้เหมาะสม

สรุปความ

เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ในภาวะที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ส่งผลมาตั้งแต่ปี 2021 หลังจากที่เงินเฟ้อค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้น จากในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดอยู่ในระดับที่ต่ำมาก หลายๆ ประเทศมีการเปิดเมือง ทำให้เศรษฐกิจกลับมา ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้น หลายๆ ประเทศก็ตัดสินใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยไม่ต้องการให้กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ

แต่การขึ้นดอกเบี้ยหลายๆ ครั้ง ส่งผลกระทบต่อตลาดทุน ทำให้นักลงทุนจำนวนมากมีความกังวล โดยเฉพาะนักลงทุนที่ลงทุนมาช่วงก่อนหน้านั้นแล้วและมีกำไรอยู่ก็เลือกที่จะลดความเสี่ยง โดยการขายหุ้นบางส่วนที่ยังมีกำไรแล้วก็ย้ายไปตลาดตราสารหนี้ หรือว่าปรับสัดส่วนการลงทุนต่างๆ เป็นเรื่องปกติ

ทั้งนี้ มีคำถามเข้ามาว่า ในภาวะที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญเช่นนี้ มีการลงทุนแบบไหนที่น่าสนใจบ้าง หรือเราไม่ควรลงทุนหุ้นมาก ควรจะย้ายไปลงทุนในตราสารหนี้หรือย้ายไปในส่วนอื่นดี

ในแง่ของการลงทุน การกำหนดสัดส่วนการลงทุน คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

หากเราตั้งใจว่าจะลงทุนในตราสารทุน เช่น หุ้น หรือ กองทุนหุ้น ในสัดส่วนเท่าไหร่ ลงทุนในตราสารหนี้ หรือเงินฝากรวมกันเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ นี่คือสัดส่วนสำคัญที่ควรจะรักษาเอาไว้

ในส่วนของหุ้น ถ้ามีความกังวลใจ ก็ลองพิจารณาหุ้นบางกลุ่มได้ โดยจะมีหุ้นบางกลุ่มที่มีลักษณะเป็นหุ้นเชิงรับ (defensive stock) หรือเป็นหุ้นที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็น defensive stock เพียงอย่างเดียว โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบหรือการทำธุรกิจนั้นๆ

ทั้งนี้มี 2 กลุ่มหุ้นที่มีความน่าสนใจ เป็นเมกะเทรนด์ที่ BBLAM ยังติดตาม รวมทั้งแนะนำกับผู้ลงทุนอยู่

1.กลุ่มเทคโนโลยี

ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีถูกเทขายพร้อมความกังวลเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว (develop market) ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ทำให้นักลงทุนจำนวนมากลดพอร์ตเพื่อรอดูสถานการณ์ ก็ทำให้กลุ่มเทคโนโลยีที่ขึ้นมานาน แล้วก็เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาถูกเทขาย ทำให้มูลค่าลดลงมามาก

ปัจจุบันมูลค่าของบริษัทเทคโนโลยีที่น่าสนใจเหล่านี้ กลับมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ มูลค่า (valuation) ที่เกิดขึ้น จูงใจต่อการลงทุนมาก แล้วถ้ามองในมุมของความเป็นบริษัทเทคโนโลยี จะพบว่ากิจการเหล่านี้สามารถปรับตัว และขึ้นราคา โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากนัก
ยกตัวอย่าง สมมติถ้าเราดูความบันเทิงออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นฟังเพลง ดูซีรีย์ ดูภาพยนตร์ ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เชื่อมต่อผ่านสมาร์ทโฟน หรือจอโทรทัศน์ที่เชื่อมโยงผ่านระบบ ถ้าสมมติมีการปรับขึ้นราคาค่าบริการจะยังใช้อยู่หรือไม่ คำตอบก็คือยังใช้อยู่ เพราะว่าเป็นความเคยชินของเรา

หรือในแง่ธุรกิจ การประกอบกิจการส่วนตัว การใช้ชีวิตส่วนตัว สมมติเราใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์อยู่ แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น สิ่งของขึ้นราคา โปรแกรมเหล่านี้ขึ้นราคา เราจะยังใช้อยู่หรือไม่ หรือจะเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมอื่น ซึ่งเราก็อาจจะยังใช้อยู่ เพราะไม่อยากเปลี่ยนโปรแกรม ไม่อยากเรียนรู้การใช้งานใหม่ โดยเฉพาะปัจจุบันที่โปรแกรมต่างๆ อยู่บนออนไลน์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าสมัยก่อนมาก แต่ต้นทุนการเปลี่ยนจะสูงกว่า ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเป็นกลุ่มที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ รับผลกระทบจากเงินเฟ้อในขอบเขตจำกัด เพราะสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคก็ยังยินยอมจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมได้

นี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้กลุ่มเทคโนโลยี กลับมาเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกองทุน B-INNOTECH ของ BBLAM ที่ให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐาน เทคโนโลยีที่มีความสำคัญ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ อาจเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กก็ได้

B-INNOTECH เป็นกองทุนที่บริหารจัดการเชิงรุก (Active Fund) ซึ่งผู้จัดการจะเลือกดูกิจการ ซึ่งอีกกิจการที่น่าสนใจและ B-INNOTECH มุ่งเน้นอยู่ก็คือ กิจการที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต และสามารถต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ดี ก็คือ บริษัทในกลุ่มคลาวด์ ซึ่งเป็นบริการที่มีความจำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว การทำธุรกิจ หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม

2.หุ้นโครงสร้างพื้นฐาน

เป็นอีกกลุ่มที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว นั่นก็คือหุ้นบริการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นลักษณะของ defensive stock โดยบริษัทที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีรายได้สม่ำเสมอ แล้วก็พร้อมที่จะปรับราคาขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการน้ำ ไฟฟ้า การเดินทาง ระบบทางด่วนต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว การลดลงของการใช้บริการต่างๆ ไม่สามารถลดลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้บริษัทขาดรายได้ และการแข่งขันของกิจการค่อนข้างน้อย ลูกค้าไม่ได้มีทางเลือกมากมาย

เพราะฉะนั้นลักษณะการลงทุนในหุ้น defensive stock อย่างกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ที่ B-GLOB-INFRA ลงทุนอยู่ ก็มีความน่าสนใจ แล้วก็เราอาจจะไม่ต้องกังวลมากนักถ้าเกิดสถานการณ์ที่มีเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ในสัดส่วนที่เราจะบริหารจัดการระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้อยู่นั้น ส่วนของหุ้น เราควรพิจารณาดูว่า จะปรับสัดส่วนหุ้นบางส่วนมาถือหุ้นเหล่านี้ไว้หรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นส่วนที่จะช่วยบริหารไม่ให้พอร์ตส่วนของหุ้นมีความเสี่ยงมากเกินไป หรือลดความวิตกกังวลลงได้

การบริหารพอร์ต โดยนำหุ้น defensive stock หรือหุ้นที่สามารถต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ ก็จะทำให้พอร์ตของเรามีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน