ลงทุนอย่างไรในสภาวะเงินเฟ้อสูง

ลงทุนอย่างไรในสภาวะเงินเฟ้อสูง

โดย…มทินา วัชรวราทร, CFA®

Head of Investment Strategy

BBLAM

หลังจากเห็นข่าวต่างประเทศในไตรมาสแรกของปีนี้ จะเห็นว่าทั่วโลกเราเจอศึกหนักจริงๆ เราเริ่มต้นปีด้วยความกลัวเงินเฟ้อ เรื่องธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปรยว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในทุกครั้งของการประชุม หรืออาจจะมีในบางครั้งของการประชุมที่ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 25 bps (0.25%) ก็ทำให้ตลาดกังวลและเกิดการเทขายตั้งแต่ต้นปี และตั้งแต่เดือน ก.พ. เป็นต้นมา ก็เจอเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก จนหลายคนที่ลงทุนอยู่อาจกำลังตั้งคำถามในใจกับตัวเองว่า แล้วเราจะลงทุนยังไงดี ในสภาวะที่เกิดสงคราม หรือเงินเฟ้อสูง

ประเด็นของเรื่องสงคราม ในฐานะที่เราเป็นบริษัทจัดการกองทุน ซึ่งเน้นเรื่องการลงทุนระยะยาว เราคงจะไม่แนะนำให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในน้ำมันหรือทองคำ แต่ยังแนะนำให้ลงทุนในหุ้นอยู่

ที่บอกอย่างนี้ ก็เพราะจากสถิติที่เราเห็น พบว่า ตลาดหุ้นมักจะมีปฏิกิริยาตอบรับสถานการณ์เชิงลบมากเกินไป หรือที่เรียกว่า Overreact คือพอเห็นเหตุการณ์ความขัดแย้งออกมา ก็ตกใจแล้วเทขายหุ้น แล้วพอฝุ่นหายตลบ ตั้งสติกันได้ก็จะพบว่า จริงๆ แล้วถ้าตลาดหุ้นประเทศนั้นไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไรกับสงครามโดยตรง ในที่สุดหุ้นก็จะปรับขึ้นมาได้รวดเร็ว เมื่อสถานการณ์สงบลง หรือความขัดแย้งคลี่คลายแล้ว

ตัวอย่างชัดๆ ก็อย่างเช่นดัชนีหุ้นหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น อเมริกา และญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นได้ดีหลังจากวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มมีการบุกรุก

ถ้าดูจากสถิติในอดีต เราจะพบว่าตลาดหุ้นจะใช้เวลา 20 วัน ในการปรับตัวลงไปจนถึงจุดต่ำสุดในรอบนั้น แล้วหลังจากนั้นก็จะใช้เวลา 43 วัน ในการฟื้นตัว แล้วถ้าดูเปอร์เซ็นต์ของการปรับตัว ก็พบว่า ช่วงขาลง จะลงไปประมาณ 5% และจะฟื้นขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้น เรามองว่าตลาดก็จะหันกลับไปจับตามองแกนหลักที่มีผลต่อการลงทุนระยะยาวจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่าทีของเฟด แนวโน้มเงินเฟ้อ และกำไรของบริษัทจดทะเบียน ขณะที่สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน สุดท้ายแล้วก็จะเป็นแค่ปัจจัยที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่มีนัยสำคัญกับการลงทุนระยะยาว

ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ เรามองว่าเป็นประเด็นที่ใหญ่ และสำคัญมากในโลกแห่งการลงทุน เงินเฟ้อไม่ได้สูงระดับนี้มาตั้งแต่ปี 2523 แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเรื่องห่วงโซ่การผลิต และมาจากสงครามที่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ สูงขึ้นต่อเนื่อง   

หากย้อนกลับไปในช่วงปี 2513-2523 ซึ่งเป็นช่วงที่มีสภาวะเงินเฟ้อสูง สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี คือ บริษัทโภคภัณฑ์ สินค้าประเภทที่เป็นสินทรัพย์จริงจับต้องได้ หรือ Real asset อย่างเช่น งานศิลปะ นาฬิกา ทองคำ โดยที่หุ้นโดยรวมให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ

ในส่วนการลงทุนที่เป็น Real asset ยังครอบคลุมไปถึงบริษัทที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งเป็นบริษัทที่ค่อนข้างปลอดภัย มีความผันผวนต่ำ รายได้สามารถปรับตัวขึ้นได้พร้อมเงินเฟ้อ เช่น ค่าทางด่วนที่ปรับราคาขึ้นทีละหลายๆ เปอร์เซ็นต์ หรือว่าราคาพลังงาน เช่น ราคาก๊าซ ทำให้บริษัทท่อก๊าซมีรายได้และกำไรที่ดีในสภาวะเงินเฟ้อสูงได้

นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ที่มีอำนาจในตลาด ผู้บริโภคต้องใช้บริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น Microsoft  ก็ปรับราคาค่าบริการ Microsoft Office ขึ้นไปก่อนที่เงินเฟ้อจะสูงเสียอีก หรือบริษัท Google ที่เป็นเจ้าตลาดเรื่องการโฆษณา หาคู่แข่งมาแข่งขันได้ยาก ก็สามารถปรับราคาขึ้นได้พร้อมต้นทุนที่สูงขึ้น

และสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้มีความชำนาญในการลงทุนหุ้นเอง ไม่มีเวลามานั่งดูความเปลี่ยนแปลงของตลาดบ่อยๆ BBLAM ก็จะแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนหุ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หรือหุ้นต่างประเทศ

โดยรวมแล้ว BBLAM มองว่า ระหว่างทางของการลงทุน เราอาจจะเจอปัจจัยอะไรเข้ามาทำให้จิตใจหวั่นไหว อยากจะถอดใจกลางทางบ้าง แต่หากเราทำใจให้นิ่ง มองให้ลึกและกว้าง จริงๆ แล้ว ปัจจัยนั้นอาจจะไม่ได้มีผลอะไรกับแนวโน้มระยะยาวก็ได้ เป็นแค่บททดสอบจิตใจที่ผ่านเข้ามา ก็ขอให้นักลงทุนยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง มองตรงไปที่เป้าหมายเดิมที่ตั้งใจไว้ แล้วก็จะไปถึงเส้นชัยได้ในที่สุด