Metaverse กับการก้าวสู่ Digital Commerce

Metaverse กับการก้าวสู่ Digital Commerce

โดย…ณัฐพล  ปรีชาวุฒิ

BBLAM

หลายเดือนมานี้ เราคงได้ยินกระแสของ Metaverse เริ่มเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อ Mark Zuckerberg ซีอีโอแห่งบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ได้ออกมาประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงของบริษัทครั้งใหญ่ โดยนอกจากจะเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น Meta แล้ว บริษัทยังเปลี่ยนเป้าหมายหลักเป็นการพัฒนา Metaverse อีกด้วย ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เอง จุดกระแสให้โลกหันความสนใจมาสู่ Metaverse ได้อย่างรวดเร็ว

ก่อนอื่น หากถามว่า Metaverse คืออะไร คงยากที่จะอธิบายได้ถูกต้องและครอบคลุมทั้งหมด เพราะ Metaverse ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง หรืออย่างน้อยก็ยังไม่ได้ใกล้เคียงกับที่ Mark Zuckerberg ได้ฉายภาพให้คนทั้งโลกจินตนาการไว้ แต่เท่าที่เราจะสามารถคาดหมายได้เบื้องต้น คือ Metaverse จะไม่ได้กำเนิดจากการคิดค้นเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีเดียว หากแต่เป็นการประกอบกันของหลายเทคโนโลยี อาทิ AR VR สกุลเงินคริปโต และการค้าออนโลน์ (Social Commerce) เป็นต้น ก่อให้เกิดเป็นโลกเสมือนจริง โดยเราอาจมอง Metaverse เป็นเหมือนผืนผ้าใบที่ว่างเปล่าที่ไม่เป็นแค่เพียงสถานที่ให้ธุรกิจต่างๆ เพิ่มช่องทางการขาย แต่เป็นสถานที่สำหรับตอบสนองอุปสงค์รูปแบบใหม่ๆ รวมถึงทลายข้อจำกัดต่างๆ ที่โลกในความเป็นจริงไม่สามารถตอบสนองได้

ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรมต่างเห็นตรงกันว่า Metaverse สามารถเข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติวงการได้ในหลากหลายอุตสากรรม ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและจับต้องได้มากที่สุด คือ ธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งคำว่า ‘Commerce’ หรือ ‘Shopping’ เป็นคำที่ Mark Zuckerberg กล่าวมากถึง 13 ครั้ง ในคลิปวีดีโอการเปิดตัว Metaverse ของบริษัท Meta พร้อมกับกล่าวด้วยว่า Metaverse จะเข้ามามีบทบาทในการค้าดิจิทัล (Digital Commerce) และพวกเขากำลังพัฒนา Horizon ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม VR ให้เป็นตลาดกลาง (Marketplace) สำหรับการขายสินค้าและนำเสนอสินค้าในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งคาดหวังว่าจะมีธุรกิจร้านค้าเข้ามาร่วมและก่อให้เกิดเศรษฐกิจในโลก Metaverse ในอนาคต

เมื่อเรามองไปถึงบริษัทค้าปลีกชั้นนำของโลก เราเริ่มที่จะเห็นการตื่นตัวและตอบรับการเริ่มต้นของ Metaverse บ้างแล้ว ถึงแม้ว่าการใส่ VR Headset จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ซึ่งทำให้ Metaverse ยังไม่ได้ถูกดึงศักยภาพมากเท่าที่ควร  แต่หลากหลายแบรนด์สินค้าต่างก็พร้อมตัดสินใจเริ่มต้นพัฒนาการนำเสนอสินค้าในโลกเสมือนจริงเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ อุดช่องโหว่ทางธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์สินค้า

NIKE เป็นหนึ่งในผู้นำในเรื่องการตลาดดิจิทัล จึงไม่น่าแปลกใจที่ NIKE จะเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ก้าวเข้ามาในโลกของ Metaverse โดยในช่วงต้นปี 2564 NIKE ได้สร้างการเชื่อมต่อประสบการณ์ระหว่างโลกดิจิทัลผ่านอุปกรณ์ AR กับร้านค้าที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผสมผสานระหว่างแฟชั่น สื่อบันเทิง และเกมส์ที่ล้ำสมัยเข้าด้วยกันเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้าที่มีกับร้านค้าเดิม และไม่เพียงแค่ใช้ Metaverse เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่เท่านั้น NIKE ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล หรือ NFTs ในรูปแบบของรองเท้าและสินค้าแฟชั่นดิจิทัล เพื่อทำไปสวมใส่ในตัวละครในโลกของ Metaverse ต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา NIKE ก็ได้ประกาศเปิดตัวโลก Metaverse ของตัวเองขึ้นมา ในนาม NIKELAND ซึ่งพัฒนาร่วมกับแพลตฟอร์มเกมส์ชื่อดังอย่าง Roblox โดยใน NIKELAND นี้ ผู้เล่นสามารถแต่งตัวโดยใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของ NIKE เพื่อใช้ชีวิตอยู่ในคอมมิวนิตี้ 3 มิติ และแข่งขันเล่นเกมส์เพื่อสะสมเหรียญรางวัลมาแลกเป็นสินค้าต่างๆ ของ NIKE ในร้านค้าที่ตั้งอยู่จริงในปัจจุบันหรือในระบบ E-Commerce ก็ได้

สำหรับในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ การแนะนำและบอกต่อเป็นสิ่งสำคัญมากในการส่งเสริมการขาย โดย Sephora ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องสำอางค์ชั้นนำของโลก ได้สร้างอีเว้นท์ในรูปแบบของ Metaverse ขึ้นครั้งแรกในปี 2564 โดยในงานจะแบ่งกิจกรรมออกเป็นห้องต่างๆ อาทิ ห้องสำหรับลูกค้าไว้พูดคุยทำความรู้จักและแนะนำสินค้าซึ่งกันและกัน ห้องสำหรับสอนการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญ ห้องที่ไว้สังสรรค์พูดคุยกับดาราผู้มีชื่อเสียงรวมถึง Influencer ทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงห้องสำหรับเล่นเกมส์แจกของรางวัลต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการจัดอีเวนท์ดังกล่าว นอกจากจะทำให้ Sephora ได้นำเสนอเนื้อหาในรูปแบบที่น่าสนใจมากขึ้นแล้ว ยังสามารถสร้างความผูกพันกับทางแบรนด์ได้ลึกซึ้งมากขึ้นอีกด้วย

และแบรนด์ล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮาในวงการแฟชั่นในช่วงที่ผ่านมา คือ เมื่อแบรนด์ชั้นนำอย่าง Gucci จับมือกับ Roblox จัดตั้ง Gucci Garden Space ซึ่งนอกจากการอัดแคมเปญโฆษณาต่างๆ ของแบรนด์แล้ว ยังมีการขายเสื้อผ้าดิจิทัลที่มีจำนวนจำกัดให้กับตัวละครในแพลตฟอร์ม Roblox ได้สวมใส่ ซึ่งที่น่าสนใจคือ กระเป๋า Gucci รุ่นหนึ่งในโลกเสมือนจริง มีราคาเสนอขายถึง 350,000 Robux หรือเทียบเท่า 4,115 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแพงกว่ากระเป๋ารุ่นนั้นในโลกของความจริง ซึ่งมีราคาเพียง 3,400 เหรียญเท่านั้น

ถึงแม้ว่าการใช้ชีวิตบนโลกของ Metaverse จะยังเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการ เพราะเรายังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการพัฒนา แต่เชื่อได้เลยว่า การดำเนินธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมคงจะต้องเปลี่ยนแปลงไป อย่างน้อยก็ในธุรกิจพาณิชย์ที่เราเริ่มเห็นแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์ปรับตัวและตื่นตัวเป็นอย่างมากกับ Metaverse ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ในการแข่งขันของโลก Metaverse ครั้งนี้ แบรนด์ไหนจะชิงความเป็นผู้นำและหยิบฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้มากกว่ากัน