เมื่อหุ้น FAANG ไม่ร้อนแรงเหมือนเก่า

เมื่อหุ้น FAANG ไม่ร้อนแรงเหมือนเก่า

โดย…พิชา  เลียงเจริญสิทธิ์

BBLAM

ช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่เป็นที่พูดถึงกันมากเกี่ยวกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ก็คือ การปรับตัวลงอย่างหนักภายในวันเดียวของราคาหุ้นบริษัท Meta Platforms (FB) ซึ่งก็คือ บริษัท Facebook เดิมนั่นเอง โดยราคาที่ลดลง 26% หลังการประกาศงบไตรมาส 4/2021 ของ FB ซึ่งเฉพาะหุ้นตัวนี้ตัวเดียว ทำมูลค่าตลาดหายไป 2.3 แสนล้านดอลลาร์ หรือ มากกว่า 7.5 ล้านล้านบาท ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ราคาหุ้น Netflix (NFLX) ก็เพิ่งปรับตัวลง 21% ภายในวันเดียวเช่นกัน การเติบโตที่ชะลอลงของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดจะต่อเนื่องไปอีกหลายปีนับจากนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก คาดว่า รอบขาขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาจจะได้จบไปแล้ว

หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินตัวย่อเรียกหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ว่า FAANG ซึ่งประกอบบริษัทด้วย Facebook, Amazon, Apple, Netflix, Google ซึ่งคำนี้เป็นที่นิยมกันเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว สมัยที่บริษัทเหล่านี้ยังสร้างการเติบโตของรายได้ระดับ 20-30% ต่อปี (ไม่นับ Apple ที่โตน้อยกว่านั้น) โดยหุ้นเหล่านี้นับเป็นหุ้นขนาดใหญ่ซึ่งนำการขึ้นของตลาด ทำให้กองทุนต่างๆ ต้องมีถือไว้บ้างไม่มากก็น้อย จากการเกิดโรคระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้ผู้คนต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ยิ่งทำให้การใช้บริการด้านอินเตอร์เน็ต อีคอมเมิร์ซ วีดีโอสตรีมมิ่ง พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วงประมาณ 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา การเติบโตของรายได้จากธุรกิจที่ให้บริการเหล่าก็มีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ด้วยฐานการใช้ที่สูงผิดปกติในปี 2020 ขณะที่ปี 2021 ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้แนวโน้มธุรกิจของบางบริษัทใน ‘FAANG’ ไม่ดีเหมือนเดิม ยกตัวอย่างเช่น การเติบโตของรายได้ธุรกิจออนไลน์ของ Amazon ได้ชะลอลงเหลือไม่ถึง 10% ในไตรมาส 4/2021 ซึ่งก่อนหน้าโตได้มากกว่า 30% ขณะที่ต้องแบกภาระต้นทุนขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้น ทำให้กำไรหดหายไปมาก ส่วน Netflix ก็เผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้คาดการณ์การเติบโตของยอดจำนวนผู้ใช้และรายได้ที่ชะลอลง ขณะที่ต้นทุนยังคงสูงขึ้น และบริษัทยังหาช่องทางเพิ่มรายได้จากบริการอื่นๆ ไม่ได้มาก

ด้าน Facebook นั้นดูเหมือนจะเจอปัญหาหลายด้านมากกว่าเพื่อน โดยกฎการป้องกันความเป็นส่วนตัวของ iOS นั้นทำให้รายได้ค่าโฆษณาของ Facebook ชะลอลงอย่างมาก ฐานจำนวนผู้ใช้รายเดือนที่ลดลงเป็นครั้งแรก ส่วนหนึ่งด้วยคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่เป็นที่นิยมมากกว่า เช่น Tiktok เป็นต้น และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจ ‘Metaverse’ ที่สูงมาก ขณะที่ยังรายได้จาก Metaverse ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจดั้งเดิมของบริษัท ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้บริษัทลูกค้าลดยอดใช้จ่ายด้านโฆษณาเพื่อบรรเทาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อ (ซึ่งรายได้โฆษณาของ Facebook ยังถือว่าชะลอมากกว่าแอพพลิเคชั่นอื่นๆ) จะเห็นว่า ในบรรดาบริษัท FAANG จำนวน 5 บริษัท ชะลอตัวไปแล้ว 3 บริษัท ด้าน Google และ Apple ที่ยังมีแนวโน้มที่ค่อนข้างดี ก็น่าจะชะลอตัวบ้างในปี 2022 ซึ่งเป็นปกติของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของบริษัทที่กล่าวไป ก็ได้ปรับตัวลงมามากพอสมควรแล้ว จนถือว่า เป็นหุ้นที่ ‘ไม่แพง’ ถ้าหากธุรกิจไม่ได้เลวร้ายลงกว่านี้อีกมากๆ โดยความคาดหวังของการฟื้นตัวของรายได้ยังคงมีอยู่ เช่น รายได้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ Amazon เป็นรายปีก็น่าจะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2022 หลังจากผ่านพ้นช่วงฐานสูงผิดปกติไปแล้ว และแรงกดดันด้านต้นทุนการขนส่งก็น่าจะค่อยคลี่คลายลงไป หรือ รายได้โฆษณาของ Facebook ก็อาจจะกลับมาฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2022 เช่นกัน แม้ว่ายอดจำนวนผู้ใช้จะไม่โต เพราะที่ผ่านมา ตัวผลักดันการเติบโตของรายได้ก็มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อผู้ใช้เป็นหลัก (ARPU) มากกว่าฐานจำนวนผู้ใช้อยู่แล้ว เป็นต้น ทำให้โดยภาพรวมแล้ว บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เหล่านี้ ได้เปลี่ยนจากบริษัทเติบโตเร็ว กลายเป็นบริษัทเติบโตปานกลางที่มีความแข็งแกร่ง มีจุดเด่นในการแข่งขัน และถูกซื้อขายที่ราคา ‘สมเหตุสมผล’

และไม่ใช่ว่า ทุกธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีจะชะลอตัวไปทั้งหมด ยังมีบางส่วนงานที่ยังสามารถเพิ่มรายได้โดยไม่ชะลอลงเลยแม้จะพ้นช่วงโควิดไปแล้ว เช่น ส่วนงานที่ให้บริการด้าน Cloud ซึ่งของทั้ง Amazon Google และ Microsoft ล้วนมีการเติบโตที่ดีทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่งด้วย สะท้อนว่า แนวโน้ม Digitalization ของภาคธุรกิจยังมีความต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาหุ้นของหลายบริษัทที่มีขนาดเล็กลงไป ซึ่งนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปี 2022 นี้ราคาหุ้นได้ปรับลงไปมากกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม ‘FAANG’ อย่างมาก ทั้งที่แนวโน้มธุรกิจยังดีและราคาที่ลดลงมา ได้มีส่วนเผื่อสำหรับการเติบโตทีอาจจะชะลอลงได้ไปพอสมควรแล้ว ซึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับพิจารณาเข้าลงทุนในช่วงนี้ แม้ว่า ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยจะกดดันราคาหุ้นในอุตสาหกรรมนี้ก็ตาม แต่เชื่อว่า ถึงจุดหนึ่ง นักลงทุนก็จะให้ความสำคัญกับแนวโน้มผลประกอบการมากกว่าปัจจัยด้านนโยบายการเงิน ซึ่งอดีตก็เคยมีช่วงที่ราคาหุ้นเทคโนโลยีสามารถปรับตัวขึ้นได้แม้ดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้น ถ้าหากว่าแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจยังไปได้ดี

โดยสรุป สำหรับหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ก็น่าจะผ่านพ้นช่วงของการเติบโตเร็วไปแล้ว แต่ก็จะกลายเป็นหุ้นแข็งแกร่งที่มีการเติบโตระดับปานกลาง ขณะที่หุ้นเทคโนโลยีขนาดเล็กซึ่งมีการเติบโตเร็ว เชื่อว่าในที่สุด ก็จะกลับมาได้รับความนิยมได้ใหม่ เพราะนักลงทุนที่นิยมหุ้น High growth ไม่เคยหายไปจากตลาดหุ้น