BBLAM Weekly Investment Insights 9-13 พฤษภาคม 2022

BBLAM Weekly Investment Insights 9-13 พฤษภาคม 2022

INVESTMENT INSIGHT

โลกกำลังเปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ เรื่องทำให้ตระหนักได้ว่า “เงินเฟ้อจะเป็นปัญหาของโลกนี้ไปอีกระยะเวลาหนึ่ง” การจัดพอร์ตเพื่อให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็น

คุณศิวกร มิตรสันติสุข, CFA® Investment Strategist จาก BBLAM กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเยอะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากแรงกดดันด้านการผลิตสินค้าที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในช่วงโควิด-19 ระบาด สวนทางกับความต้องการซื้อที่อัดอั้นมานาน ก็เพิ่มขึ้นแรงกว่าเดิมอีก หลายประเทศเผชิญภาวะเงินเฟ้อทำสถิติสุงสุดในรอบหลายปีในเดือนมีนาคม 2022  เช่น สหรัฐฯ ที่เงินเฟ้อสูงถึง 8.5% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 40 ปี

แม้หลายสำนักจะคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อคงจะค่อยๆ ลดลงได้ช่วงครึ่งปีหลัง แต่เราจะไม่เห็นเงินเฟ้อกลับไปต่ำเหมือนในอดีตอีกพักใหญ่ เพราะโลกเราเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Structural change) จากเดิมทั่วโลกได้ประโยชน์จากการพึ่งพากำลังการผลิตจีนที่มีราคาถูก มาวันนี้จีนก้าวเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่น่าจับตา จนสหรัฐฯ กังวล ว่า จีนจะแซงหน้า จึงตัดจีนออกจากห่วงโซ่เทคโนโลยี รวมถึงการผลิต ลดการพึ่งพาจีน จากเดิมที่ผลิตด้วยต้นทุนต่ำ จึงอาจมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าจึงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในระยะยาว

การจัดพอร์ตรับมือเรื่องของเงินเฟ้อจึงมองข้ามไปไม่ได้ พอดูว่า มีสินทรัพย์แบบไหนช่วยให้เรารับมือเงินเฟ้อได้ พบว่า หากย้อนดูข้อมูล 20 ปีย้อนหลัง ช่วงที่มีภาวะเงินเฟ้อ สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real Asset) ได้แก่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เป็นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้ดี ส่วนสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset) เช่น หุ้นหรือพันธบัตรรัฐบาล จะให้ผลตอบแทนน้อยกว่า ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง ต่างจากช่วงที่เงินเฟ้อต่ำ ที่สินทรัพย์ทางการเงินจะให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่า

ถ้าเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง และน่าจะสูงไปอีกหลายปี ดังนั้น ถ้าเราลงทุนหุ้นทั่วไปหรือตราสารหนี้อย่างเดียว อาจจะเป็นปีที่ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้ยาก โครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นหนึ่งตัวเลือกที่ดี สำหรับการลงทุนช่วงที่เงินเฟ้อสูง โดยโครงสร้างพื้นฐาน คือ สินทรัพย์ที่มีความสำคัญในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าเศรษฐกิจเป็นยังไง เราก็ต้องใช้ เช่น ไฟฟ้า ทางด่วน สนามบิน

ทั้งนี้ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน แบ่งเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ตามระดับความเสี่ยงและผลตอบแทน ดังนี้

  1. Community และ Social หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เน้นสร้างประโยชน์แก่สังคม รัฐบาลสนับสนุนกระแสเงินสดให้ธุรกิจ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่ำ แต่กำไรหรือการเติบโต ก็ไม่มาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีผลกับชีวิตของคน
  2. Regulated Assets หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนสูง รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้เอกชนลงทุน โดยเสนอผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้ เช่น เสาไฟฟ้า สายสื่อสาร หรือท่อก๊าซ เป็นต้น จุดเด่นของโครงสร้างพื้นฐานประเภทนี้ คือ ค่อนข้างปลอดภัย เพราะเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ คนก็จำเป็นต้องใช้ แถมการแข่งขันทางธุรกิจก็ค่อนข้างต่ำ เพราะปกติรัฐบาลมองความคุ้มค่าเป็นหลัก ก็อาจเปิดให้มีเอกชนลงทุนไม่กี่รายเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนและหารายได้
  3. User Pays Assets หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้ใช้เต็มใจจ่ายเอง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย เช่น รถไฟ สนามบิน หรือทางด่วน เป็นต้น โครงสร้างพื้นฐานประเภทนี้ รัฐบาลมักให้เอกชนลงทุน แล้วทำสัญญาระยะยาวเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ แต่ต่างจาก Regulated Assets ตรงที่ User Pays Assets มีโอกาสการเติบโตมากกว่า ถ้าอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เพราะคนยินดีจ่ายเพื่อใช้งานมากขึ้น แต่ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี จำนวนคนใช้ก็อาจจะลดลงได้เช่นกัน ทำให้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงในเชิงรายได้มากกว่า
  4. Competitive Assets หรือโครงสร้างพื้นฐานที่มีการแข่งขันทางธุรกิจได้มากกว่าประเภทอื่นๆ เช่น การผลิตไฟฟ้าเพื่อขายรายย่อย กลุ่มนี้ ราคาขายจะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อและขายในตลาด ช่วงไหนความต้องการซื้อมาก ก็กำไรดี ช่วงไหนความต้องการซื้อน้อย กำไรก็อาจจะได้รับผลกระทบ

เมื่อมาพิจารณาว่าทำไมโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ต้านทานเงินเฟ้อได้ ก็พบว่า ธุรกิจนี้สามารถรักษากระแสเงินสด หรือผลประกอบการได้ ในช่วงที่ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น จากคุณสมบัติเด่น 2 อย่าง คือ ความสามารถปรับขึ้นรายได้ เพราะรัฐบาลต้องจูงใจให้เอกชนอยากลงทุน ดังนั้นมักจะทำสัญญาระยะยาว โดยในสัญญาเปิดทางให้ปรับขึ้นราคาได้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เช่น เงินเฟ้อ ส่วนอีกอย่างคือ เวลาขึ้นราคาไปแล้ว ปริมาณการใช้งานก็ถูกกระทบน้อย  เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต พอดูโอกาสการลงทุนอยู่ตรงไหน ก็พบว่า มีทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศกำลังพัฒนา มีความต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก จากเมืองที่ขยายตัว และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต แม้แต่ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ยังประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม เพื่อให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ส่วนประเทศพัฒนาแล้ว ก็เน้นซ่อมแซม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเดิม โดยคาดว่า ในอนาคตประเทศพัฒนาแล้ว จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับไฟฟ้าและพลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานสะอาด ส่วนหนึ่งมาจากผลของสงครามที่ทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ตื่นตัวพัฒนาระบบพลังงาน ลดพึ่งพาการนำเข้าจากรัสเซีย ควบคู่กับการเดินหน้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ยุโรป ออกแผนพลังงาน REPowerEU ส่วนสหรัฐฯ ก็มีแผน Biden Infrastructure Plan ซึ่งคาดว่าจะใช้งบกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนพลังงานหมุนเวียน พัฒนาระบบน้ำ พัฒนาทางรถไฟ และ 5G

อีกจุดเด่นที่มีความสำคัญของหุ้นเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานคือ ความสามารถกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดมีความผันผวน การกระจายความเสี่ยง แบ่งเงินส่วนนึงไปลงทุนในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะช่วยให้พอร์ตมีความมั่นคงมากขึ้น ในช่วงตลาดผันผวน ซึ่ง BBLAM ก็มีกองทุน B-GLOB-INFRA เป็นตัวเลือกให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกอยู่

B-GLOB-INFRA จะไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก ผ่านกองทุนหลักต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว หรือที่เรียกว่า Feeder fund โดยกองทุนหลักคือ Legg Mason Clearbridge Global Infrastructure Income Fund ซึ่งบริหารโดย Clearbridge Investment บริษัทในเครือของ Franklin Templeton ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก นโยบายของกองทุนหลัก เน้นลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก เป็นบริษัทที่มีรายได้มั่นคง และมีความสำคัญในการใช้ชีวิต ซึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจของกองทุนหลัก คือ ไปลงทุนในหลายประเทศ ช่วยกระจายความเสี่ยงเรื่องการลงทุนที่กระจุกตัวแค่ประเทศเดียวได้ รวมถึงสามารถเติบโตตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกได้ด้วย

โครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนลงทุน เน้นที่ Regulated Assets และ User Pays Assets เพราะเป็นกลุ่มที่เติบโตได้ในช่วงเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ รวมถึงมีความเป็น Defensive หรือหุ้นที่มีความมั่นคง ผันผวนน้อย เพราะมีสัญญาระยะยาวกับรัฐบาล ส่วนธีมหุ้นที่กองทุนหลักสนใจ มี 5 ธีม โดย 2 ธีมแรก คือ ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากเทรนด์ลดการปล่อยคาร์บอน และธุรกิจบริการสาธารณูปโภค กลุ่มนี้ ได้แก่ บริษัทผลิตพลังงานสะอาด บริษัทสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งกองทุนจะเน้นหาบริษัทที่ราคาหุ้นยังไม่แพง และมีการจ่ายเงินปันผลที่น่าสนใจ ธีมต่อไปคือ โครงสร้างพื้นฐานที่ฟื้นตัวตามการกลับมาของเศรษฐกิจ ได้แก่ ผู้ให้บริการทางด่วนหรือสนามบิน ธีมที่ 4 คือ 5G ซึ่งบริษัทเสาสัญญาณ ก็จะได้ประโยชน์จากธีมนี้ และธีมสุดท้าย เน้นลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เพราะผู้จัดการกองทุนเชื่อว่า บริษัทจดทะเบียน น่าสนใจกว่า บริษัทที่ไม่จดทะเบียน

เมื่อดูโดยรวม หุ้นที่กองทุนหลักของ B-GLOB-INFRA ถืออยู่ มี Valuation ของหุ้นในพอร์ต 15-20 เท่า และจ่ายเงินปันผล มากกว่า 4-5% สะท้อนว่า กองทุนถือหุ้นแนว Defensive ขณะที่เมื่อดูผลการดำเนินงานในอดีต กองทุนก็เอาชนะดัชนีชี้วัดได้ แม้เจอความไม่แน่นอน โดยดัชนีชี้วัด คือ เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว G7+5.5% บ่งบอกว่า เป้าหมายของกองทุนหลักคือ พยายามสร้างผลตอบแทน 5.5% หลังหักเงินเฟ้อในทุกปี ด้วยเหตุนี้ B-GLOB-INFRA จึงเป็นกองทุนที่เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงจากการลงทุนในหุ้น แต่ปัจจุบันลงทุนในตราสารหนี้ค่อนข้างมาก แล้วสนใจลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่สู้เงินเฟ้อได้เพิ่มเติม หรืออาจเน้นลงทุนหุ้นอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่หุ้นในพอร์ตเป็นหุ้นเติบโตที่ผันผวนสูง ก็เลยอยากลดความผันผวนของพอร์ต

แนะนำกองทุน B-GLOB-INFRA

อ่าน BBLAM Weekly Investment Insights 9-13 พฤษภาคม 2022 ฉบับเต็มได้ที่

https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/bblam-investment-insights/9-13-2022