Fund Comment เมษายน 2565 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment เมษายน 2565 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือน เม.ย. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 1 ถึง 4 bps ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ถึง 72 bps สำหรับพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ณ สิ้นเดือน เม.ย. อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.85% เพิ่มขึ้น 50 bps จากสิ้นเดือนก่อน เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.89% เพิ่มขึ้น 57 bps

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ในเดือนนี้คือการส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดเร็วขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงขึ้นมาก (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. ขยายตัว 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี) โดยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค. ระบุว่าคณะกรรมการหลายท่านเห็นว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ในบางรอบการประชุมในระยะข้างหน้าอาจมีความเหมาะสมหากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond switching) ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค. นี้ ด้านนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย 7.47 พันล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น 4.4 พันล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 3.0 พันล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดอายุ 10.9 พันล้านบาท ทำให้มีเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยสุทธิ 3.4 พันล้านบาท

สำหรับผลการประชุมธนาคารกลางหลักของโลก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินตามเดิมในการประชุมวันที่ 14 เม.ย. โดยคงอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ Deposit Facility Rate ที่ -0.50% Main Refinancing Rate ที่ 0.0% และ Marginal Lending Rate ที่ 0.25% พร้อมคงแผนยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบปกติ หรือ APP ในไตรมาส 3 ตามที่ได้ประกาศไว้ในการประชุมเดือน มี.ค. ซึ่งจะเป็นการเปิดทางไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากนั้น

นอกจากนี้ ยังระบุว่าพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องมือที่มีทั้งหมดตามความเหมาะสมเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวในระดับ 2% ในระยะกลาง หลังจากอัตราเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. ขยายตัว 7.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีมติคงนโยบายการเงินตามเดิมในการประชุมวันที่ 27-28 เม.ย. เช่นเดียวกัน โดยมีมติ 8 ต่อ 1 คงเป้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ใกล้ 0% รวมทั้งคงมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ แม้อัตราเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. เร่งตัวขึ้นเป็น 1.2% และค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นจากนโยบายการเงินของญี่ปุ่นที่ผ่อนคลายเมื่อเทียบกับประเทศหลักอื่นๆ

ขณะที่ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps สู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งประกาศแผนปรับลดขนาดงบดุล (QT) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน มิ.ย. โดยเริ่มลดในอัตรา 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน และหลังจากนั้นจะปรับเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน นอกจากนี้ นาย Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการมีความเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมครั้งละ 50 bps อาจยังมีความจำเป็นในการประชุม 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ระบุถึงกรณีการปรับขึ้น 75 bps ว่าไม่ใช่สิ่งที่คณะกรรมการกำลังพิจารณาในขณะนี้

ด้านตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทย ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน เม.ย. อยู่ที่ 4.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือน มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 5.73% โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การค้าและการขนส่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ทรงตัวที่ 2.0% เท่ากับเดือน มี.ค. ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0-5.0%

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะยังทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งกองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตลอดปีนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม อาจเริ่มเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับสหรัฐฯ รวมทั้งความความแตกต่างในการดำเนินนโยบายการเงินระหว่าง ธปท. กับ Fed โดยปัจจัยหลักที่ต้องติดตามในเดือน พ.ค. นี้ ได้แก่ การทำธุรกรรม Bond switching ของ สบน. และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทย ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนพัฒนาการความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน