เลือกลงทุนตลาดไหนดี ในสภาวะดอกเบี้ยปัจจุบัน

เลือกลงทุนตลาดไหนดี ในสภาวะดอกเบี้ยปัจจุบัน

สรุปความ

เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ในเวลานี้ความกังวลเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น จะไปโฟกัสอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินฟ้อ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่ เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนสหรัฐฯ ก็มีจำนวนมาก มีการลงทุนทั้งในสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงฝั่งเอเชียด้วย

แม้แต่การลงทุนในไทย ก็มีเม็ดเงินลงทุนมาจากฝั่งตะวันตกค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลกันว่า หากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จะทำให้นักลงทุนบางส่วนเทขายหุ้นออกมา เนื่องจากบริษัทหรือกิจการต่างๆ จะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น

เมื่อดูในเชิงการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือ Asset Allocation ก็อาจจะมีการโยกเงินบางส่วนที่อยู่ในตลาดหุ้นไปลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า และได้รับผลตอบแทนขยับขึ้นมากว่าในช่วงก่อนหน้านี้

โดยภาพรวมแล้วการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ดัชนีราคาตลาดหุ้นปรับลดลง แต่ถ้าไปดูกันจริงๆ จะพบว่า เมื่อดูปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การสกัดเงินเฟ้อ หรือปัจจัยอื่น ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก หรือกลุ่มธุรกิจต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกันหมด อาจจะมีบางส่วนที่กระทบมาก บางส่วนที่กระทบน้อย หรือกิจการบางประเภทอาจจะได้ผลดีจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยซ้ำ

ขณะที่กิจการบางประเภท เมื่อเจอเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ก็ยังสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าหรือบริการให้ผู้บริโภครับภาระจ่ายแทนได้

หากเรากลับไปวิเคราะห์ที่พื้นฐาน จะพบว่า ปัจจุบันสิ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนและกังวลมากๆ มี 2 เรื่องด้วยกัน คือ

1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความขัดแย้งกับกลุ่มประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอเมริกา หรือกลุ่มประเทศที่อยู่ในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด แต่เกิดขึ้นมาแล้ว และเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม โดยสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากที่ทั้งอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมานาน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อยๆ ดีขึ้น การจับจ่ายใช้สอยภายหลังสถานการณ์โควิดในประเทศฝั่งตะวันตกคลี่คลาย ก็ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นตัวผลักดันราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนสำคัญของสินค้าและบริการต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดปัจจัยความกังวลมากขึ้นว่า เมื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วจะกระทบทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง

ถ้าเราเจาะดูตลาดหุ้นเป็นรายภูมิภาค และแยกย่อยออกมาดูเป็นรายกลุ่มธุรกิจ หรือดูเป็นธีมการลงทุน เราจะพบว่ายังมีช่องทางที่น่าสนใจ และน่าจะสะสมลงทุนได้ แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัจจัยความกังวลที่เกิดขึ้น แต่ในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มเฮลธ์แคร์ ก็เป็นส่วนที่น่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากราคาที่ปรับลดลงมามากในช่วงที่ผ่านมา และกลุ่มนี้ไม่ได้ปรับตัวจากเรื่องโควิดอย่างเดียว ในวันที่เรื่องโควิดซาลง เราก็จะพบว่า เรื่องการวิจัยค้นคว้ายา การให้บริการทางการแพทย์ในการรักษาโรคต่างๆ ส่วนอื่นก็ยังมีอยู่ และน่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิต เข้าไปยังสถานพยาบาลเพื่อรักษาหรือแก้ไขปัญหาของโรคอื่นๆ ต่อไปได้ ซึ่งนักลงทุนที่สนใจกลุ่มนี้ก็สามารถลงทุนกับ BCARE ได้

หรือว่าในฝั่งยุโรป ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับฝั่ง NATO แต่หากไปดูจริงๆ จะพบว่า ประเด็นด้านพลังงานเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หลายประเทศในยุโรป ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมพลังงานภายในประเทศตัวเอง โดยเฉพาะพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด ดังนั้นก็จะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาด อย่างเช่นกองทุน B-SIP ของ BBLAM เอง ก็มีการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ ดังนั้นก็อยู่ในกลุ่มที่น่าสนใจเวลานี้ สำหรับคนที่เลือกพิจารณาดูจากพื้นฐานของกลุ่มธุรกิจหรือธีมการลงทุนต่างๆ

ถ้าดูเป็นรายประเทศ ก็จะพบว่าฝั่งอาเซียน รวมถึงประเทศไทยด้วย ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ หากอัปเดตข้อมูลเศรษฐกิจไทย พบว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัว 2.5-3.5% ซึ่งก็สอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่มองไว้ว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 จะขยายตัว 3.4%

ปัจจัยสำคัญก็มาจากความต้องการใช้จ่ายในประเทศที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เราสังเกตด้วยตัวเราเองก็ได้ว่า ปัจจุบันคนกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า สถานที่ให้บริการต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยว เราจะพบผู้คนออกมาใช้ชีวิตกันมากขึ้น ความกังวลต่อสถานการณ์โควิดลดลง

สำหรับการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนเติบโตได้ หากเราโฟกัสไปที่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซั่นของประเทศไทย ซึ่งก็จะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปีถัดไป ก็จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเองที่จะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศไทย ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ซึ่งก็จะเป็นตัวกระตุ้นการจับจ่าย สร้างความคึกคักให้กับเศรษฐกิจไทยได้

กล่าวโดยรวม กลุ่มภูมิภาคอาเซียนก็เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ ในสถานการณ์ที่เรายังไม่แน่ใจ หรือกังวลกับความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยการลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคอาเซียนด้วยการทยอยสะสม สร้างวินัยด้วยการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA ก็จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในเวลานี้ โดยกองทุนของ BBLAM ที่ลงทุนในอาเซียน ได้แก่ B-ASEAN และ B-VIETNAM