BF Knowledge Tips: ทำยังไงดี? เมื่อพอร์ตลงทุนติดลบ

BF Knowledge Tips: ทำยังไงดี? เมื่อพอร์ตลงทุนติดลบ

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM

สำหรับคนที่กำลังลงทุนอยู่ในตอนนี้ เชื่อว่าหลายคนพอร์ตลงทุนน่าจะติดลบอยู่พอสมควร โดยเฉพาะคนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศกลุ่มเทคโนโลยี เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า หุ้นกลุ่มนี้กำลังเป็นเทรนด์ลงทุนในอนาคต และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตลงทุนของเรา โดยที่ผ่านมามีสถานการณ์โควิดเป็นตัวกระตุ้น ทำให้หุ้นกลุ่มนี้เติบโตไปอย่างก้าวกระโดด จึงทำให้หลายๆ บลจ. ออกกองทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน และแน่นอนว่านักลงทุนอย่างเราก็ไม่พลาดที่จะเข้าไปลงทุนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วง IPO ที่มีแรงจูงใจกับราคา 10 บาทต่อหน่วย ทำให้ในภาพรวมพอร์ตการลงทุนเราน่าจะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศกลุ่มเทคโนโลยีค่อนข้างมาก

ดังนั้น เมื่อนักลงทุนจำนวนหนึ่งซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยตัดสินใจทำรายการขายคืนหุ้นกลุ่มนี้เพื่อทำกำไรหลังจากที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ราคาของหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้พอร์ตลงทุนของเราติดลบไปด้วย

ในกรณีที่พอร์ตลงทุนติดลบ อย่างแรกที่ควรทำคือ ทบทวนพอร์ตลงทุนของเราในปัจจุบันว่ามีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมหรือไม่? ซึ่งในหลายๆ ครั้งเรามักจะพบว่า พอร์ตติดลบเกิดจากการที่เราจัดสัดส่วนการลงทุนที่ไม่เหมาะสม โดยมักมีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป ซึ่งถ้าอยู่ในช่วงขาขึ้น ภาพรวมของพอร์ตลงทุนก็จะกำไรมาก แต่ถ้าหากอยู่ในช่วงขาลงหรือปรับฐาน ภาพรวมของพอร์ตลงทุนก็จะขาดทุนมากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม โดยให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมถึงระยะเวลาในการลงทุน

ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนที่ได้พิจารณาพอร์ตลงทุนของตัวเองแล้วพบว่า สัดส่วนในการลงทุนมีความเหมาะสมสอดคล้องตามเป้าหมาย ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมถึงระยะเวลาในการลงทุน เอาไว้ดีอยู่แล้ว ถ้ายังสามารถลงทุนต่อไปได้ ในลำดับถัดไปก็อยากแนะนำให้ปรับลดต้นทุนของราคาด้วยวิธีการ DCA ซึ่งเป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย โดยอาจจะตั้งซื้ออัตโนมัติรายเดือนหรือเลือกลงทุนเป็นรายครั้งอย่างสม่ำเสมอก็ได้

การทยอยลงทุนในช่วงที่ราคาหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับลดลงมาอย่างในตอนนี้ จะช่วยให้เราสามารถสะสมหุ้น หรือหน่วยลงทุนได้ในราคาที่ไม่สูงมาก และสามารถนำไปเฉลี่ยกับราคาต้นทุนที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ ทำให้ต้นทุนราคาในภาพรวมของเราปรับลดลง และมีโอกาสกลับมาได้กำไรได้ง่ายขึ้น เมื่อตลาดหุ้นเทคโนโลยีกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาอยู่พอสมควร แม้จะไม่เร็วมากแต่เชื่อว่าต้องกลับมาอย่างแน่นอน เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าเทคโนโลยี จะเป็นตัวขับเคลื่อนโลกต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่พิจารณาพอร์ตลงทุนของตัวเองแล้วพบว่า “ไปต่อไม่ไหว” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับลดสัดส่วนการลงทุน หรือขายคืนออกมา เพื่อลดขาดทุน (Cut Loss) และมองหาการลงทุนอื่นที่เหมาะสมต่อไป