ญี่ปุ่นเริ่มเห็นเงินเฟ้อบ้างแล้ว แต่เอกชนมองว่าเป็นการเพิ่มจากต้นทุน ไม่ใช่ความต้องการผู้บริโภค

ญี่ปุ่นเริ่มเห็นเงินเฟ้อบ้างแล้ว แต่เอกชนมองว่าเป็นการเพิ่มจากต้นทุน ไม่ใช่ความต้องการผู้บริโภค

Ernie Higa ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Higa Industries ผู้ประกอบการรุ่นใหญ่ออกมาให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหลักของญี่ปุ่นอาจจะไปถึงเป้าหมาย 2% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นตั้งไว้ได้ แต่คงยังไม่ใช่เวลานี้ โดยเมื่อพูดถึงเงินเฟ้อ ก็คล้ายๆ กับไขมันส่วนเกิน ซึ่งมีทั้งไขมันที่ดีและไขมันที่ไม่ดี จากประสบการณ์ในเวลานี้เงินเฟ้อในญี่ปุ่นก็เหมือนไขมันส่วนเกินที่ไม่ดี

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคในกรุงโตเกียว ที่รวมอาหารสดและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนพฤษภาคม 2022 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของรัฐบาล

แม้ตัวเลขนี้จะเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ 2% แต่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญในด้านอาหารสดและราคาพลังงาน แต่ถ้าไม่นับรวมต้นทุนที่มาจากอาหารสดและราคาพลังงาน ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นแค่ 0.9% เท่านั้น

Higa กล่าวว่า เป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้น เน้นไปที่เงินเฟ้อซึ่งมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เมื่อค่าจ้างเพิ่มขึ้นก็จะทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตาม แต่ปัจจุบันสิ่งที่ประเทศกำลังเผชิญคือ เงินเฟ้อที่มาจากฝั่งต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยราคาเพิ่มขึ้นแต่ค่าจ้างไม่ได้ขึ้นตาม ซึ่งบรรดาผู้ค้าปลีกถูกบีบคั้นอยู่ต้องกดต้นทุนเอาไว้ ทำให้เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้วก็ยังไม่สามารถส่งผ่านไปให้ผู้บริโภคได้

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศเศรษฐกิจหลักเพียงแห่งเดียวที่เผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุน ประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ ก็เผชิญกับสถานการณ์ต้นทุนการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก รักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอังกฤษ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ

ที่มา : CNBC