BBLAM Monthly Economic Review – เงินเฟ้อและนโยบายการเงิน ยังเป็นประเด็นใหญ่ของยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย

สรุปความสัมภาษณ์

ฐนิตา ตุมราศวิน
ทีม Economic Research
BBLAM

อัปเดตเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยในเดือนมิถุนายน 2022 ยังคงเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายการเงินที่ต่อเนื่องมาจากเดือนพฤษภาคม

เริ่มที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยนับตั้งแต่ปี 2011 และอัตราเงินเฟ้อก็ไม่เคยพุ่งขึ้นแตะเป้าหมายที่ 2% เลย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุดเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ก็ปรับขึ้นไปแตะระดับ 8.1% สูงกว่าเป้าหมายถึง 4 เท่า ดังนั้นในการประชุม ECB ล่าสุดเดือนมิถุยายน จึงมีการส่งสัญญาณชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ว่า ECB จะยุติการเข้าซื้อพันธบัตรตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 เป็นต้นไป

สำหรับการประชุม ECB วันที่ 21 กรกฎาคม 2022 ทาง ECB จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือเพิ่มจาก -0.5% เป็น -0.25% และจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยายน 2022 โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจปรับเพิ่มขึ้นไป 0.50% แต่ ณ เวลานี้ BBLAM มองว่า อาจจะปรับขึ้น 0.25% ซึ่งก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของ ECB กลับมาอยู่ที่ 0% หลังจากที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบต่อเนื่องมา 8 ปี เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อในช่วงนี้

ECB มองว่า ในช่วงนี้ เงินเฟ้อขยายตัวเป็นวงกว้างในสินค้าหลายประเภทมากขึ้น และหลังจากเดือนกันยายน คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ตลาดการเงิน

ทั้งนี้ BBLAM มองว่า ตลาดน่าจะประเมินปัจจัยในราคาหุ้น (price in) ไปมากแล้ว เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB หากเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ก็อาจทำให้ ECB ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างที่ตลาดคาดในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราได้รับสัญญาณจาก ECB ชัดเจนคือ เดือนกรกฎาคมนี้ น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

ส่วนธนาคารกลางอินเดีย (RBI) เป็นธนาคารกลางอีกแห่งที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเช่นกัน และปรับต่อเนื่อง โดยในการประชุมเดือนมิถุนายน 2022 RBI ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ไปอยู่ที่ 4.9% หลังจากที่ต้นเดือนพฤษภาคม 2022 RBI ก็มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 0.4% เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับที่ ECB ทำ

RBI มองว่า เงินเฟ้อเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นเช่นกัน และให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาเสถียรภาพด้านราคา มาก่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากภาพเศรษฐกิจอินเดียในปัจจุบันก็ยังไม่ได้ชะลอตัวรุนแรงมากนัก และยังได้อานิสงส์จากการกลับมาเปิดประเทศหลังโควิดอยู่ โดย GDP ในไตรมาสแรกของอินเดียที่เพิ่งประกาศออกมา ก็เติบโตถึง 4.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2021

ในช่วงครึ่งปีหลัง อินเดียก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่สิ่งที่คล้ายกันของ RBI และ ECB คือ มีการ Front Load คือ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ เพราะในช่วงนี้เศรษฐกิจยังดูสามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

ในระยะสั้น เรามองว่า จากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น กำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงเงินทุนไหลออก จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หันไปใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ก็ทำให้การลงทุนในตลาดยุโรป รวมทั้งอินเดีย ในระยะสั้นนี้ นักลงทุนยังต้องมีความระมัดระวังอยู่

อีกตลาดคือ ญี่ปุ่น มีความแตกต่างไปจากยูโรโซนและอินเดีย โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่มีความเหมาะสมที่จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว เพราะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากโควิด ยังไม่พร้อมรองรับการกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว อย่างที่ ECB หรือ RBI ทำ

ฉะนั้นเราจึงได้เห็นเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และอาจจะมีการอ่อนค่าไปแตะระดับ 140-150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งจะไปใกล้เคียงกับในช่วง 20 ปีที่แล้ว โดยในช่วงปี 1997 ที่มีวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย เงินเยนอ่อนค่าไปแตะระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐเลย แต่เรามองว่า ในระยะถัดไป เงินเยนคงจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐก่อน

หากเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง ก็จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เพราะเหรียญมีสองด้าน แม้เงินเยนอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่งออก เช่น กลุ่มยานยนต์ ที่อาจจะทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น แต่ผลเสียในภาคธุรกิจคือ กลุ่มค้าปลีก หรือธุรกิจที่ต้องมีการนำเข้าสินค้า ก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจากเงินเยนที่อ่อนค่า ซึ่งส่วนใหญ่ถ้ามองในภาพรวมเศรษฐกิจ ก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่า โดยเฉพาะถ้าเงินเยนอ่อนค่าเร็วเกินไป

สิ่งที่เรามองว่าทำไม BoJ ยังไม่รีบปรับนโยบายการเงินคือ ส่วนหนึ่งมาจากอัตราเงินเฟ้อ ที่เงินเฟ้อเดือนเมษายน 2022 แตะระดับ 2.1% อยู่ใกล้เป้าหมายของ BoJ ก็จริง แต่ BoJ มองว่า เงินเฟ้อไม่สามารถคงอยู่ในระดับนี้ได้ ในระยะกลาง เพราะค่าจ้างแรงงานในญี่ปุ่นก็ยังไม่เติบโต ดังนั้นการที่เงินเฟ้อไปแตะระดับ 2% อาจเป็นแค่เรื่องชั่วคราวมากนัก จึงยังไม่มีความกังวลเรื่องนี้นัก

แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อในช่วงครึ่งปีหลัง คือ ผลกระทบของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น หากเวลานี้ไปดูราคาสินค้าอาหาร ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีหลายรายการที่ปรับขึ้นราคา ดังนั้นก็ต้องดูว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภคของญี่ปุ่นแค่ไหน

อีกประเด็นคือผู้ว่าการ BoJ Haruhiko Kuroda จะหมดสมัยในช่วงเดือนเมษายน 2023 ซึ่งก็ต้องดูผลของ 2 ปัจจัยคือ ถ้าการบริโภคได้รับผลกระทบมาก แล้วถ้าผู้ว่า BoJ คนใหม่ที่จะมาทำหน้าที่แทน Haruhiko Kuroda มีความกังวลกับการอ่อนค่าของเงินเยน และประเด็นเงินเฟ้อมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ทิศทางนโยบายการเงินของ BoJ เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ดังนั้นก็เป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามใกล้ชิด แต่ ณ เวลานี้จนถึงปลายปี มองว่า BoJ จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไร

สำหรับการลงทุนในญี่ปุ่น โดยปกติเงินเยนที่ปรับขึ้น จะส่งผลบวกต่อดัชนี Nikkei แต่ถ้าเงินเยนอ่อนค่าลงรวดเร็ว แล้ว Haruhiko Kuroda ผู้ว่า BoJ มีการออกมาแสดงความคิดเห็นเกียวกับเงินเยนที่อ่อนค่าลงเร็ว ก็อาจจะทำให้ตลาดมีการปรับฐานลงมาได้

สรุปภาพรวมเดือนมิถุนายน คือ ECB ส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม และกันยายน ด้านอินเดียก็ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.5% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2023 เป็นปัจจัยกดดันตลาดในช่วงนี้ ส่วนญี่ปุ่น ทาง BoJ คงยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง ทำให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง  และมีโอกาสทะลุ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้ ต้องรอดูว่าการที่เงินเยนอ่อนค่าจะมีผลทำให้ BoJ ต้องปรับมาตรการการเงินหรือไม่