รัสเซียผิดนัดชำระหนี้ต่างชาติครั้งแรกในรอบ 104 ปี

รัสเซียผิดนัดชำระหนี้ต่างชาติครั้งแรกในรอบ 104 ปี

รัสเซียผิดนัดชำระพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินต่างชาติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี  พ.ศ.2461 หลังจากไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายในเส้นตายวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา  อย่างไรก็ดี รมต.คลัง รัสเซีย ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นการผิดนัดชำระหนี้อย่างแท้จริง เพราะรัสเซียมีเงินและต้องการชำระ แต่ชาติตะวันตกออกมาตรการด่วนที่ยับยั้งการชำระเงิน ระบุสถานการณ์ทั้งหมดเป็น “เรื่องตลก”

รัสเซียมีเงินที่จะชำระหนี้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเต็มใจที่จะชำระ แต่มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกทำให้เป็นไปไม่ได้ที่รัสเซียจะชำระเงินแก่เจ้าหนี้ระหว่างประเทศ

การชำระดอกเบี้ย 100 ล้านดอลลาร์ได้ครบกำหนดชำระเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมและรัสเซียกล่าวว่า ได้ส่งเงินให้กับ “ยูโรเคลียร์” ซึ่งเป็นธนาคารที่จะกระจายการชำระเงินให้แก่นักลงทุนแล้ว

อย่างไรก็ดี จากรายงานของบลูมเบิร์ก การชำระเงินดังกล่าวได้เกิดการติดขัดและเจ้าหนี้หลายคนไม่ได้รับเงิน

ในขณะเดียวกัน จากการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ผู้ถือพันธบัตรรัสเซียสกุลเงินยูโรที่เป็นชาวไต้หวัน ไม่ได้รับการชำระดอกเบี้ย

เงินที่ไม่ได้ถึงมือเจ้าหนี้ภายใน 30 วันหลังจากที่ครบกำหนด ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และยูโรเคลียร์ไม่ได้บอกว่ามีการขัดขวางการชำระเงินหรือไม่ แต่กล่าวว่า ทำตามมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด

รัสเซียผิดนัดชำระหนี้ต่างชาติครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2461 ในช่วงที่มีการปฏิวัติบอลเชวิคเมื่อวลาดิมีร์ เลนิน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ ไม่ยอมชำระหนี้ของราชอาณาจักรรัสเซีย

ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ทุกประเภทครั้งสุดท้ายของรัสเซียเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 เมื่อวิกฤตเงินรูเบิลสั่นคลอนประเทศเมื่อสิ้นสุดการปกครองของบอริส เยลต์ซิน ในขณะนั้น รัฐบาลมอสโกไม่สามารถชำระหนี้พันธบัตรภายในประเทศ แต่ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ

ดูเหมือนว่า รัสเซียไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้นับตั้งแต่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรครั้งแรกหลังจากที่บุกยูเครน  มาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้นจำกัดรัสเซียที่จะเข้าถึงเครือข่ายธนาคารระหว่างประเทศที่จะทำการชำระเงินจากรัสเซียให้แก่นักลงทุนทั่วโลก

รัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า ต้องการชำระหนี้ทั้งหมดตรงเวลา และจนถึงขณะนี้ได้ประสบความสำเร็จในการชำระหนี้ในรูปเงินดอลลาร์และยูโรประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นหนี้นอกประเทศ

การผิดนัดชำระหนี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะไม่ยกเว้นเป็นพิเศษให้อีกที่จะอนุญาตให้นักลงทุนได้รับการชำระดอกเบี้ยจากรัสเซีย หลังจากที่หมดอายุลงในวันที่ 25 พฤษภาคม

ในขณะนี้ดูเหมือนว่า รัฐบาลเครมลินได้ยอมรับโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน โดยได้ออกกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ให้การชำระหนี้ในอนาคตทั้งหมดจะต้องเป็นเงินรูเบิล และต้องผ่าน เนชันแนล เซ็ตเทิลเมนต์ ดีโพสิตทอรี แม้ว่าสัญญาระบุว่า ควรชำระในรูปเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ

สำนักข่าว อาร์ไอเอ โนโวสตี  รายงานว่า แอนตัน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัสเซีย ยอมรับว่า นักลงทุนต่างชาติจะไม่ได้รับการชำระเงินได้ เนื่องจากมีเหตุผล 2 ข้อคือ หนี่ง มีการห้ามดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับรัสเซียผ่านโครงสร้างพื้นฐานของต่างชาติ เช่น ธนาคารตัวแทน ระบบการชำระเงิน และการหักบัญชีและเงินฝาก และสอง มีการห้ามเป็นการเร่งด่วนไม่ให้นักลงทุนต่างชาติรับการชำระเงินจากรัสเซีย

เนื่องจากรัสเซียต้องการจ่ายและมีเงินมากที่จะชำระหนี้ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัสเซียจึงไม่ยอมรับว่าเงินจำนวนนี้เป็นการผิดนัดชำระหนี้ที่แท้จริง และกล่าวว่า สถานการณ์ทั้งหมดเป็น “เรื่องตลก”

แม้ว่าการผิดนัดชำระหนี้เป็นผลกระทบเชิงสัญลักษณ์ แต่จะมีผลตามมาในเชิงปฏิบัติโดยทันทีเล็กน้อยแก่รัสเซีย  ประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้มักพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะกู้ยืมเงินอีก

มาตรการคว่ำบาตรได้ห้ามรัสเซียกู้เงินในตลาดตะวันตกแล้ว และมีรายงานว่า รัสเซียมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อวันจากการส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัสเซียกล่าวเมื่อเดือนเมษายน ว่า รัสเซียไม่มีแผนที่จะกู้เงินเพิ่ม

การประกาศผิดนัดชำระหนี้อย่างเป็นทางการมักจะมาจากบริษัทจัดอันดับ แต่การคว่ำบาตรของยุโรปได้ทำให้บริษัทจัดอันดับเลิกจัดอันดับสถาบันของรัสเซีย

จากเอกสารพันธบัตรที่พ้นระยะเวลาผ่อนผันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ถือพันธบัตรสามารถเรียกร้องให้ตัวเองได้ หากเจ้าของพันธบัตรที่คงค้างชำระ 25% ยอมรับว่าได้เกิด “เหตุการณ์ผิดนัดชำระ” แต่เนื่องจากเส้นตายสุดท้ายได้ผ่านพ้นไปแล้ว มีการจับตามองว่า นักลงทุนจะทำอะไรต่อไป พวกเขาไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยทันที และอาจเลือกที่จะจับตาความคืบหน้าของสงคราม โดยหวังว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการลงโทษในที่สุด

ที่มา: บีบีซี