‘เยนอ่อน’ กดดันธุรกิจญี่ปุ่น เปิดช่องต่างชาติเข้าซื้อกิจการ

‘เยนอ่อน’ กดดันธุรกิจญี่ปุ่น เปิดช่องต่างชาติเข้าซื้อกิจการ

การอ่อนค่าของ “เงินเยน” ที่ร่วงลงต่ำสุดที่ 136.455 เยน/ ดอลลาร์สหรัฐ แตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี ทำให้นักท่องเที่ยวที่หลงรักญี่ปุ่นต่างแห่กันเข้าเก็บสะสม แต่เงินเยนที่อ่อนค่าก็กดดันผู้ประกอบการและชาวญี่ปุ่นจากผลกระทบจากต้นทุนพลังงานและสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น

รอยเตอร์ส รายงานว่า เงินเยนของญี่ปุ่นยังคงแกว่งค่าอยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่ร่วงลงต่ำสุดที่ 136.455 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultra-loose monetary policy) ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ยังคงมุ่งมั่นรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ต้องการให้เกิดการขยายตัวของค่าแรงอย่างแข็งแกร่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

แม้ว่าการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินเยน อาจส่งผลให้บริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นประสบความยากลำบากในการวางแผนทางธุรกิจ แต่บีโอเจ มองว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสมต่อการกระตุ้นการเติบโตของค่าแรง ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว และเป็นปัจจัยที่หนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การสำรวจของ “โตเกียว โชโกะ รีเสิร์ช” ผู้ให้บริการข้อมูลธุรกิจญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บริษัทญี่ปุ่นถึง 46.7% จากบริษัทที่ร่วมให้ข้อมูลทั้งหมด 2,649 บริษัท ระบุว่า ค่าเงินเยนที่หดตัวลงส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัท ขณะที่บริษัทราว 21.7% ระบุว่า มีผลกระทบทั้งลบและบวก ส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ มีอยู่ประมาณ 28.5% และมีบริษัทญี่ปุ่นเพียง 3% เท่านั้นที่ระบุว่า ได้รับผลเชิงบวกจากสถานการณ์ เงินเยนอ่อนค่า

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เงินเยนอ่อนค่าอย่างมาก นอกจากจะต้องแบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นแล้ว การขึ้นราคาสินค้ายังส่งผลกระทบต่อยอดขายและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ขณะที่ “เคนทาโร โอคุดะ” ซีอีโอ ของโนมูระ โฮลดิงส์ ให้สัมภาษณ์ กับไฟแนนเชียล ไทมส์ ว่า เงินเยนที่อ่อนค่าจะผลักดันให้เกิดกระแสการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) จากนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเข้าถือครองสินทรัพย์ในญี่ปุ่นที่มีมูลค่าลดลงราว 20% เมื่อเปลี่ยนเป็นดอลลาร์สหรัฐเทียบกับปี 2021

รวมทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้ทุนต่างชาติเริ่มแสวงหาอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นมากขึ้น ขณะที่กองทุนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มไพรเวต อีควิตี้ที่เคยเน้นการลงทุนในจีน อาจหันมามองหาการลงทุนในญี่ปุ่น เพื่อเก็งกำไรจากเงินเยนที่อาจแข็งค่าขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนยังจะนำไปสู่กลยุทธ์การกู้ยืมในตลาดเงินตราต่างประเทศ (FX Market) โดยการกู้ยืมเงินเยนที่อ่อนค่าแล้วนำมาลงทุนในสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า อย่างดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือดอลลาร์แคนาดา ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้มากกว่า 13% ตามข้อมูลของบริษัทตลาดการเงิน “รีฟินิทิฟ” (Refinitiv) ทั้งนี้ เงินเยนยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานของนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า “เจพี มอร์แกน” ผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลกได้ปรับคาดการณ์ว่า เงินเยนอาจอ่อนค่าลงไปได้ถึง 140 เยน/ดอลลาร์สหรัฐในระยะอันใกล้ หากยังคงไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินใดๆ

 

ที่มา: รอยเตอร์ส