BBLAM Weekly Investment Insights 12-16 กันยายน 2022

BBLAM Weekly Investment Insights 12-16 กันยายน 2022

2022 – Opportunities are never lost

INVESTMENT STRATEGY

ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist จาก BBLAM อธิบายถึงประเด็นที่นักลงทุนถามบ่อยในเวลานี้ คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ Recession หรือเศรษฐกิจถดถอยหรือยัง และแบบนี้เข้าลงทุนได้ไหม หรือว่า ควรรอ สัปดาห์นี้ ดร.มิ่งขวัญมีประเด็นมาชวนคิดหาคำตอบกัน

เศรษฐกิจจริงสหรัฐฯ ดูไม่ออกว่าถดถอยจริงหรือไม่

ดร.มิ่งขวัญ ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปกคลุมด้วยแรงอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่ผ่าน ๆ มา ทำให้เรายังมองไม่เห็นว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯจริง ๆ เป็นอย่างไร ถดถอยหรือเปล่า 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ไม่เคยรู้เลยว่าเศรษฐกิจจริงสหรัฐฯเป็นอย่างไร เพราะตั้งแต่ช่วงนั้น สหรัฐฯดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่ ที่เรียกว่า Quantitative easing monetary policy หรือในภาษาวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่าเป็น Unconventional คือ การดำเนินนโยบายการเงินแบบไม่ปกติ การใช้นโยบายในครั้งนั้นทำให้ไม่ได้เห็นภาพเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯอีกเลย เนื่องจากเศรษฐกิจถูกเติมเต็มด้วยสิ่งที่ธนาคารกลางใส่ให้  และดูเหมือนเศรษฐกิจชอบสภาพคล่องแบบนั้น

เปรียบง่ายๆ เหมือนคนเป็นเบาหวานซึ่งจริงๆ แล้วควรคุมอาหาร แต่หมอบอกว่าไม่ต้องคุมอาหาร จะใช้วิธีฉีดอินซูลินให้แทน ทำให้คนไข้ที่เป็นเบาหวานยังรับประทานอาหารแบบเดิม อยากรับประทานขาหมู ก็ทาน ซึ่งการที่หมอฉีดอินซูลินให้ ทำให้คนเป็นเบาหวานไม่ทราบว่าจริงๆ ร่างกายไม่ควรรับประทานอาหารแบบเดิม การที่ยังดำเนินชีวิตต่อได้แบบนี้ เพราะมีอินซูลินฉีดให้ เหมือนเศรษฐกิจที่ได้ยาจากธนาคารกลางทำให้ไม่รู้ว่าภาพจริงเป็นอย่างไร  

ปัจจุบันเมื่อหมอต้องการลดการฉีดอินซูลินลง ก็ทำให้คนไข้เป็นเบาหวานที่รู้ตัวว่าคราวนี้ต้องลดอาหารบางอย่างแล้วจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ต้องลด ก็มีอาการกระวนกระวาย ซึ่งก็เหมือนกับเฟด ที่กลับมาใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ก็ ทำให้คนสหรัฐฯกลัวว่าเศรษฐกิจจะเกิด Recession

จากตัวอย่างที่ยกมาก็ทำให้เห็นว่า ถ้าถามว่า “สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ recession แล้วหรือยัง คำตอบก็ต้องบอกว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ มันโดน clouded by liquidity จนเราไม่รู้เลยว่าจริง ๆ แล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตอนนี้อยู่ตรงไหน”

หรือว่ามันอาจจะเกิดหรือไม่เกิด Recession ด้วยซ้ำนะ เพียงแต่ว่าอินซูลินพอได้น้อยลง คนไข้ก็ร้องขอให้โปรดฉีดอินซูลินให้เท่าเดิมเถอะ คนไข้อยู่ไม่ได้หรอก เอ็นจอยการกิน การอยู่แบบนี้มาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว

แต่ถ้าจะคั้นกันจริงๆ ก็ต้องนำข้อมูลเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ประกาศมาดู ซึ่งก็จะ “ยังไม่เกิด Recession” แต่ต้องไม่ลืมว่า ทุกวันนี้ ผู้กำหนดนโยบายต่างก็นำข้อมูลในอดีต เพื่อมาบอกว่าจะทำอะไรสำหรับในอนาคต หรือ “You forward looking base on backward looking data” อย่างไรก็ตามก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะข้อมูลที่มีในมือเป็นข้อมูลในอดีต

เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่สุด และเอาเงินเฟ้อลงไม่สุดเช่นกัน

เมื่อมองไปที่ท่าทีของ คุณเจอโรม โพเวลล์ ประธาน Fed ที่ออกมาส่งสัญญาณมากขึ้นในเชิงขู่ เช่น พูดบนเวทีในงานสัมมนาวิชาการประจำปีแจ็คสัน โฮล ว่า อาจเห็นการบาดเจ็บบางอย่างกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดขึ้น ดร.มิ่งขวัญ มองว่า ถึงแม้สิ่งที่ประธานเฟด พูดออกไปคือ  เงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องจัดการเดี๋ยวนี้ ซึ่งอาจนำมาสู่ recession แต่คำถาม คือ จะทำได้อย่างที่พูดหรือไม่ เพราะการจัดการเงินเฟ้อ ต้องดึงอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าของเงินเฟ้อ 

ถ้าย้อนไปดูในอดีตช่วงปี 1970-1980 ที่ทุกคนนำมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบกับเวลานี้ จะพบว่า ช่วงนั้น Core PCE หรือดัชนีการบริโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 9.76% ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ขึ้นไปอยู่ที่ 15.5% พอมาดูยุคปี 1990 เวลานั้นเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.71% เฟดขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 9.63% หรือช่วงใกล้ที่สุด ปี 2007-2009 เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.61% Fed ขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 5.25%

ถ้าเป็นไปตามสถิติ ปัจจุบันตัวบ่งชี้เงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 4.7% จะเอาเงินเฟ้ออยู่ก็อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 10% แล้วตอนนี้ Fed fund rate อยู่ที่ 2.5% จะต้องขึ้นไปอีกเท่าไร Fed จะทำแบบนั้นจริงหรือ หรือกลายเป็น “ภาวะที่เงินเฟ้อก็ไม่ลง แต่ดอกเบี้ยก็ขึ้นสูงไม่ได้”

ถ้า Fed ทำจริง คนที่ได้รับผลกระทบก่อนก็จะเป็นคนอเมริกาที่ได้รับเช็ค 3 ใบจากทางการเมื่อปีที่แล้ว เพราะเช็คที่ได้เอาไปซื้อบ้าน ซื้อรถ และจะกลายเป็นว่าดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มไปมากกว่า 10% คนอเมริการับไหวหรือ เพราะดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นทุก 1% คนอเมริกาต้องจ่ายเพิ่มหนึ่งร้อยกว่าเหรียญ

ดังนั้น เวลาที่ Fed แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ท้ายที่สุดปัญหามันจะคาอยู่เอาไว้ เพราะว่า Fed ก็รู้อยู่ว่า เงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจากเรื่องพลังงาน ประเด็นคือ เงินเฟ้อจะวิ่งไปจากหน่วยของพลังงาน ไปสู่ต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ ซึ่งเมื่อไหร่ที่ระดับราคากระจายตัวจากพลังงานไปสู่อิฐ หิน ดิน ปูน ทราย ข้าวโพด ปุ๋ย เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช น้ำมันปาล์ม ซึ่งในที่สุดก็คุมไม่อยู่ และถึงแม้ว่าน้ำมันลงแล้ว ราคาของพวกนี้ก็จะยังไม่ลง อย่างน้อยอีกหกเดือนถึงหนึ่งปี ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเวลาที่ธุรกิจสั่งของมาภายใต้ภาวะ Supply disruption bottle necks นั้น ต้องสั่งก่อนล่วงหน้าอย่างน้อยหกถึงเก้าเดือน ดังนั้นสต็อกที่ค้างไว้ก็มีต้นทุนสูง เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่สุด และแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ก็จะทิ้งปัญหาเงินเฟ้อเอาไว้อยู่ ซึ่งถึงแม้ว่าตลาดจะมองว่าเงินเฟ้อสูงสุดแล้ว ก็ถูก แต่ตลาดอาจะเรียกอยู่ Side way

ตลาดแรงงานคือจุดต่อไปที่น่าห่วง

ดร.มิ่งขวัญกล่าวต่อว่า ตามที่กิจการต่างๆ ไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อันเป็นผลจากการสั่งวัตถุดิบล่วงหน้า สิ่งที่ทำได้แบบเร็วๆ เพื่อให้ตัวเลขผลประกอบการออกมาดีก็คือ “ลดการจ้างงาน”

ก็แปลกๆ นะคะ ว่าสถานการณ์กลับตาลปัตรไปหมด เพราะช่วงปี 2020 ที่สหรัฐฯแจกเช็ค 3 ใบ ก็มีคนอเมริกันที่บอกว่า อยากลาออกไปค้นหาตัวเอง ซึ่งช่วงนั้นบริษัทต่างๆ ต้องขอให้คนกลับมาทำงาน โดยมีรางวัลจูงใจ หรือให้ค่าจ้างเพิ่ม แต่ปัจจุบันกลายเป็นคนทำงานต้องนั่งระวังว่าจะถูกดึงเก้าอี้ออกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ด้วยการคัดคนออก เพื่อให้ผลประกอบการออกมาดี

จับตาเลือกตั้งกลางเทอมอาจทำให้นโยบายการเงินเปลี่ยน

เมื่อการเมืองกับการดำเนินนโยบายการเงินการคลังแยกกันไม่ออก และปลายปีนี้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้งกลางเทอม สิ่งที่ประธานาธิบดีพยายามทำเพิ่ม เพื่อเพิ่มฐานเสียง คือ ออกกฎหมาย Inflation Reduction ACT เพื่อช่วยผู้คนที่ได้รับผลกระทบเงินเฟ้อ เช่น ยกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจำนวนหนึ่งให้นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่มาทำงานและได้เงินเดือนเข้าเกณฑ์ ซึ่งกลุ่มนี้ก็เป็นฐานเสียงให้เดโมแครตได้ 

กฎหมาย Inflation Reduction ACT ที่ใช้งบ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ออกมา บางส่วนในกฎหมายต้องใช้เวลา 3 ปีข้างหน้า

ขณะที่บางส่วนในกฎหมายที่เริ่มต้นปีหน้า เช่น การคิดภาษีรายได้ธุรกิจสำหรับธุรกิจที่มีกำไรต่อปีเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บนอัตราต่ำสุดที่ 15% ซึ่งในความจริงมีบางกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มพลังงาน บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปัจจุบันจ่ายภาษีต่ำกว่า 15% พอเจอกฎหมายแบบนี้ กลุ่มนี้อาจต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ ประกาศผลประกอบปีหน้า ว่าต้องนำเงินไปทำอะไรสักอย่างเพื่อให้กำไรไม่ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจกำไรถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ต้องกันเงินบางส่วนไปลงทุนอะไรบางอย่างที่เข้าข่ายขอเครดิตภาษีจากรัฐบาลสหรัฐฯได้ เพื่อลดรายจ่ายภาษี  ซึ่งนี่เป็นจุดที่นักลงทุนต้องตามดู และงานหนักของไบเดนปีหน้าคือ ต้องทำอย่างไรให้สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น          

สาเหตุที่การเลือกตั้งกลางเทอมน่าสนใจ ก็เพราะ ถ้าการเลือกตั้งจบแล้ว เกมเปลี่ยน มีการเรียกรัฐมนตรีคลังและประธาน Fed ไปคุยอีก แนวทางที่ Fed ใช้ปีหน้าอาจเปลี่ยนก็ได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสการปรับขึ้น (upside) กับการลงทุนมาก  

เฟดอาจต้องกลับมาทบทวนการขึ้นดอกเบี้ย ถ้าหนี้เสียบ้านพุ่ง ตลาดแรงงานแย่

ดร.มิ่งขวัญ กลับมาชวนคิดเกี่ยวกับนโยบายการเงินของ เฟดว่า ถ้าเราย้อนดูช่วงเดือนเมษายน ตอนนั้นเห็นแล้วว่า ตลาดที่อยู่อาศัยยืนไม่ได้ เฟดก็ยังไม่ได้ทำอะไร ส่วนตอนนี้ตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มที่จะยืนไม่ได้ แต่เฟดก็ยังดำเนินนโยบายการเงินดอกเบี้ยขาขึ้นต่อไป

หากถามว่า ประธานเฟดจะเปลี่ยนทิศการดำเนินนโยบายการเงินหรือไม่ อาจต้องพิจารณาว่า ถึงแม้เขาบอกว่าจะยอมให้ตลาดบ้านหรือเศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบ แต่ถ้า NPL ตลาดบ้านดีดขึ้นไปมาก จะทนได้จริงหรือ

ขณะเดียวกันในประเด็นตลาดแรงงานก็เช่นกัน สหรัฐฯที่ประธานเฟด แถลงว่า ขยายตัวแข็งแกร่ง ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตา เพราะเป็นประเด็นการเมืองที่พยายามคุมตัวเลขแรงงานให้ดูดี

สิ่งที่น่าสังเกตคือเราเริ่มเห็นกลุ่มเทคโนโลยีคัดคนออกมากขึ้น มีทั้งให้ออก 200-300 ตำแหน่ง จนถึงหลักพันตำแหน่ง ถ้าเรื่องนี้ดังขึ้นเรื่อย ๆ จนตัวเลขที่ปรุงแต่งมาใช้ไม่ได้แล้ว ประธาน Fed อาจต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่า จะยังขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นช่วงที่รัฐบาลต้องตกลงเรื่องเพดานหนี้แล้วปรากฎว่าการยืดเพดานหนี้ไม่ผ่าน 

ดร.มิ่งขวัญ มองว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเริ่มเห็นการกลับมาทบทวนนโยบาย เพราะข้อมูล NPL ประกาศเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นข้อมูลที่ล่าช้า โดยตัวเลขอาจสูงขึ้นในช่วงการประกาศเดือนพฤศจิกายน แล้วจะมาพร้อมกับการประกาศงบการเงินของธุรกิจทั้งหมดในสหรัฐฯ ช่วงไตรมาส 3

เลือกลงทุนบริษัทไหนในไตรมาส 3 ให้ดูการบริหารต้นทุน มากกว่าดูกำไร

มีการพูดกันแล้วว่า ภาคธุรกิจเริ่มมีรายได้จากส่วนต่างราคาแคบลงช่วงไตรมาส 2 แล้ว ซึ่งการประกาศงบไตรมาส 2 ออกมา ในช่วงไตรมาส 3 จะเป็นช่วงที่รับผลกระทบของต้นทุนวัตถุดิบขึ้นเต็มที่ ดังนั้นอาจได้ยินหลายบริษัทประมาณการอนาคตว่า มีความจำเป็นต้องลดคน เพราะไม่สามารถรักษาส่วนต่างได้ ดังนั้นก็จะเห็นตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน นี้ ดังนั้นการพิจารณาปัจจัยลงทุนในไตรมาส 3 จะไม่ใช่ดูว่ารายได้หรือกำไรของใครดี แต่เป็นประเด็นว่าใครบริหารจัดการต้นทุนได้ดีกว่ากัน

จะลงทุนหุ้นสหรํฐฯให้รอจังหวะดีๆ

เมื่อมองเรื่องการลงทุนเวลานี้  ดร.มิ่งขวัญ ชี้ว่า การพิจารณาลงทุนหุ้นสหรัฐฯมอง 2 เรื่อง คือ ภาพเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมที่มีนโยบายการเงินอยู่ในนั้น และตัวบริษัทว่าสามารถดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน

กรณีที่รอดูว่าจะลงทุนเมื่อไหร่ดี ถ้าอยากเลือกหุ้นที่ดีๆ ในเวลาที่ใช่ อาจต้องหมั่นเช็คข้อมูล 2 อย่างที่สำคัญมาก คือ 1.อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี และ 2.ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อไหร่ก็ตามที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ดีดขึ้นมาเกิน 3%  แล้วมีแนวโน้มไปต่อ และดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในระดับเกิน 108 แล้วยังไม่หยุด วันนั้นอาจต้องรอก่อน ซึ่งก็คือเวลานี้ ที่ตลาดเต็มไปด้วยคำว่า ทำรอบที่แล้วไปแล้ว และกำลังขายทำกำไรลงมา ก็ควรรอให้ทุกอย่างนิ่งก่อน

แต่เมื่อไหร่ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 3% และดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ เริ่มหักหัวปรับลดลงมา นักลงทุนสามารถเข้าไปตั้งรับหุ้นที่ชอบได้ ถ้าเลือกแล้วว่าหุ้นตัวนี้บริหารจัดการตัวเองได้ดีช่วงเวลานี้ แต่จากที่สังเกตมาในปีนี้ ยังไม่ค่อยมีหุ้นตัวไหนที่จะฝ่าพายุเศรษฐกิจมหภาคได้เลย มีแต่หุ้นที่เข้าไปทำกำไรได้เป็นรอบๆ แล้วก็ถูกเทขายทำกำไรแล้วก็เข้าไปลงทุนใหม่ ฉะนั้นนักลงทุนต้องแม่นเรื่องการจับจังหวะตลาดพอสมควรในช่วงนี้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น ไม่ได้เข้าไปซื้อช่วงที่ราคาถูก และไม่ได้ทำกำไรตอนที่ราคาสูง คือ เข้าแพงแล้วค้างรอบ  

นักลงทุนต้องเปิดใจกว้าง สนใจสินทรัพย์อื่นบ้าง นอกจากหุ้นและประเทศที่รัก

ดร.มิ่งขวัญ ให้คำแนะนำว่า การลงทุนในหุ้นช่วงนี้ไม่ง่าย ถ้านักลงทุนยึดติดกับสินทรัพย์บางประเภท ยึดติดกับประเทศบางประเทศ ตามภาษาเศรษฐศาสตร์ คือมี Home bias บางทีอาจต้องเปิดใจกว้างขึ้นกว่าเดิมในปีนี้และปีหน้า 

ถ้านักลงทุนเปิดใจกว้าง แล้วดูสินทรัพย์อื่นบ้าง บางครั้งอาจช่วยทำผลตอบแทนให้พอร์ตได้ และข้อคิดสุดท้ายที่ ดร.มิ่งขวัญฝากไว้คือ เรารักหุ้นได้ แต่ถ้าเรารักไม่ถูกเวลาของคนอื่น เราก็จะตกรอบได้

แนะนำกองทุน BMAPS25 สำหรับผู้ที่ยังต้องการเน้นลงทุนตราสารหนี้BMAPS55 สำหรับผู้ที่ต้องการผลตอบแทนมากขึ้นเพราะเพิ่มสัดส่วนหุ้นเป็นไม่เกิน 55% และ BMAPS100 ที่ให้โอกาสรับผลตอบแทนลงทุนเต็มที่

สำหรับท่านที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสามารถเลือกลงทุน BMAPS25RMFBMAPS55RMF และ BMAPS100RMF

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/bblam-investment-insights/12-16-2022