BBLAM Monthly Economic Review: Sep – จับตาวิกฤติพลังงานฉุดเศรษฐกิจยูโรโซนถดถอย หลังรัสเซียหยุดส่งก๊าซ

BBLAM Monthly Economic Review: Sep – จับตาวิกฤติพลังงานฉุดเศรษฐกิจยูโรโซนถดถอย หลังรัสเซียหยุดส่งก๊าซ

สรุปความสัมภาษณ์

ฐนิตา ตุมราศวิน
ทีม Economic Research
BBLAM

ยูโรโซน – ความเสี่ยง Recession ที่ใกล้เข้ามาจากวิกฤติพลังงาน

ประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจหลักๆ ในช่วงนี้ คือ เรื่องของ Recession จากสถานการณ์ด้านพลังงานที่ดูแย่ลง รวมไปถึงทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ซึ่งในภาพรวมของเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรก จะเห็นว่ายังขยายตัวได้ค่อนข้างดี อย่างตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ที่ออกมาดีเกินคาด และการปรับคาดการณ์ GDP ของ ECB ที่ปรับให้ปีนี้เติบโตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจยูโรโซนเองเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ตัวเลขชี้วัดรายเดือนสะท้อนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีโมเมนตัมที่อ่อนแอลง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนของยุโรปในช่วงนี้ ซึ่งเมื่อนักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ประกอบกับว่า ดอลลาร์ฯ เองก็แข็งค่าขึ้นมากจากทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลให้ในช่วงเดือนส.ค.ถึงต้นก.ย. เราจะเห็นว่า ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงหนักที่สุดในรอบ 20 ปี จนต่ำกว่า 1 ยูโรต่อ 1 ดอลลาร์ฯ อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้แล้ว สะท้อนว่า ตลาดตีความว่า เศรษฐกิจยูโรโซนเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะเกิด Recession ที่รุนแรงมากกว่า รวมทั้งท่าทีของ Fed ที่มีแนวโน้มจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า ECB

ทั้งนี้ หากถามว่า ทำไมคนถึงกลัวว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ปัจจัยสำคัญก็คือ เรื่องของสถานการณ์ด้านพลังงานที่เดือนนี้มีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น หลังรัสเซียระงับการส่งก๊าซเข้ามาในยุโรปผ่านท่อ Nord Stream 1 ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซหลักจากรัสเซียมายังยุโรป โดยเรามองว่า มีความเป็นไปได้ที่วิกฤติพลังงานนี้น่าจะลากยาว ไปถึงฤดูหนาวปีหน้า ทำให้ปี 2023 น่าจะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับยูโรโซน แม้ว่าตอนนี้ตลาดจะค่อนข้าง Price In ข่าวร้ายในเรื่องวิกฤติพลังงานไปแล้วพอสมควร แต่เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ควบคุมและคาดเดาได้ยาก ทำให้ยังมี Downside Risk อยู่อีก

ประเด็นสุดท้าย คือ ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB โดยที่ผ่านมาการปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซ และค่าไฟฟ้า ทำให้เงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในเดือนส.ค. เงินเฟ้อก็ยังคงทำ new high ส่งผลให้ ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 75 bps หลังจากที่การประชุมคราวที่แล้วปรับขึ้น 50bps และ ECB ก็ยังมีท่าทีจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่เรามองว่า อย่างมาก น่าจะขึ้นได้อีก 2-3 ครั้ง นอกจากนี้ ในการประชุมเดือนก.ย. ECB ได้ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยปรับให้เงินเฟ้อในปีหน้าสูงขึ้น แต่ GDP โตต่ำลง ยิ่งตอกย้ำภาพที่เรามองว่า ปีหน้าจะเป็นปีที่ไม่ค่อยดีนักของยูโรโซน นักลงทุนจึงจะต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนนี้ เนื่องจากในระยะข้างหน้า รายได้ของบริษัทต่างๆ น่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB รวมไปถึงต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นจากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง และต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงหากในสถานการณ์ที่เลวร้ายจนรัฐบาลต้องใช้มาตรการลดการใช้พลังงานในกลุ่มผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมลงเพื่อให้มีปริมาณก๊าซเพียงพอต่อการใช้ของประชากร ซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวกว่า ก็จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้ตลาดยุโรปมากขึ้นไปอีก

ญี่ปุ่น – ฟื้นตัวแต่ไม่หวือหวา

ประเด็นเรื่อง Recession ยังไม่เห็นชัดเจนนักในญี่ปุ่น และเศรษฐกิจเองก็มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อในช่วงปลายปี แต่เรามองว่าอาจจะไม่หวือหวา และมีโมเมนตัมที่อ่อนแรง จากหลายปัจจัย อาทิ

1) เรื่องของโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนไม่ได้ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังค่อนข้างระมัดระวังในการใช้จ่าย

2) การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็น driver หลัก ประมาณ 20% ของ GDP จากภาวะ Supply Shortage การกลับมาปิดเมืองของจีน และ Demand ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง

และสุดท้าย 3) การเปิดประเทศของญี่ปุ่นที่ถือว่าล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยเพิ่งจะผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อต้นเดือนก.ย. ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมีหลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศที่ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวอาจไม่ได้กลับมาอย่างรวดเร็ว แต่ประเด็นนี้ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังรัฐบาลพยายามเปิดมากขึ้นเพื่อชะลอการอ่อนค่าของเยน เห็นได้จากหุ้นที่ได้รับอานิสงค์จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับขึ้นแรงในช่วงนี้

ด้านเงินเยนได้ทะลุแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 140 เยนต่อดอลลาร์ฯ ไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา การอ่อนค่าของเยนมีส่วนช่วยให้ธุรกิจส่งออกของญี่ปุ่นได้รับประโยชน์บ้างในแง่ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงิน แต่ด้วยนักลงทุนยังมีความกังวลต่อการอ่อนค่าที่เร็วเกินไปของเยน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นไม่ได้เร่งตัวขึ้นเท่ากับการอ่อนค่าของเยน สะท้อนว่า แม้ว่าการอ่อนค่าของเยนจะทำให้ตลาดญี่ปุ่นดูน่าสนใจขึ้น แต่ก็ไม่เสมอไป หากการอ่อนค่านั้นมากจนเกินไป ซึ่งปัจจุบันทั้งรัฐบาลและ BoJ ต่างแสดงความกังวลในประเด็นค่าเงินเยน โดยรัฐบาลมีแผนจะออกมาตรการเพื่อช่วยลดแรงกดดันในเรื่องของค่าเงินเยน เนื่องจากจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้น และส่วนหนึ่งจะกระทบกับเงินเฟ้อในประเทศ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ขณะที่ ทางด้าน BoJ แม้ว่าจะแสดงท่าทีกังวล และกล่าวว่าจะจับตาความเคลื่อนไหวของเงินอย่างใกล้ชิด แต่เราคาดว่าผู้ว่า BoJ จะยังไม่ปรับนโยบายทางการเงินใดๆ ไปจนจบวาระในเดือนเม.ย. ปีหน้า แม้ว่าตลาดบางส่วนจะเริ่มคาดการณ์ว่า BoJ จะมีการปรับนโยบายก็ตาม ซึ่งนโยบายที่ยังผ่อนคลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

อินเดีย – ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงช่วยลดแรงกดดันต่อตลาด แต่ยังมีความเสี่ยงในช่วงฤดูหนาว

ดัชนีตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตามตลาดโลกและราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดอินเดียที่มักจะเปราะบางกับราคาน้ำมัน นอกจากนี้ การที่น้ำมันราคาลดลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลก็ช่วยชะลอเงินเฟ้อของอินเดียในเดือนมิ.ย. และ ก.ค. และทำให้ตลาดลดการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอินเดียจะต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ  เป็นการหนุน Sentiment ให้ตลาด บวกกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาในช่วงเดือนก.ค. และส.ค. ทั้ง PMI และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก็เป็นภาพว่า เศรษฐกิจอินเดียยังคงขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ทยอยออกมาล่าสุดในช่วงต้นเดือนก.ย. เราจะเริ่มเห็นว่ามีบางส่วนที่สะท้อนว่า เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มอ่อนแอลง ทั้งตัวเลข Industrial Production เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนส.ค. และดุลการค้าในเดือนก.ค. ที่ขาดดุลมากขึ้น ซึ่งถ้าหากราคาน้ำมันมีแนวโน้มจะกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ ก็จะเป็นแรงกดดันต่อตลาดอินเดียได้อีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปลายปี นักลงทุนจึงต้องระมัดระวังในประเด็นนี้

ด้านเงินเฟ้อ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่า 6% ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อของ RBI ทำให้เราคาดว่า RBI จะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อลง แต่น่าจะเป็นไปในอัตราที่ลดลง เพื่อไม่ให้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากเกินไป โดยเราคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 60 bpsไปจบที่ 6% ณ สิ้นปีนี้ จากระดับปัจจุบันที่ 5.4% สำหรับการประชุมครั้งถัดไปของ RBI คือวันที่ 28-30 ก.ย. นี้

โดยรวมแล้ว เรามองว่าเศรษฐกิจอินเดียยังมีปัจจัยท้าทายค่อนข้างมาก ทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อในประเทศ การขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ RBI ที่ทำให้การลงทุนในตลาดอินเดียมีความผันผวน แต่ในระยะยาว เรามองว่ายังมีโอกาสเติบโตโดดเด่น ด้วยโครงสร้างของประชากร การบริโภคเติบโตได้สูงจากจำนวนประชากรวัยแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นในอัก 10-20 ปีข้างหน้า รวมถึงแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล