‘ผู้บริโภคจีนยุคใหม่’ โฟกัส ‘ออมเงิน’ มากกว่าใช้จ่าย สวนทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

‘ผู้บริโภคจีนยุคใหม่’ โฟกัส ‘ออมเงิน’ มากกว่าใช้จ่าย สวนทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ว่า หนึ่งในภาพสะท้อนของพฤติกรรมใหม่ผู้บริโภคของจีนที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากสู่วิถีของ “ความประหยัด” อย่างเช่น Doris Fu ที่ปรึกษาด้านการตลาดในเซี่ยงไฮ้วัย 39 ปี ระบุว่า ช่วงเวลาก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ได้วาดฝันถึงอนาคตของตัวเองและครอบครัว ที่จะมีรถใหม่ อพาร์ตเมนต์ที่ใหญ่กว่าเดิม ได้รับประทานอาหารรสเลิศในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดต่างๆ 

แต่ขณะนี้กลับต้องลดการใช้จ่ายและประหยัดเงินเท่าที่ทำได้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของจีน การว่างงานของเยาวชนที่สูงขึ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา

ความประหยัดรูปแบบใหม่นี้ ขยายผลโดยผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่โน้มน้าววิถีชีวิตราคาประหยัดและแบ่งปันเคล็ดลับในการประหยัดเงิน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก 

Benjamin Cavender กรรมการผู้จัดการของ China Market Research Group (CMR) กล่าวว่า “เราทำแผนที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่นี่มาเป็นเวลา 16 ปีแล้ว และในช่วงเวลานี้สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือผู้บริโภคอายุน้อย”

โดยนโยบาย zero-COVID ของจีน ซึ่งรวมถึงล็อกดาวน์ที่เข้มงวด การจำกัดการเดินทาง และการทดสอบจำนวนมาก ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของรัฐบาลยังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อแรงงานรุ่นเยาว์อีกด้วย

การว่างงานในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี อยู่ที่เกือบ 19% หลังจากทำสถิติสูงสุด 20% ในเดือนกรกฎาคม ตามข้อมูลของรัฐบาล คนหนุ่มสาวบางคนถูกบังคับให้ลดค่าจ้าง เช่น  ในภาคการค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ข้อมูลที่รวบรวมโดยบริษัทจัดหางานออนไลน์ Zhilian Zhaopin พบว่า จากการสำรวจของอุตสาหกรรม 2 ครั้ง เงินเดือนเฉลี่ยใน 38 เมืองใหญ่ของจีนลดลง 1% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ โดยส่งผลให้คนหนุ่มสาวบางคนชอบออมเงินมากกว่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ขณะที่ยอดค้าปลีกในจีนเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนกรกฎาคม ฟื้นตัวเป็น 5.4% ในเดือนสิงหาคม แต่ยังต่ำกว่าระดับส่วนใหญ่ที่บวก 7% ในช่วงปี 2562 ก่อนการระบาดใหญ่ เนื่องจากเกือบ 60% ของผู้คนมีแนวโน้มที่จะออมเงินมากกว่าบริโภคหรือลงทุนมากขึ้น จากการสำรวจรายไตรมาสล่าสุดโดยธนาคารกลางจีน (PBOC) เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 45% 

ครัวเรือนจีนโดยรวมมีการออมเพิ่มขึ้น 10.8 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.54 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นจาก 6.4 ล้านล้านหยวนในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นั่นเป็นปัญหาสำหรับผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของจีน ซึ่งพึ่งพาการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมาเป็นเวลานานเพื่อสนับสนุนการเติบโต

ขณะเดียวกัน จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเพียงประเทศเดียวที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ด้วยความพยายามที่จะกระตุ้นการเติบโต ธนาคารของรัฐรายใหญ่ของจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากส่วนบุคคลในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ออกแบบมาเพื่อกีดกันการออมและเพิ่มการบริโภค เจ้าหน้าที่ของ PBOC ระบุในเดือนกรกฎาคมว่า เมื่อการแพร่ระบาดคลี่คลาย ความเต็มใจที่จะลงทุนและบริโภคจะมีเสถียรภาพและเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลังจากการบริโภคที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและการซื้อของออนไลน์ การเปลี่ยนไปสู่ความประหยัดทำให้คนหนุ่มสาวมีการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้น 

จือหวู่ เฉิน หัวหน้าศาสตราจารย์ด้านการเงิน ของโรงเรียนธุรกิจมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า “ท่ามกลางตลาดงานที่ยากลำบากและแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างรุนแรง ความรู้สึกไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนของคนหนุ่มสาวเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยประสบมาก่อน” 

อย่างเช่น ผู้หญิงในวัย 20 ปีในเมืองหางโจว  มีผู้ติดตามหลายแสนคนจากการโพสต์วิดีโอมากกว่า 100 คลิปเกี่ยวกับวิธีการทำอาหารเย็นในราคา 10 หยวน หรือราว 1.45 ดอลลาร์ บนแอปฯ ไลฟ์สไตล์ Xiaohongshu และเว็บไซต์สตรีมมิ่ง Bilibili ในวิดีโอความยาว 1 นาทีที่มียอดดูเกือบ 400,000 ครั้ง เธอผัดจานที่ทำจากเนื้อปลาบะซ่า 4 หยวน กุ้งแช่แข็ง 5 หยวน และผัก 2 หยวน 

การสนทนาบนโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นเพื่อแบ่งปันเคล็ดลับในการประหยัดเงิน เช่น ‘Live off 1,600 หยวนต่อเดือน’ ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่แพงที่สุดของจีน

หรือหยาง จุน ผู้ซึ่งกล่าวว่าเธอเป็นหนี้บัตรเครดิตอย่างท่วมท้นก่อนเกิดโรคระบาด ได้ก่อตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Low Consumption Research Institute บนเว็บไซต์เครือข่าย Douban ในปี 2562 กลุ่มนี้มีสมาชิกมากกว่า 150,000 คน Yang กล่าวว่า กำลังลดการใช้จ่ายและขายสิ่งของบางส่วนของเธอในเว็บไซต์มือสองเพื่อหาเงิน หนึ่งวิธีการประหยัด คือ เธอได้งดกาแฟสตาร์บัคส์ประจำวัน เปลี่ยนยี่ห้อแป้งแต่งหน้าจากแบรนด์จิวองชี่มาเป็นแบรนด์จีนชื่อ Florasis ซึ่งถูกกว่าประมาณ 60%

ทั้งนี้ จีนไม่ได้ให้สัญญาณว่าจะออกจากนโยบาย zero COVID เมื่อใดและอย่างไร และในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความหวังว่าจะกระตุ้นการบริโภค ตั้งแต่เงินอุดหนุนสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไปจนถึงบัตรกำนัลช้อปปิ้ง 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความมั่นคงเป็นประเด็นหลักสำหรับผู้กำหนดนโยบายของจีนในปีนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 3 ที่การประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนหน้า

ที่มา: รอยเตอร์