BBLAM Economic Note: เมื่อ Fed พร้อมแลกทุกอย่างเพื่อจัดการเงินเฟ้อ นักลงทุนจะหลบพายุจากพ่อพาวเวรได้อย่างไร   

BBLAM Economic Note: เมื่อ Fed พร้อมแลกทุกอย่างเพื่อจัดการเงินเฟ้อ นักลงทุนจะหลบพายุจากพ่อพาวเวรได้อย่างไร   

โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ (12: 0) ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps เป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขยับขึ้นมาที่ 3.0-3.25% ในการประชุมเดือนก.ย. เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 75 bps สามครั้งติดต่อกันแล้ว และเป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับมาสู่ระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2008 โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการต่างเห็นพ้องกันว่า จะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งถัดๆ ไปอีก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ประธาน Fed ได้ให้สัมภาษณ์ในช่วง Press Conference

ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการเปิดเผย Dot Plot และข้อมูลประมาณการทางเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมด้วย โดย Dot Plot ในรอบนี้ได้สะท้อนว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะวิ่งไปถึง 4.4% สิ้นปีนี้ (สูงกว่าประมาณการครั้งก่อนที่ 3.4%) และอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะวิ่งขึ้นไปต่อในปีหน้าที่ 4.6%

ด้านประมาณการทางเศรษฐกิจนั้นถูกปรับลงมาโดย Fed มองว่าปีนี้ GDP ของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 0.2% (จากประมาณการครั้งก่อนที่ 1.7%) ด้านอัตราเงินเฟ้อจะถูกปรับไปอยู่ที่ 4.5% (จากประมาณการครั้งก่อนที่ 4.3%) และจะค่อยๆ ปรับลงมาที่ 3.1% ในปีหน้า ส่วนอัตราว่างงานได้รับการปรับมาที่ 3.8% (จากประมาณการครั้งก่อนที่ 3.7%) และ 4.4% ในปีหน้า (จากประมาณการครั้งก่อนที่ 3.9%)

ที่มา: ING, Fed

การตัดสินใจดังกล่าวบอกอะไรเรา

  1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดว่า ให้การจัดการกับเงินเฟ้อมาก่อนเศรษฐกิจ และหากจะกระทบกับเศรษฐกิจบ้างก็ต้องทำ ที่สำคัญประธาน Fed ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับตลาดบ้านว่า จะต้องเจอ Correction และยัง (แอบ) มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะว่าราคาบ้านจะได้ถูกลง คนจะได้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และยังมีผลส่งให้อัตราเงินเฟ้อฝั่งค่าเช่าปรับลดลงด้วย อ่านไปแล้วก็งง คือ เหมือน Fed จะบอกว่าไม่สนว่าเงินเฟ้อที่ลดได้จะมีที่มาจากตรงไหน (เงินเฟ้อมาจากราคาพลังงานซึ่งเป็นฝั่ง Supply แต่ Fed แก้ไม่ได้ เลยจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อฝั่ง Demand เสียอย่างนั้น) แค่ให้เงินเฟ้อรวมมันลดได้ถือว่า Fed ประสบความสำเร็จแล้ว  
  2. ในขณะที่ Fed เป็นผู้นำ Trend ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เราพบว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ธนาคารกลางหลายประเทศ (รวมทั้งไทย) มีกำหนดการประชุมนโยบายการเงินด้วย สิ่งที่สังเกตเห็น คือ Fed เริ่มวิ่งน็อครอบหลายประเทศในแง่ของการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าและด้วยจำนวนครั้งที่มากกว่า ในการวิ่งรอบแรกอาจจะไม่มีใครยอมตาม แต่เมื่อ Fed น็อคไปหลายรอบ ก็เริ่มมีบางประเทศได้รับผลกระทบจากความต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มมากขึ้นๆ (Interest Rate Differentials) เป็นผลให้ประเทศที่ไม่สามารถทานทนความต่างนี้ได้ จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วย เพราะกลัวถูกน็อครอบมากกว่าไปนี้ ขณะที่ประเทศที่ปรับดอกเบี้ยนำหน้า Fed ไปแล้วเช่นอินเดีย ดูเหมือนจะอยู่ในสถานะที่น่าสบายใจมากกว่า
  3. ภาวะดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งจะเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และจะคงสถานะดอลลาร์สหรัฐฯ พ่อทุกสถาบันแบบนี้ไประยะหนึ่ง ดังนั้น การตัดสินใจในการลงทุนจะต้องนำประเด็นเรื่องดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งเข้ามาอยู่ในการตัดสินใจในการลงทุนด้วย
  4. ในขณะที่ Fed ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ก็มีธุรกิจในสหรัฐฯ หลายๆสาขาออกมาส่งเสียงว่า ภาพเศรษฐกิจแบบนี้กระทบกับผลประกอบการอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Bed Bath and Beyond, FedEx, GAP และล่าสุดบรรดา CEO ของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ได้ไปให้การต่อหน้าสภาคองเกรสในวันเดียวกับที่ Fed ประชุม โดย Jamie Dimon ซึ่งเป็น CEO ของ JPMorgan ได้กล่าวว่า ตอนนี้เห็นลูกค้าบางกลุ่มยังคงจับจ่ายอย่างมันมือ บางคนได้งานที่มีรายได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีหนี้บัตรเครดิตมากขึ้น ชักหน้าไม่ถึงหลังเพราะค่าสาธารณูปโภคแพงมาก เช่นเดียวกับธุรกิจที่ประสบกับภาวะต้นทุนปรับขึ้นทุกทาง ในการประชุมต่อหน้าสภาคองเกรสครั้งนี้ CEO ของธนาคารส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า หากขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ มีหวังเห็นธุรกิจปรับลดคนมากกว่านี้แน่ๆ
  5. มาถึงตรงนี้ ในฐานะของนักลงทุนเราจะทำยังไงกับพอร์ตการลงทุนดี สำหรับนักลงทุนที่นิยมการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ต้องทำความเข้าใจแล้วว่า ภาพเศรษฐกิจมหภาคดูไม่เอื้อ Earning Downgrades จะตามมาอีก และบริษัทจะเริ่มออกมาให้ข่าวการลดจำนวนพนักงาน ดังนั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนอยากจะถัวขาลง เผื่อหวังว่า ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. จะมีลุ้นผลบวกในช่วงเลือกตั้งกลางเทอม , ช่วง Halloween, Black Friday ไปถึงช่วง Xmas Sale หรือเปล่า หรือแม้หากตลาดดำดิ่งกับข่าวลบช่วงนี้มากๆ ก็ตาม แต่ในเดือนต.ค. จะเป็นเดือนที่ไม่มีการประชุม Fed ก็อาจจะมีลุ้นตลาดเด้งได้ในช่วงนั้น อันนี้ต้องวัดเอา

อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาจจะต้องมองพอร์ตลงทุนแบบใจกว้างๆ มากขึ้น ไม่กระจุกการลงทุนไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ในปีนี้เป็นปีที่พายุเข้ากลุ่ม DM และจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ส่วนพระอาทิตย์กลับมาส่องแสงที่ อินเดีย อาเซียน รวมถึงประเทศไทย ด้วยความที่เป็นกลุ่มประเทศข้างต้นเป็นผู้ผลิตอาหารและการเกษตรเป็นหลัก มี Reopening Theme มารองรับ และยังมี Domestic Economy สนับสนุน ทั้งยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์ EV ของโลก ขณะเดียวกันการลงทุนใน Asset Class ที่ได้รับอานิสงส์บาทอ่อน (เช่น Global Bond) หรือเงินเฟ้อสูง (REITs) ก็ให้ผลตอบแทนที่ดี  การลงทุนแบบหว่านประเทศหว่าน Asset Class จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถหลบพายุจากพ่อพาวเวรได้ในปีนี้