ซื้อ LTF แบบนี้ … ไม่มีคำว่า “แพง”

“ย้อนไปก่อนวันที่ 29 สิงหาคม … ก่อนที่หุ้นไทยจะทะลุ 1,600 จุด …”

ผมมั่นใจว่านักลงทุนไทยเกือบทั้งหมด ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าปีนี้ มันจะมีวันที่หุ้นไทยทะลุรวด พรวดไป 1,600 ได้ในพริบตา และผมเองก็ยังมั่นใจว่า “คนไทยผู้เสียภาษีเกือบทั้งหมด … ยังไม่ได้ซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีกันเลย” (สะเทือนใจ…) แต่มันไปแล้ว … มันทะลุ 1,600 ไปแล้ว แถมเผลอๆ ต่อไปถึง 1,700 รึเปล่ายังไม่รู้ (ตอนละทุ 1,600 บางคนนี่แทบจะถอดเครื่องแบบกันเลยทีเดียว) แต่ก็นั่นล่ะฮะท่านผู้ชม ในเมื่อเราไม่สามารถล่วงรู้อนาคตได้ว่าปลายปีนี้ หรือปีหน้า SET จะเป็นยังไง สิ่งหนึ่งที่รู้แน่นอนคือ “ตราบได้ที่ยังมีรายได้ ก็ยังต้องเสียภาษี” และ “ถ้าอยากลดหย่อนภาษี ก็ต้องซื้อ LTF” ฉะนั้นวันนี้เราจะมาตีแผ่ความลับ และกลยุทธ์ในการซื้อ LTF ยังไง ไม่มีคำว่า “แพง”

“พฤติกรรมของคนลดหย่อนภาษี…”

ผมได้ลองศึกษาข้อมูล และพฤติกรรมการลงทุนใน LTF เพื่อลดหย่อนภาษี โดยศึกษาข้อมูลการซื้อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า “นักลงทุน 80% ซื้อ LTF ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี” และเกือบทั้งหมดนั้นจะซื้อกันในเดือนสุดท้าย (ธันวาคม) ซึ่งข้อมูลนี้เป็นเหตุที่ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าถึง ณ ขณะนี้ หลายๆ คนยังไม่ได้ซื้อ LTF กันเลย

“ตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี”

จากนั้นผมลองดูข้อมูลดัชนี SET ย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2007-2016) เพื่อมาดูว่าตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวอย่างไรในช่วงดังกล่าว และนี่คือผลที่ออกมาครับ

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 3 ปีเท่านั้น ที่ตลาดปรับตัวลดลงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี คือปี 2013-2015 (ไม่นับช่วงปี 2008 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ)” ในขณะที่ปีอื่นๆ ตลาดมักปรับตัวได้ดีเสมอในช่วงปลายปี

“ถ้าเราลงทุนในเดือนธันวาคม … จะถูกหรือแพงกว่าเดือนอื่น ?”

ภาพนี้ผมได้ลองนำราคาปิดของแต่ละเดือน มาเทียบกับราคาปิดในเดือนธันวาคม ว่าการลงทุนในเดือนธันวาคมของแต่ละปีนั้น “ถูก หรือ แพง” กว่าเดือนอื่นๆ ซึ่งผลที่ได้ยิ่งยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า หากไม่นับปี 2008 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “การลงทุนในเดือนธันวาคม มักจะได้ลงทุนในราคา แพงกว่า! เสมอ” (ตัวเลขที่ ติดลบ หมายถึงการลงทุนในเดือนธันวาคม ถูกกว่าเดือนนั้นๆ และตัวเลขที่ เป็นบวกหมายถึงการลงทุนในเดือนธันวาคมแพงกว่าเดือนนั้นๆ)

“แล้วจะซื้อ LTF ยังไงไม่ให้ได้ราคาแพง?”

เมื่อซื้อตอนเดือนธันวาแล้วได้ราคาแพง … ก็ไม่ต้องซื้อครับ ……….. เดี๋ยวๆๆ ! จริงๆ แล้วมันมีกลยุทธ์ง่ายๆ อย่างหนึ่ง ที่จะสามารถช่วยให้ทุกคนได้ลงทุนใน LTF ในราคาที่เป็นมิตร ไม่แพงหูฉี่ระดับเดือนธันวาคม กลยุทธ์ที่ว่านั่นคือการ “ซื้อเฉลี่ย”

จากภาพ ผมได้จำลองการซื้อ LTF แบบรายเดือน โดยแต่ละเดือนจะใส่เงินลงไปเท่าๆ กัน และคำนวณหาต้นทุนจากการซื้อแบบเฉลี่ย และเทียบกับต้นทุนในเดือนธันวาคมของแต่ละปี ซึ่งผลที่ได้ออกมาทำให้ต้องร้อง “ว้าว” เลยทีเดียว เพราะการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย ทำให้เราได้ซื้อ LTF ในราคาที่ถูกกว่าการซื้อในเดือนธันวาคมเกือบทุกปี มีเพียงปี 2008 (ที่มีวิกฤตเศรษฐกิจช่วงกลางปี) กับปี 2013 และ 2015 เท่านั้น ที่การลงทุนในเดือนธันวาคมได้ราคาถูกกว่า ที่เหลือ “ซื้อแพง”

“ซื้อเฉลี่ยแบบอัตโนมัติ”

ด้วยเหตุผลที่ว่ามานั้น จึงเป็นเรื่องที่ดีแน่ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนและลดหย่อนภาษี ถ้าเราเปลี่ยนจากการซื้อ LTF ช่วงปลายปี มาซื้อ LTF แบบถัวเฉลี่ย โดยคุณแค่วางแผนการซื้อตั้งแต่วันนี้ว่า “ในทุกๆ ปีคุณต้องซื้อ LTF กี่บาท แล้วหารด้วย 12 ซะเลย” เช่น คุณคำนวณแล้วว่าทุกปีต้องซื้อ LTF 50,000 บาท ทำให้ถ้าจะซื้อต่อเดือน ก็ต้องซื้อเดือนละ 4,000 บาท (50,000 / 12) โดยดำเนินการมอบหมายให้กองทุนหักเงินไปซื้อแบบอัตโนมัติซะเลย (วิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย เริ่มต้นเดือนละ 1,000 บาท) เพียงเท่านี้คุณก็จะไม่ต้องซื้อ LTF แพงๆ ตอนปลายปีอีกแล้ว

ปริพรรห์ ปริยอุดมทรัพย์ AFPT™ , นักวางแผนการลงทุน