วิกฤติอสังหาฯ ส่อดึงจีนสู่ภาวะเงินฝืด ในขณะที่โลกเผชิญภาวะถดถอย

วิกฤติอสังหาฯ ส่อดึงจีนสู่ภาวะเงินฝืด ในขณะที่โลกเผชิญภาวะถดถอย

ผลสำรวจของภาคเอกชน พบว่า จีนกำลังเผชิญความเสี่ยงจะเข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด” มากขึ้น เนื่องจากการบริโภคในประเทศลดลง ท่ามกลางวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวด ซึ่งตรงข้ามกับมหาอำนาจชาติอื่นๆ ที่เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

China Beige Book International (CBBI) ผู้ทำการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า บริษัทในจีนหลายแห่งรายงานการเติบโตของราคาสินค้าที่อ่อนตัวมากที่สุดตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 แม้ว่าค่าแรงและต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น

นายลีแลนด์ มิลเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ CBBI กล่าวในรายงานว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ประเทศจีนกลับเผชิญความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด อันเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ที่ทำให้อุปสงค์และการบริโภคในประเทศชะลอตัวลง

รายงานระบุว่า แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดส่วนใหญ่มาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่พบว่าราคาสินค้าและบริการในภาคบริการ และการค้าปลีก ต่างปรับตัวขึ้นในไตรมาสที่สาม

ประเทศจีนประกาศปิดเมือง และจำกัดการเดินทางในหลายพื้นที่ในทุกครั้งที่เจอการแพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี เมืองใหญ่และแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอย่างมหานครเซี่ยงไฮ้ ต้องปิดเมืองไปนานกว่า 2 เดือน เช่นเดียวกับในมณฑลจี๋หลิน ซึ่งทางการจีนเพิ่งประกาศยกเลิกการปิดเมืองเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และหลังจากนั้นไม่นาน เฉิงตู เมืองใหญ่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ก็ได้ประกาศปิดเมือง

ราคาบ้านในจีนปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ในเดือนสิงหาคม ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากเจ้าของบ้านหลายรายปฏิเสธชำระเงินกู้ โดยอ้างว่า พวกเขามีความกังวลมากมายเกี่ยวกับตัวบ้าน ตั้งแต่การก่อสร้างที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงมลพิษทางเสียง ด้วยเหตุนี้วิกฤติการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีนจึงทวีความรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ดี รายงานของ CBBI กล่าวว่า ถึงแม้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะหดตัวอย่างมาก แต่ภาคบริการและค้าปลีกกลับฟื้นตัว จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรกังวลมากนัก เว้นเสียแต่ว่าจีนจะกลับมาปิดเมืองอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของภาคบริการและค้าปลีกชะงักลง และทำให้ภาวะเงินฝืดชัดเจนขึ้น

ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดอัตราเงินเฟ้อของจีนปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากราคาหมู และราคาพลังงานสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่อัตราการเพิ่มขึ้นชะลอตัวจากเดือนก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน ยังคงเดิมที่ 0.8% ในเดือนที่แล้ว

นายมิลเลอร์ ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg TV กล่าวว่า ความผันผวนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคของคนในประเทศได้

ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น การที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว หมายถึงสภาพเศรษฐกิจก็ชะลอตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสตั้งแต่ปลายปี 2562

นอกจากนี้ รายงานของ CBBI ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากตัวชี้วัดการเติบโตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อัตรากำไรและราคาขาย ได้หดตัวลงในไตรมาสที่สาม อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในภาคบริการและค้าปลีก แต่ยังคงต่ำกว่าระดับการขยายตัวในปี 2564

ที่มา: บลูมเบิร์ก