ภาวะ ‘stagflation’ ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่โลกต้องเจอ

ภาวะ ‘stagflation’ ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่โลกต้องเจอ

ธนาคารโลก เตือนว่า โลกมีความเสี่ยงเศรษฐกิจที่จะต้องเผชิญ นั่นคือ ภาวะ stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อพุ่งสูง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปส่อเค้าถดถอย เศรษฐกิจจีนชะลอตัวรุนแรง และผลผลิตทางเศรษฐกิจของสหรัฐหดตัว

“เดวิด มัลพาสส์” ประธานธนาคารโลก เตือนว่า การที่จะทำให้ทั่วโลกสามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งพารัสเซียอาจจะต้องใช้เวลานานหลายปี โดยนับตั้งแต่รัสเซียส่งกองกำลังทหารรุกรานยูเครนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทั่วโลกก็ต้องประสบกับวิกฤตพลังงาน และส่งผลให้โลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะ “stagflation” หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อสูง

มัลพาสส์ เตือนระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อวันพุธ (28 ก.ย.) ว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้น ที่เศรษฐกิจยุโรปจะเผชิญกับภาวะถดถอย ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงอย่างรุนแรง และผลผลิตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็หดตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

“สถานการณ์เหล่านี้จะสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา” มัลพาสส์ กล่าว พร้อมแนะนำว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างเชื่องช้านั้น จำเป็นต้องแก้ไขด้วยมาตรการทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายแบบกำหนดเป้าหมายให้มากขึ้น และการทุ่มเทความพยายามในการเพิ่มอุปทาน

มัลพาสส์ กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงราคาอาหาร ปุ๋ย และพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างมาก รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น การอ่อนค่าของสกุลเงิน และเม็ดเงินทุนที่ไหลออกนอกประเทศ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังเผชิญกับอันตรายจากการที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายประเทศที่ประสบกับความยากลำบากในการหวนกลับไปมีรายได้ต่อหัวประชากรที่ระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 แพร่ระบาด

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. “คริสติน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยว่า อีซีบีต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าผลข้างเคียงของการคุมเข้มนโยบายการเงินนั้น จะเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงก็ตาม

 “เราฉุดเงินเฟ้อลงสู่ระดับ 2% ในระยะกลาง และเราจะต้องทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ซึ่งก็คือ การเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อๆ ไป ” นางลาการ์ด กล่าวต่อสื่อมวลชน พร้อมเสริมว่า “หากเราไม่ดำเนินการเช่นนั้น เศรษฐกิจก็จะเสียหายมากยิ่งขึ้น”

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างอิงถ้อยแถลงของลาการ์ดว่า เป้าหมายแรกของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คือ การนำพาอัตราดอกเบี้ยไปสู่ระดับที่เป็นกลาง ซึ่งไม่กระตุ้น หรือชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ส่วนองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัว 2.2% ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.8% เนื่องจากเศรษฐกิจถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โออีซีดี ให้รายละเอียดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 1.4% ในปี 2566 ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.8% แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยังคงดำเนินนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษก็ตาม

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ปีนี้ เนื่องจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้าทำสงครามกับยูเครนได้ส่งผลให้ราคาพลังงาน อาหาร และวัตถุดิบประเภทอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกัน โออีซีดีก็คาดการณ์ว่า ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องมาจากผลกระทบของการที่หลายประเทศพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน

สำหรับปีนี้ โออีซีดี คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงสู่ 1.5% และ 1.6% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะขยายตัว 4.7% จากระดับ 3.2% ในปี 2565 โดยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิม

นอกจากนี้ โออีซีดี ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 3.1% ในปี 2565 แต่จะชะลอตัวลงอย่างรุนแรงจนแตะที่ระดับ 0.3% ในปี 2566 โดยระบุว่ายุโรปซึ่งต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในระดับสูงนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความยากลำบากให้กับธนาคารกลางทั่วโลก โดยโออีซีดี คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้น 6.2% ในปี 2565 และจากนั้นจะเพิ่มขึ้น 3.4% ในปี 2566 ขณะเดียวกันคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนจะพุ่งขึ้น 8.1% ในปี 2565 และเพิ่มขึ้น 6.2% ในปี 2566

ที่มา: รอยเตอร์