Fund Comment กันยายน 2565: ภาพรวมตลาดหุ้น

Fund Comment กันยายน 2565: ภาพรวมตลาดหุ้น

ภาพรวมตลาดหุ้น

            ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงต่อจากปลายเดือนก่อนหน้า จากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังคงเข้มงวดต่อเป้าหมายเงินเฟ้อ และความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วที่มีมากขึ้น ทำให้ดัชนี MSCI World Index ปรับตัวลดลง 9.7% ในเดือนกันยายน โดยในการประชุมเดือนที่ผ่านมา Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 75bps สู่ระดับ 3.00-3.25% ตามที่ตลาดคาด แต่ Dot Plot ส่งสัญญาณว่า Fed จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปถึง Terminal rate ที่ 4.6% ในปี 2023 ซึ่งบ่งชี้ถึงการยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยลงในปีหน้า ทิศทางดังกล่าวสร้างความผันผวนต่อตลาดพันธบัตรและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดย Bond Yield สหรัฐฯ 10 ปี ปรับขึ้นแตะระดับ 4.0% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2010 และค่าเงิน Dollar Index ปรับขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 20 ปี ขณะเดียวกัน ตลาดก็ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงจนมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession สูงขึ้น สะท้อนผ่าน Yield Spread สหรัฐฯ 10 ปี และ 2 ปี ที่ยังคงอยู่ระดับติดลบลึกสุดนับตั้งแต่ปี 2000 ดังนั้น ในระยะข้างหน้า พฤติกรรมของระดับอัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยนำที่สำคัญ ซึ่งหากส่งสัญญาณควบคุมได้จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ก็อาจช่วยชะลอความเข้มงวดนโยบายการเงินโลกลงได้ โดยภาพรวม ตลาดยังมีแนวโน้มปรับตัวผันผวน เพื่อติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลต่อภาพแนวโน้มในระยะถัดไป

            ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น แม้ว่าภาคการผลิตยังคงทรงตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี แต่ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง ได้ทำให้ภาคการบริการและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้ Fed ยังคงต้องส่งสัญญาณที่เข้มงวดในเดือนที่ผ่านมา ด้านเศรษฐกิจยูโรโซน ส่งสัญญาณที่อ่อนแอกว่า โดยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession ในปลายปีนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงการขาดแคลนพลังงานและภาวะเงินเฟ้อที่สูง ทำให้ ECB ยังคงใช้นโยบายที่เข้มงวดทางการเงินเช่นกัน ขณะที่เศรษฐกิจจีน ยังคงมีความไม่แน่นอนจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ตลาดเริ่มคาดหวังว่า หลังการประชุมพรรคในช่วงกลางเดือน จะทำให้เห็นความชัดเจนของทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามากขึ้น ทั้งนี้ จีนยังคงออกมาตรการทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม ช่วยหนุนเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นทิศทางที่ตรงข้ามกับประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ราว 10% ตั้งแต่ต้นปีเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า แม้ตัวเลขเศรษฐกิจแต่ละประเทศจะยังมีสัญญาณที่ปะปนกัน แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจนั้นเริ่มมีโมเมนตัมที่จะชะลอตัวลงมากขึ้น

            ด้านตลาดหุ้นไทย ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกในช่วงครึ่งเดือนหลัง ปรับตัวลดลง 3.0% รวมตั้งแต่ต้นปี ปรับตัวลดลงเพียง 4.1% แข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวลงสู่ระดับ Bear Market ที่ 26.7% โดยเศรษฐกิจไทยได้แรงหนุนการฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยว ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งสู่ระดับ 1 ล้านคนต่อเดือน ขณะที่อัตราการแพร่ระบาดในประเทศที่ไม่สูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ด้านปัจจัยจากกระแสเงินทุนต่างชาติ ด้วยค่าเงินสหรัฐฯ ที่แข็งค่าและท่าทีของ Fed ที่ Hawkish มากขึ้น ทำให้ในเดือนกันยายนเป็นยอดขายสุทธิเป็นเดือนที่สองของปีที่ 2.4 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิ 5.7 หมื่นล้านบาท รวมตั้งแต่ต้นปียังคงเป็นยอดซื้อสุทธิสูงถึงราว 1.5 แสนล้านบาท ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อยู่ในโหมดฟื้นตัวและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีแนวโน้มดีขึ้น จากผลกระทบจากต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่ลดลง ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัจจัยมหภาคน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว โดยยังคงกลยุทธ์หุ้นที่ผลประกอบการมีแนวโน้มที่ดี มีรายได้ที่เติบโตหรืออัตรากำไรที่ฟื้นตัวจากต้นทุนที่ลดลง