BBLAM Monthly Economic Review ตอน ยูโรโซน ญี่ปุ่น อินเดีย…ท่ามกลางข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง

BBLAM Monthly Economic Review ตอน ยูโรโซน ญี่ปุ่น อินเดีย…ท่ามกลางข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง

สรุปความสัมภาษณ์

ฐนิตา ตุมราศวิน
ทีม Economic Research
BBLAM

ยูโรโซน

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา Sentiment เชิงลบยังคงกดดันตลาดยูโรโซนอยู่ต่อเนื่อง และเมื่อมองไปข้างหน้าในไตรมาส 4/2022 ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิด Downside risk ได้อีกมาก โดยหลักๆ คือ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ช่วงนี้กลับมามีท่าทีแข็งกร้าวกันมากขึ้น รวมถึงการตอบโต้ของฝั่งตะวันตกที่เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซีย ทั้งนี้ อีกหนึ่งความผันผวนที่เข้ามากระทบดัชนีหุ้นยุโรปเมื่อช่วงปลายเดือนก.ย. ที่ผ่านมา คือ การที่รัฐบาลอังกฤษประกาศมาตรการลดภาษี ซึ่งเป็นการลดครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนว่า จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านไปทั้งในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดเงินที่ผันผวนอย่างมากในช่วงสัปดาห์นั้น โดยปอนด์อ่อนค่าแรง จนเกือบจะแตะระดับ 1 ปอนด์ต่อ 1 ดอลลาร์ฯ ส่งผลให้หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษออกมากล่าวว่า จะไม่ยื่นเสนอแผนนี้เข้าสภาแล้ว เนื่องจากเผชิญแรงต้านทั้งจากพรรคฝ่ายค้าน และส.ส. ภายในพรรคเอง ตลาดจึงตอบสนองเชิงบวก หลังคลายความกังวลเรื่องนี้ลงได้ ปอนด์จึงกลับแข็งค่าไปที่ 1.15 ดอลลาร์ฯ ต่อปอนด์

สำหรับประเด็นเรื่อง Recession ตัวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะ Recession เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในทุกๆ เดือน เริ่มจากดัชนี PMI ที่อยู่ในโซนหดตัว หรือต่ำกว่าระดับ 50 จุดมา 3 เดือนติดต่อกันแล้ว ด้านเงินเฟ้อของยูโรโซนล่าสุดเดือนก.ย. ที่เพิ่งประกาศออกมาก็พุ่งทะยานขึ้นไปแตะ 10% YoY เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่หักลบราคาอาหารและพลังงานก็ปรับเพิ่มขึ้นเยอะเช่นเดียวกัน จาก 4.3% YoY ในเดือนส.ค. เป็น 4.8% YoY ในเดือนก.ย. โดยจากตัวเลขเงินเฟ้อนี้ ทำให้ปัจจุบันตลาดคาดว่า ECB จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 75bps ในการประชุมปลายเดือนต.ค. นี้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้ตลาดคาดว่า อาจทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ ปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะ Recession แน่นอน แต่สิ่งที่ตลาดยังไม่แน่ใจคือ ความรุนแรงของปัญหา และอาจนำไปสู่การประเมินผลกระทบต่ำเกินไป กลายเป็นความเสี่ยงที่จะกดดันตลาดในไตรมาส 4 ไปจนถึงต้นปีหน้า ในกรณีที่เหตุการณ์เลวร้ายกว่าที่คาด ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์อาจผ่อนคลายลงหากมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว ว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่มีนั้นเพียงพอกับความต้องการใช้ของภาคธุรกิจและประชาชน อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ยังดูคลุมเครือ และมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ตลาดเบาใจในช่วงนี้ คือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่อยู่ในระดับสูงเกิน 80% ซึ่งเป็นเป้าหมายของอียูภายในวันที่ 1 พ.ย. นับว่าทำได้ตามเป้าก่อนกำหนด รวมทั้งอียูได้ออกมาตรการเพื่อรับมือและบรรเทาผลกระทบของวิกฤติพลังงาน อาทิ แผนการลดการใช้พลังงาน และการจัดเก็บภาษีลาภลอย เป็นต้น โดยสรุป ในระยะข้างหน้า ยูโรโซนยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบอีกมาก จึงอาจจะรอจังหวะลงทุนก่อน และเน้นการลงทุน Sector ที่มีความมั่นคง ไม่ผันผวนไปกับสภาวะเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่น

ประเด็นที่น่าสนใจในเดือนที่ผ่านมา  คงหนีไม่พ้นเรื่องของค่าเงินเยน ที่อ่อนค่าแรงทะลุระดับจิตวิทยาที่ 145 เยนต่อดออลาร์ฯ จนทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เรามองว่าการแทรกแซงในครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อหวังผลให้เยนเปลี่ยนทิศทางกลับมาแข็งค่า แต่เป็นการทำเพื่อชะลอการอ่อนค่าไม่ให้รวดเร็วในทางเดียว ซึ่งจากในอดีต เราก็จะเห็นว่าการแทรกแซงค่าเงินให้แข็งค่านั้นเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว และไม่สามารถทำได้ตลอดในระยะยาว เนื่องจากจะทำให้ทุนสำรองของประเทศร่อยหรอลง หากจะทำให้เยนกลับขามาเป็นแนวโน้มแข็งค่านั้น จะต้องมาจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินเป็นหลัก เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้เยนอ่อนค่าในตอนนี้ เป็นผลของความแตกต่างด้านนโยบายการเงินระหว่างญี่ปุ่นและธนาคารกลางอื่นๆ อย่างมาก โดยเฉพาะ Fed  เพราะฉะนั้น ถ้า BoJ ไม่มีท่าทีที่จะเปลี่ยนนโยบายการเงิน เราจึงคาดว่า เยนจะยังไม่กลับไปแข็งค่าได้อย่างรวดเร็ว นอกเสียจากว่า ดอลลาร์ฯ จะอ่อนค่าไปเอง ซึ่งการที่เยนยังอ่อนค่าแบบนี้ แต่ไม่มากจนเกินไป นับเป็นปัจจัยบวกกับตลาดญี่ปุ่น

ถ้าถามว่า ทำไม BoJ ถึงยังไม่เปลี่ยนนโยบายของตัวเอง คำตอบคือ อัตราเงินเฟ้อ ที่ BoJ มองว่า มาจากผลของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะปรับลดลง บวกกับค่าจ้างแรงงานซึ่งเป็นตัวหนุนให้เงินเฟ้อขยายตัวต่อเนื่องได้ในระยะยาวยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ BoJ มองว่าเงินเฟ้อจะไม่สามารถทรงตัวอยู่ในระดับเกิน 2% ได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า จึงยังไม่ต้องรีบปรับนโยบาย เนื่องจากการใช้นโยบายการเงินตึงตัวจะส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า อย่างล่าสุดผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่สำรวจโดย BoJ สำหรับไตรมาส 3/2022 ปรับตัวแย่ลงจากไตรมาส 2 ตอกย้ำแนวทางของ BoJ ที่กล่าวว่า ยังต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปก่อนเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

สำหรับแนวโน้มภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เรามองว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  และช่วงนี้มีปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศมากขึ้นในวันที่ 11 ต.ค. นี้  ซึ่งจะช่วยหนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Theme Reopening อาทิ การท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามามากขึ้นในไตรมาส 4 นี้ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดญี่ปุ่นดูน่าสนใจขึ้นในระยะสั้น แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเองก็พึ่งพาการส่งออกสูง ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปชะลอตัว ย่อมส่งผลกับตลาดญี่ปุ่นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อินเดีย

ในช่วงเดือนก.ค. และส.ค. เราจะเห็นได้ว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาในตลาดอินเดีย ก่อนจะกลับมาเป็นขายสุทธิอีกครั้งในเดือนก.ย. โดยเหตุผลหลักมาจากปัจจัยภายนอก อย่างท่าทีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นมาก และดัชนีตลาดทุนทั่วโลกปรับตัวลดลง

สำหรับพื้นฐานเศรษฐกิจของอินเดีย การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูงราว 6-7% ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนม.ค. 2023 ทั้งนี้ ถ้าเราดูที่ดัชนี PMI ล่าสุดของอินเดียจะพบว่ายังอยู่ในโซนขยายตัว คือ ยืนเหนือ 50 จุดได้ต่อเนื่อง ยอดคำสั่งซื้อใหม่ยังเติบโตได้ ส่วนเงินเฟ้อ แม้ล่าสุดในเดือนส.ค. จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 7% และอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 6% ของธนาคารกลาง แต่ก็นับว่าไม่ได้สูงมากจากปกตินัก ที่ผ่านมา ก่อนการระบาดของ COVID-19 เราก็เห็นเงินเฟ้อของอินเดียอยู่ที่ประมาณเท่านี้ได้ ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่ช่วงนี้เงินเฟ้อสูงเกินกว่าปกติไปมาก 

ส่วนความเสี่ยงในระยะข้างหน้าหลักๆ มาจากปัจจัยภายนอก อย่างการดำเนินนโยบายของ Fed และความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก ที่ทำให้เงินไหลออกจากตลาด EM และทำให้ค่าเงินรูปีอ่อนค่าแรง ส่วนปัจจัยลบที่เป็นปัจจัยภายในโดยมากมาจากราคาน้ำมัน ที่ก่อนหน้านี้ เป็นปัจจัยกดดันตลาดอินเดียอย่างหนัก เนื่องจากอินเดียต้องมีการนำเข้าน้ำมันจำนวนมาก เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น ดุลการค้าจึงขาดดุลสูง กระทบต่อทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลการชำระเงิน ส่งผลให้ค่าเงินรูปีอ่อนค่า ดังนั้น พอราคาน้ำมันปรับลดลงมาในช่วงนี้ ก็นับเป็นปัจจัยบวกกับตลาดอินเดีย ซึ่งในประเด็นนี้ เรามองว่าหลังจากนี้ หากราคาน้ำมันไม่ได้กลับไปพุ่งสูงขึ้นแรงๆ จะช่วยบรรเทาประเด็นเรื่องการขาดดุลต่างๆ ได้ อย่างดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 ที่เพิ่งประกาศออกมาก็ดีกว่าที่ตลาดคาด โดยขาดดุลไป 24,000 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ตลาดคาดว่าจะขาดดุลประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

นอกจากนี้ ถ้าราคาน้ำมันไม่ได้ปรับตัวขึ้นแรง ผลต่อเงินเฟ้อก็จะไม่ได้มากนัก ทำให้แรงกดดันที่ธนาคารกลางอินเดียต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมเงินเฟ้อลดลง เป็นปัจจัยหนุนตลาดอินเดียอีกทางหนึ่ง โดยปัจจุบันนโยบายการเงินของอินเดีย มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยมาแล้วถึง 190bps ตั้งแต่เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา สำหรับการประชุมของธนาคารกลางอินเดียล่าสุดเมื่อช่วงสิ้นเดือนก.ย. คณะกรรมการมีมติขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ตามที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นการปรับขึ้นไปพร้อมกับทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed บวกกับความต้องการควบคุมเงินเฟ้อของอินเดีย ที่มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงเหนือกรอบบนของธนาคารกลางที่ 6% อีกประมาณ 1-2 ไตรมาสข้างหน้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรามองว่าแรงกดดันด้านนโยบายการเงินที่ตึงตัวน่าจะเริ่มลดลงในไตรมาส 4/2022 นี้

ในระยะยาว การลงทุนในตลาดอินเดียยังน่าสนใจเช่นเคย แต่ในระยะสั้น อาจจะต้องหาจังหวะเวลาที่ราคาปรับลดลงมา เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับตัวลงได้ จากทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลกโดยเฉพาะของ Fed ที่กดดันตลาดทุน และวิกฤติพลังงานในยุโรปที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน