BBLAM Weekly Investment Insights 17-21 ตุลาคม 2022

BBLAM Weekly Investment Insights 17-21 ตุลาคม 2022

2022 – Opportunities are never lost

INVESTMENT STRATEGY

BBLAM ยังคงมีมุมมองว่า การลงทุนในกองทุน ESG จะให้ผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว เนื่องจากยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก และเป็นเทรนด์ในอนาคต 

คุณมทินา วัชรวราทร CFA® Head of Investment Strategy จาก BBLAM สัปดาห์นี้มาพูดถึงสถานการณ์ของหุ้นรักโลกถึงผันผวนในปีนี้ และทำไม BBLAM ถึงส่งสัญญาณว่า ทำไมในจังหวะแบบนี้ ถึงควรทยอยสะสมโอกาสลงทุน

ภาพรวมการลงทุนในกองทุนประเภทกองทุนความยั่งยืน (ESG) ในปี 2022

ก่อนปี 2022 การลงทุนในธีมความยั่งยืนได้รับความนิยมอย่างมีนัยสำคัญ สังเกตจากการไหลเข้าของเม็ดเงินการลงทุนในช่วงปี 2020 และ 2021 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนในปี 2022 ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงในวงกว้างนั้น เงินที่ไหลเข้ากองทุนประเภท ESG ก็เริ่มชะลอตัวลงเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนได้หันกลับไปลงทุนในกลุ่มพลังงานดั้งเดิม ซึ่งได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น 

ในระยะ 10 ปีต่อจากนี้ จะเป็นโอกาสของหุ้นกลุ่ม ESG

หลายประเทศให้ความสำคัญของการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมนโยบายการเร่งการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น และมีการให้เครดิตเงินคืนสำหรับบริษัทที่ผลิตพลังงานสะอาด อาทิ การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ นอกจากนั้น สหรัฐฯ จะเร่งการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศ โดยการให้เครดิตภาษีเงินคืนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม และแสงอาทิตย์ การผลิตแบตเตอรี่ และสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการใช้พลังงานสะอาด ซึ่ง BBLAM มองว่านโยบายเหล่านี้ น่าจะช่วยให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดของโลก

ในยุโรป แม้ว่าในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จะพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ แต่ BBLAM มองว่า ในอนาคตยุโรปจะต้องพึ่งพาพลังงานที่ผลิตด้วยตนเองมากขึ้น

จากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ซึ่งทำให้กลุ่มประเทศยุโรปและรัสเซียมีข้อพิพาทกัน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศยุโรปจึงต้องเริ่มลงทุนด้านพลังงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพลังงานทดแทน อาทิ เยอรมนีได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนถึง 15% ซึ่งจะเป็นโอกาสของหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนในยุโรปเช่นกัน

การควบคุมราคาพลังงานในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อหุ้นธีม ESG หรือไม่

เนื่องจากราคาพลังงานในยุโรปเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และหลายประเทศมีแนวคิดที่จะควบคุมราคาพลังงานที่ประชาชนต้องรับภาระ ซึ่ง BBLAM มองว่าผู้ผลิตพลังงานสะอาดจะได้เปรียบจากนโยบายการควบคุมราคาพลังงานในยุโรปมากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนต่ำที่สุด และราคาพลังงานที่ผู้บริโภคซื้อจะเป็นราคาที่ถูกกำหนดตามนโยบายของภาครัฐ ทำให้บริษัทพลังงานสะอาดเหล่านี้จะสามารถรักษาอัตราการทำกำไรได้ (margin)

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องจับตาดูอยู่บ้าง เช่น แนวคิดที่จะจำกัดการห้ามไม่ให้นำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานทดแทนจากสถานที่ที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งหลายฝ่ายได้พุ่งเป้าไปที่การใช้แรงงานของจีน ซึ่งอาจทำให้หุ้นธีม ESG ในจีนได้รับผลกระทบบ้าง

ทำไมต้องกองทุน B-SIP

กองทุน B-SIP ให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นธีม ESG โดยเฉพาะพลังงานสะอาด ซึ่ง BBLAM มองว่าน่าจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว และหากตลาดหุ้นอยู่ในช่วงที่หุ้นปรับฐานจะทำให้กองทุน B-SIP น่าสนใจมากขึ้นอีก เนื่องจากจะมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนมากขึ้น 

กองทุน B-SIP จะลงทุนใน 2 กองทุน คือ (1) กองทุน Pictet – Global Environmental Opportunities (GEO) (ประมาณ 75-80% ของพอร์ต) และ (2) กองทุน Pictet – Clean Energy (ประมาณ 20-25% ของพอร์ต)

  • กองทุน GEO ลงทุนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 33% การบำบัดของเสียและรีไซเคิล 21% การควบคุมมลภาวะ 17% และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 11% โดยที่ผ่านมา การลงทุนในพลังงานทดแทนสร้างผลตอบแทนได้ดี ในขณะที่การลงทุนในด้านการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสร้างผลตอบแทนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ที่ผ่านมา หมวดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น บริษัท Johnson control ราคาหุ้นปรับตัวลงมาก ก็กระทบกับพอร์ต            

ทั้งนี้ กองทุนมีการปรับพอร์ตการลงทุนเป็นระยะๆ เช่น การลดสัดส่วนหุ้นกลุ่มการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพลง แต่ไปเพิ่มการลงทุนในบริษัทที่น่าสนใจที่หลายคนคงคิดไม่ถึง แต่ก็เป็นธุรกิจที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น Shimano ซึ่งมียอดขายจักรยานคิดเป็น 70 – 80% ของตลาดจักรยานทั้งโลก ซึ่งจักรยานและจักรยานไฟฟ้ากลายเป็นว่า ช่วงที่ผ่านมาได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งในญี่ปุ่น และที่น่าสนใจคือ จักรยานที่เป็นระดับ Hi-end ได้รับการตอบรับดีมากในอเมริกา และในยุโรปยอดขายก็ทำได้ดี

นอกจากนั้น กองทุน GEO ยังเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ และเพิ่มการลงทุนในกลุ่มการบำบัดของเสียและรีไซเคิล เช่น การลงทุนในบริษัท Waste Management ที่ส่งเสริมการรีไซเคิล และการบำบัดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นธุรกิจเข้าข่ายการใช้ทรัพยากรคุ้มค่าและเป็นธุรกิจที่มีความเฉพาะตัวมาก ได้แก่ บริษัท Ansys เป็นบริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์จำลอง (simulation) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า ตัวอย่างเช่น บริษัทรถยนต์อย่าง BMW จะสร้างโรงงานประกอบรถ ก็เอาองค์ประกอบต่างๆ มาสร้างใน Simulation และก็ลองทำหลายๆ แบบดูว่าทำอย่างไรให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรืออย่าง Dyson เช่นกันก็ใช้แบบจำลองในการทำเครื่องเป่าผมออกมาให้มีประสิทธิภาพดี ความได้เปรียบของ Ansys ก็คือ ความซับซ้อนของซอฟแวร์สูงและทำให้มี High barrier to entry คู่แข่งขันเข้ามาได้ยาก ทำให้เป็นหุ้นที่สามารถให้ผลตอบแทนดีต่อไปได้ในอนาคต

นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวกับการกำจัดขยะ หรือการรีไซเคิล ซึ่งกองทุนเข้าไปลงทุนมีสัดส่วนอันดับต้นๆ เช่น บริษัท Republic Services (กองทุน GEO ให้น้ำหนักในการลงทุนมากที่สุด) ซึ่งเป็นบริษัทกำจัดขยะที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของอเมริกา และอีกบริษัทที่ลงทุน คือ Waste connection ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกาที่ดำเนินการเรื่องของขยะครบวงจร ได้แก่ การจัดการเรื่องขยะ การเก็บขยะ ส่งต่อ ทำลาย พวกถังใส่ขยะขนาดใหญ่ ตู้คอนเทนเนอร์ใส่ขยะ รถเก็บขยะ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/bblam-investment-insights/17-21-2022