BBLAM Monthly Economic Review ตอน เงินเฟ้อญี่ปุ่นแตะ 3% ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

BBLAM Monthly Economic Review ตอน เงินเฟ้อญี่ปุ่นแตะ 3% ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

BBLAM Monthly Economic Review ตอน เงินเฟ้อญี่ปุ่นแตะ 3% ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี การเมืองอังกฤษทำตลาดผันผวน จับตาแผนใช้จ่ายรัฐบาลใหม่

ฐนิตา ตุมราศวิน
ทีม Economic Research
BBLAM

สำหรับเดือนต.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นการเปิดมาเดือนแรกของไตรมาส 4/2022 ด้วยความผันผวนอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ซึ่งส่วนใหญ่ประเด็นที่น่าสนใจในเดือนนี้จะอยู่ที่เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ ทั้งยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดีย

ยูโรโซน

เงินเฟ้อล่าสุดของยูโรโซนจะเห็นว่ายังคงทำ New High อย่างต่อเนื่องไปแตะเลข 2 หลักที่ 10.7% ในเดือนก.ย. และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นต่อ ด้านประธาน ECB เองก็ระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภคปรับลดลง บวกกับวิกฤติการขาดแคลนก๊าซในอนาคต ที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปได้อีก และด้วยภาพเงินเฟ้อเช่นนี้ทำให้ในการประชุม ECB ช่วงปลายเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ECB มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 75 bps ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้ตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ณ ปัจจุบัน ตลาดมองโอกาสในการเกิดอยู่ที่ราว 70-80%

เมื่อเรามองย้อนกลับมาเล็กน้อยที่ไตรมาส 3/2022 ตัวเลข GDP ที่เพิ่งประกาศออกมานั้นดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ GDP ของเยอรมนีที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว -0.2%  แต่กลับขยายตัวได้ถึง 0.3% QoQ ทำให้ GDP รวมของยูโรโซนยังเติบโตได้ที่ 0.2% QoQ อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้เป็นเพียงประมาณการเบื้องต้นที่บางข้อมูลยังเป็นการประมาณการอยู่ เราจึงต้องติดตามตัวเลข GDP ที่จะทยอยประกาศสำหรับประมาณการครั้งที่ 2 และรอบสุดท้าย (Final) ว่ามีการปรับลดลงหรือไม่ ทั้งนี้ สำหรับ GDP ในไตรมาส 4/2022 และไตรมาส 1/2023 ก็ต้องดูความรุนแรงของวิกฤติขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาวนี้ ซึ่งปัจจุบัน เราจะเห็นว่าบรรยากาศในประเด็นนี้ดูผ่อนคลายขึ้น ทั้งจากเรื่องปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่อยู่ในระดับสูงถึง 95% ณ สิ้นเดือนต.ค. บวกกับอากาศที่อบอุ่นกว่าคาดในเดือนต.ค. และมีแนวโน้มว่าฤดูหนาวนี้อุณหภูมิจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวัง ความผันผวนในช่วงที่เหลือของปีไปจนถึงต้นปีหน้า เนื่องจากสภาพอากาศนับเป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยาก นอกเหนือไปจากความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินต่อไป

ด้านความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองของอังกฤษ ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ หลังทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนหลังอย่างหนักในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากเดือนก.ย. ที่รัฐบาลของ Liz Truss มีการออกมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ในรอบหลายสิบปี ท่ามกลางระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง จนทำให้ความเชื่อมั่นในค่าเงินปอนด์ และเศรษฐกิจอังกฤษลดลงอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น เมื่อรัฐบาลกลับลำแผนนโยบายดังกล่าว ตลาดจึงคลายความกังวลไปได้ระดับหนึ่ง เห็นได้จากการที่ปอนด์กลับมาแข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษปรับลดลง และยิ่งคลายความกังวลมากขึ้นเมื่อ Liz Truss ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ต.ค. และพรรค Conservative ได้เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่อย่าง Rishi Sunak มาเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตลาดคาดหวังว่า Rishi จะสามารถเรียกความเชื่อมั่น และทำให้เศรษฐกิจอังกฤษกลับมามีเสถียรภาพได้ ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกต่างจับตาการประกาศแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่จะประกาศวันที่ 17 พ.ย. นี้ ว่าจะผ่อนคลายหรือเข้มงวดมากเพียงใด

ญี่ปุ่น

เรื่องเงินเฟ้อที่ไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับญี่ปุ่น แต่ล่าสุด กลับเริ่มส่งสัญญาณกดดัน BoJ บ้างแล้ว เนื่องจาก ในเดือนก.ย. เงินเฟ้อเมื่อหักราคาอาหารสดขึ้นไปแตะถึงระดับ 3% สูงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี จากราคาพลังงาน และการอ่อนค่าของเยน ที่ทำให้ต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อการปรับค่าจ้างแรงงานของบริษัทญี่ปุ่นในรอบปีหน้า ที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ)

การเคลื่อนไหวของเยนในเดือนต.ค. ที่ผ่านมา กลับมาอ่อนค่าต่อเนื่องหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงไปในช่วงปลายเดือนก.ย.  โดยอ่อนค่าจนแตะระดับเกิน 150 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงวันที่ 21 ต.ค. จนทำให้รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงโดยใช้ปริมาณเงินก้อนใหญ่อีกครั้ง สำหรับในรอบก่อนหน้านี้ใช้ไปประมาณ 3 ล้านล้านเยน ส่วนในครั้งนี้ ใช้ไปถึง 6.3 ล้านล้านเยน และหลังจากนี้ไปจะเป็นการวัดใจ ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะยอมใช้ปริมาณเงินทุนสำรองมากเพียงใดในการต่อสู้กับการอ่อนค่าของเยนในครั้งนี้ เพราะสาเหตุหลักมาจากความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่าง Fed กับ BoJ ดังนั้น ตราบใดที่ BoJ ยังไม่ขยับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น หรือ Fed เองยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย แรงกดดันด้านอ่อนค่าของเยนก็จะยังมีอยู่ต่อไป ซึ่งในทางหนึ่ง การที่เยนอ่อนค่านั้นช่วยหนุนรายได้ของบริษัทส่งออกให้มีรายได้เมื่อตีกลับมาเป็นเยนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องนำเข้ามีราคาสูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ หากถามว่า การอ่อนค่าของเยนต้องมากถึงจุดไหนกว่าที่ BoJ จะยอมปรับนโยบาย คำตอบคือ เมื่อ BoJ เห็นว่า การอ่อนค่าของเยนนั้นทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น จนตัวเลขเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงยาวนาน และทำให้บริษัทในญี่ปุ่นต้องมีการปรับค่าจ้างแรงงานในอัตราที่สูงถึง 4-5% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยก่อนหน้านี้ที่ประมาณ 2% เนื่องจากการปรับค่าจ้างแรงงานขึ้น จะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวขึ้น และส่งผ่านให้เงินเฟ้อในระบบสูงขึ้นแตะ 2% ในระยะกลางถึงยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ BoJ แต่หากเราพิจารณาจากประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุด จะพบว่า BoJ คาดว่าเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2023 และ 2024 จะอยู่ที่เพียง 1.6% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมาย 2% อยู่ จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไม BoJ ยังไม่ปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้น แม้ว่าปัจจุบัน เงินเฟ้อของญี่ปุ่น เมื่อหักราคาอาหารสดออก จะพุ่งสูงขึ้นเกินเป้าหมาย 2% มานานติดต่อกันถึง 6 เดือนแล้วก็ตาม สิ่งที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับค่าจ้างประจำปี หรือ Shunto ในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น หรือ Rengo เพิ่งออกมากล่าวว่า ในปี 2023 นั้น ตั้งเป้าต่อรองให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง 5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 28 ปี โดยถ้าเพิ่มได้มากถึง 4-5% เรามองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ BoJ จะมีการปรับมุมมองที่มีต่อเงินเฟ้อในระยะกลางถึงระยะยาว นำไปสู่การปรับนโยบายการเงิน และคงจะทำให้เยนกลับลงมาเป็นทิศทางแข็งค่าได้

อินเดีย

เงินเฟ้อล่าสุดในเดือนก.ย. อยู่ที่ 7.4% YoY โดยอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบบนของเป้าหมายของธนาคารกลาง หรือ RBI ที่ 6% มานานถึง 3 ไตรมาส สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลจนทำให้เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา RBI ต้องจัดการประชุมนอกรอบ เพื่อจัดทำรายงานตอบคำถามรัฐบาลถึงสาเหตุที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกิน 6% มานานถึง 9 เดือน และระบุแผนในการทำให้เงินเฟ้อกลับลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2-6% รวมไปถึงต้องประเมินระยะเวลาในการทำให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบด้วย สำหรับการประชุมตามตารางรอบถัดไปของ RBI จะเกิดขึ้นในเดือนธ.ค. ซึ่งเราคาดว่าจะมีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) 35 bps จากปัจจุบันที่ 5.9% เป็น 6.25% อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อในเดือนต.ค. และพ.ย. ประกาศออกมาแล้วอยู่ในระดับที่สูงมากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ RBI จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 35bps  ด้านภาพรวมเศรษฐกิจอินเดียถือว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ดัชนี PMI ล่าสุดในเดือนต.ค. ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการยังคงอยู่ในระดับเกิน 50 จุด แม้ว่าความร้อนแรงของการฟื้นตัวจะเริ่มแผ่วลงบ้างแล้วในบางดัชนีชี้วัด แต่เรามองว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อินเดียถือว่าเติบโตโดดเด่น อย่างไรก็ตาม แม้ภาพเศรษฐกิจในประเทศจะสนับสนุน Sentiment ของตลาด แต่นักลงทุนยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มาจากปัจจัยภายนอกอย่างการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีสะพัด รวมถึงทิศทางการอ่อนค่าของรูปี