BF Knowledge Tips: ต้องรู้ไว้! ขั้นตอนลดหย่อนภาษี RMF SSF ปี 2565

BF Knowledge Tips: ต้องรู้ไว้! ขั้นตอนลดหย่อนภาษี RMF SSF ปี 2565

โดย อรพรรณ บัวประชุม  CFP®  

ใครที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF และกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF ซึ่งเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี ก็เชื่อว่าอยากลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีกันทั้งนั้น งั้นต้องฟังทางนี้ การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจะไม่เหมือนปีที่ผ่านมา เพราะในปีนี้กรมสรรพากรได้ออกประกาศบังคับใช้ใหม่ โดยกำหนดให้ลูกค้าที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF หรือ SSF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ต้องแจ้งความประสงค์กับ บลจ. โดยตรงผ่านช่องทาง Online หรือที่หน้าเว็บไซต์ หรือสำหรับใครที่ลงทุนผ่านผู้สนับสนุนการขายก็สามารถแจ้งความประสงค์ผ่านผู้สนับสนุนการขายที่เราติดต่อซื้อหน่วยลงทุนได้ค่ะ เช่น ถ้าลงทุนผ่านสาขาธนาคารกรุงเทพ ก็สามารถแจ้งกับธนาคารกรุงเทพได้

ส่วนใครที่ลงทุนหลายกองทุน หลายบลจ. หลายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ปี 2565 นี้ จะต้องแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีเงินได้ทุกบลจ.ที่ลงทุน ที่เราต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพื่อให้ทุกบลจ.ที่เราลงทุนส่งข้อมูลการลงทุนให้กับกรมสรรพากรเพื่อเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่ะ

ส่วนใครที่สับสนไม่แน่ใจว่าเราแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แต่ละบลจ.ไว้อย่างไรกันบ้าง สามารถตรวจสอบผ่าน Link การแจ้งความประสงค์ของแต่ละบลจ. หรือติดต่อที่ Call Center ของบลจ.ได้โดยตรง ซึ่งเมื่อเราแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำใหม่ทุกปี แค่แจ้งความประสงค์ครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้ตลอด จนกว่าจะอยากเปลี่ยนแปลง ก็แจ้งความประสงค์ใหม่ให้บลจ.ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงค่ะ

ได้ยินแบบนี้ ใครที่ลงทุน RMF SSF ปี 2565 ไปแล้ว อย่าลืมสำรวจกันให้ดีๆ ก่อนว่า ลงทุนกับบลจ.ไหนไปบ้าง ต้องแจ้งความประสงค์ให้ครบทุกที่ที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนกันด้วยนะคะ ซึ่งในกรณีแจ้งผ่านผู้สนับสนุนการขาย สามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของปี 2565  ส่วนใครที่สะดวกผ่านช่องทาง Online สามารถแจ้งความประสงค์ได้ถึงวันสุดท้ายของปี หรือวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ค่ะ

สำหรับใครที่ทำงานยุ่งมากๆ แทบจะไม่มีเวลาลงทุน แต่หาเวลาลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี ปี 2565 สำเร็จแล้ว แต่ลืมแจ้งความประสงค์การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบางบลจ. ก็อย่าเพิ่งตกใจว่าจะไม่สามารถใช้สิทธิได้ค่ะ กรมสรรพากรยังใจดีให้เราแจ้งความประสงค์ขอนำส่งข้อมูลภาษีย้อนหลัง สำหรับปีการลงทุน 2565 ซึ่งขอผ่านบลจ.ที่เราลงทุนได้ ผ่านช่องทาง Online หรือผ่านผู้สนับสนุนการขายที่เราซื้อหน่วยลงทุนค่ะ

ดังนั้น ก่อนยื่นภาษี สำรวจให้ดีๆ ว่า ข้อมูลที่เราลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็น RMF หรือ SSF มีข้อมูลครบทุกกองทุนที่ลงทุนมั้ย มีครบทุกบลจ.ที่ลงทุนและที่ต้องการลดหย่อนภาษีแล้วหรือเปล่า ซึ่งหากมีไม่ครบสำหรับการยื่นภาษีแบบ Online ก็อย่าเพิ่งยื่นภาษีกันไปค่ะ แนะนำให้ติดต่อบลจ.ที่เราลงทุนและขอข้อมูลภาษีย้อนหลัง ซึ่งหากเรายื่นภาษีเร็วในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ทางบลจ.จะนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรโดยใช้เวลารวมประมาณ 5 วันทำการ ซึ่งเราสามารถยื่นภาษีใหม่ได้หลังจากนี้ เพราะข้อมูลที่เราขอจะเข้าไปอยู่กับกรมสรรพากรโดยตรงค่ะ

แต่ถ้าใครยื่นภาษีล่าช้าหลัง 31 มีนาคม และปรากฎว่าข้อมูลกองทุนที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมีไม่ครบ ก็ต้องติดต่อบลจ.ที่ไม่มีข้อมูล เพื่อให้ทางบลจ.ส่งข้อมูลภาษีย้อนหลังให้กับกรมสรรพากร ซึ่งช่วงระยะเวลานี้อาจจะช้ากว่าการยื่นภาษีภายใน 31 มีนาคมสักหน่อย ซึ่งจะใช้เวลารวมประมาณ 10 วันทำการ ข้อมูลการลงทุนของเราจึงจะครบถ้วนอยู่ในข้อมูลของกรมสรรพากร และเราจึงจะยื่นภาษีเพื่อลดหย่อนได้อย่างครบถ้วนอย่างที่ต้องการได้ค่ะ

ย้ำอีกครั้งค่ะ ซื้อ RMF SSF ปี 2565 จะลดหย่อนภาษีต้องแจ้ง บลจ.ก่อนค่ะ โดยลูกค้า บลจ.บัวหลวง แจ้งทางเว็บไซต์ ได้ถึง 31 ธันวาคมนี้ ส่วนใครสะดวกแจ้งที่ผู้สนับสนุนการขาย หรือสาขาธนาคารกรุงเทพ ต้องแจ้งภายใน 30 ธันวาคมนี้นะคะ