จับตาแนวโน้มราคา ‘น้ำมันโลก’ หลัง ‘ปูติน’ สั่งแบนส่งออก

จับตาแนวโน้มราคา ‘น้ำมันโลก’ หลัง ‘ปูติน’ สั่งแบนส่งออก

ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาห้ามส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันให้แก่ชาติที่เข้าร่วมกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ก.พ.2566 เป็นต้นไป

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาเมื่อวันอังคาร (27 ธ.ค.) ห้ามการจัดส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ให้แก่ชาติที่เข้าร่วมในการ กำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันรัสเซีย

คำสั่งในกฤษฎีกาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 ถึงวันที่ 1 ก.ค.2566 โดยรัสเซียจะไม่ส่งออกน้ำมันดิบแก่บรรดาประเทศเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 เป็นต้นไป ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันจะมีการกำหนดเวลาหลังจากนั้น

กลุ่มประเทศ G7 สหภาพยุโรป (อียู) และ ออสเตรเลีย ได้บรรลุข้อตกลงในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียไว้ที่ระดับ 60 ดอลลาร์/ บาร์เรลเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2565 เป็นต้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้รัสเซียมีรายได้ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันที่จะนำไปใช้ สนับสนุนการทำสงครามในยูเครน

การกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าวถือเป็น “มาตรการลงโทษ” ต่อการที่รัสเซีย ส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่า จะยุติลงได้

ภายใต้มาตรการลงโทษรัสเซียด้วยการ กำหนดเพดานราคาน้ำมัน ส่งผลให้สถาบันการเงิน บริษัทเดินเรือ บริษัท ประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยต่อ ไม่สามารถให้บริการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งคาร์โกน้ำมันรัสเซียที่มีราคาสูงกว่า เพดานที่ G7 และพันธมิตรกำหนดไว้ และนั่นเป็นที่มาของการแสดงท่าทีตอบโต้ อย่างแข็งกร้าวล่าสุดของปธน.ปูติน

“แอนตัน ซิลูอานอฟ” รัฐมนตรีคลัง ของรัสเซีย เปิดเผยว่า รัสเซียอาจขาดดุลงบประมาณมากกว่าที่วางแผนไว้ที่ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2566 เนื่องจากการจำกัดเพดาน ราคาน้ำมันของรัสเซียจะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง นับเป็นปัญหาทางการคลังพิเศษของรัสเซียหลังใช้เงินไปอย่างมากในการทำสงครามในยูเครน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซีย ระบุว่า การจำกัดเพดานราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันมันดิบและน้ำมันกลั่นของรัสเซียอาจทำให้การผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลง 5-7% ในต้นปีหน้า แต่เขาให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามภาระผูกพันในการใช้จ่าย โดยจะใช้เงินจากการกู้ยืมและกองทุนสะสมฉุกเฉินตามความจำเป็น

ซิลูอานอฟ ระบุว่า อาจมีการปรับลดปริมาณการส่งออกพลังงาน เนื่องจากบางประเทศกีดกันรัสเซีย และรัสเซียพยายามมองหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะกำหนดผลตอบแทนการส่งออกของรัสเซีย

หากปริมาณส่งออกลดลง รัสเซีย จะมีเงินทุนเพิ่มเติมจาก 2 แหล่ง ได้แก่ การกู้ยืมเงิน และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (NWF) ซึ่งสะสมเงินสำรองของรัฐไว้

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า รัฐบาลรัสเซีย กู้ยืมเงินจำนวนมากในไตรมาสปัจจุบัน หลังขาดแคลนเงินทุนมาเป็นเวลาหลายเดือนเนื่องจากการตัดสินใจส่งกำลังทหาร หลายหมื่นนายเข้ารุกรานยูเครนตั้งแต่เดือนก.พ. ที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน รัสเซียคาดว่าจะใช้เงิน ประมาณ 2 ล้านล้านรูเบิล หรือ 29,240 ล้านดอลลาร์ จาก NWF ในปี 2565 เนื่องจากการใช้จ่ายทั้งหมดเกิน 30 ล้านล้านรูเบิล ซึ่งมากกว่าแผนเบื้องต้นของปีนี้แล้ว

ขณะที่ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเล็กน้อยในวันอังคาร (27 ธ.ค.) หลังมีรายงานว่าโรงกลั่นน้ำมันบางส่วนในสหรัฐเริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังจากที่ปิดทำการไปก่อนหน้านี้เนื่องจากผลกระทบของพายุหิมะ โดยข่าวดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากข่าวจีน เปิดประเทศ ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 3 เซนต์ หรือ 0.03% ปิดที่ 79.53 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญา น้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 41 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 84.33 ดอลลาร์/บาร์เรล

ระหว่างวัน สัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นทะลุระดับ 80 ดอลลาร์ ขานรับข่าวจีนประกาศเปิดประเทศทั้งขาเข้าและขาออก โดยจีนจะกลับมาดำเนินการออกวีซ่าให้กับชาวจีนที่อาศัยในแผ่นดินใหญ่สำหรับการเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 และจะยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ โดยมีผล ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 หลังจากที่มีการบังคับใช้มานาน 3 ปีเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ จีนจะผ่อนคลายมาตรการจัดการเกี่ยวกับโควิด-19 สู่ระดับ Category B จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ Category A ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันขั้นสูงสุด

อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลง ในเวลาต่อมา หลังมีรายงานว่าโรงกลั่นน้ำมัน หลายแห่งในเขตกัลฟ์โคสต์ของสหรัฐ เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้งและยกระดับการผลิต หลังจากที่ก่อนหน้านี้โรงกลั่น ต้องปิดการดำเนินงานเนื่องจากอิทธิพลของพายุหิมะทำให้อุณหภูมิลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าของโรงกลั่นน้ำมันในเขตกัลฟ์โคสต์

สำหรับข่าวความเคลื่อนไหวล่าสุดที่มีผลต่อตลาดน้ำมันนั้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาห้ามการจัดส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันให้แก่ชาติที่เข้าร่วมในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

คำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ก.พ. 2566 ถึงวันที่ 1 ก.ค.2566 โดยรัสเซีย จะห้ามส่งออกน้ำมันดิบต่อชาติดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมัน จะมีการกำหนดเวลาหลังจากนั้น

รัสเซียจะไม่ส่งออกน้ำมันดิบแก่ประเทศเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 เป็นต้นไป ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมัน จะมีการกำหนดเวลาหลังจากนั้น

ที่มา: รอยเตอร์