‘สังคมสูงวัยอยู่ร่วมหนุ่มสาว’ โจทย์หินพัฒนาการศึกษา-แก้ยากจน

‘สังคมสูงวัยอยู่ร่วมหนุ่มสาว’ โจทย์หินพัฒนาการศึกษา-แก้ยากจน

‘สังคมสูงวัยอยู่ร่วมหนุ่มสาว’ โจทย์หินพัฒนาการศึกษา-แก้ยากจน ขณะที่ ประชากรโลก 8,000 ล้านคน เป็นสัญญาณการพัฒนาด้านสาธารณสุขที่ช่วยยืดอายุขัย และบ่งชี้ว่า โลกมีความหลากหลายด้านประชากรมากขึ้น

การเติบโตของประชากรและคนหนุ่มสาวในประเทศเอเชียใต้ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนา และเพิ่มระดับความท้าทายด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การลดปัญหาความยากจนไปจนถึงการพัฒนาการศึกษา

 ปี 2566 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์สำหรับประชากรเอเชีย และเป็นครั้งแรกที่ “อินเดีย” อาจมีประชากรมากกว่าจีน จนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

ผู้เชี่ยวชาญหลายคน กล่าวว่า ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการค้าของอินเดียกับประเทศอื่น ๆ และเมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดการณ์ว่า อินเดียจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคิดเป็นมูลค่ามากถึง 840,000 ล้านดอลลาร์ในอีก 15 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายนี้

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอินเดีย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพความซับซ้อนและการเพิ่มขึ้นของประชากร ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชาชนอายุน้อยกับประเทศพัฒนาที่กำลังเสื่อมถอยเพราะมีแต่คนสูงวัย

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ปี 2565 ว่า ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 8,000 ล้านคน และเอเชียเป็นทวีปที่มีประชากรมากกว่า 4,000 ล้านคน 

ข้อมูลของยูเอ็น ระบุด้วยว่า นอกจากจีนที่มีประชากร 1,426 ล้านคน และอินเดียมีประชากร 1,417 ล้านคนแล้ว ยังมีประเทศในเอเชียอีก 5 ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคนในปี 2565 ได้แก่ อินโดนีเซีย 276 ล้านคน ปากีสถาน 238 ล้านคน บังกลาเทศ 172 ล้านคน ญี่ปุ่น 124 ล้านคน และฟิลิปปินส์ 116 ล้านคน ส่วนประเทศเวียดนามมีประชากร 98 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านคน ในเร็วๆ นี้

ยูเอ็น ระบุว่า จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8,000 ล้านคน เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการพัฒนาด้านสาธารณสุขที่ช่วยยืดอายุขัย และบ่งบอกว่าโลกมีความหลากหลายทางประชากรมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ทวีปเอเชียมีประเทศที่ประชากรอายุไม่มากนัก โดยเฉลี่ย คือ ในช่วง 20 ปีในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ประชากรมีอายุเฉลี่ย 27.9 ปี, ปากีสถาน 20.4 ปี, และฟิลิปปินส์ 24.7 ปี ส่วนประชากรในประเทศเศรษฐกิจยุคเก่ามีอายุเฉลี่ยอยู่ในช่วง 40 ปี เช่น  ญี่ปุ่น 48.7 ปี และเกาหลีใต้ 43.9 ปี ทั้งยังมีช่องว่างด้านอายุระหว่างคนหนุ่มสาวและผู้สุูงอายุห่างกันมากตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ข้อมูลจากโครงการของยูเอ็น ระบุว่า ประชากรอินเดียจะเพิ่มขึ้นประมาณ 11 ล้านคนในช่วงปี 2565-2566 เป็น 1,430 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 17% ของประชากรโลก แต่อินเดียมีที่ดินทำกินแค่ 2.4% และมีแหล่งน้ำเพียง 4% ทำให้อินเดียมีทั้งโอกาสและความท้าทายมากมายในอนาคต

รายงานของรัฐบาลอินเดีย ระบุว่า “ขณะที่อินเดียประสบกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร บวกกับพลวัตทางสังคมและเทคโนโลยีขั้นสูง คนหนุ่มสาวอินเดีย จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ติดตามเศรษฐกิจอินเดีย (ซีเอ็มไออี) ระบุว่า แม้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ของอินเดียอาจขยายตัว 7% ในปีนี้ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงจะหมดไป แต่อินเดียยังต้องเผชิญกับอัตราการว่างงานสูงประมาณ 8% บ่งชี้ว่าประเทศนี้ยังสร้างงานรองรับการเพิ่มขึ้นของประชาชนอีกมาก

“โชทาโร คุมากาอิ” นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยแห่งชาติญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า ความท้าทายจากข้อกังวลเรื่องอาหารคือ การผลิตพืชผลเกษตรอาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศได้ง่าย

“ในอีกแง่หนึ่ง ความต้องการอาหารในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่การผลิตลดลง อาจทำให้เกิดการระงับส่งออกสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งอินเดียเริ่มระงับการส่งออกข้าวในปี 2565 และอาจเกิดปัญหาซัพพลายเชนด้านอาหารในประเทศอื่นๆ เช่นกัน”

ส่วน “ญี่ปุ่น” ประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วที่สุดในเอเชีย เผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น ประชากรในชนบทลดลงและบ้านเมืองเสื่อมโทรมจากการย้ายถิ่นฐาน

ข้อมูลเชิงสถิติจากรัฐบาลญี่ปุ่นล่าสุด บ่งชี้ว่า อัตราเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงต่ำกว่า 8 แสนคนเป็นครั้งแรกในปี 2565 ซึ่งลดลงเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

“ฮิโรคาสึ มัตสึโนะ” ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาว่า เขาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการโน้มน้าวใจชายหญิงญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เผชิญกับอัตราการเกิดลดลงเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการแต่งงานช้า ส่งผลให้คู่สมรสเลื่อนการมีบุตรออกไป

ส่วนอัตราเด็กเกิดใหม่ในจีนยังคงที่และคาดว่าจะเริ่มลดลงก่อนปี 2568 นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นกัน รวมถึงสิงคโปร์และไทย

ยูเอ็นคาดการณ์ว่า ในระยะยาวการเติบโตของประชากรอาจลดลงทั่วโลกเป็นเวลาหลายสิบปี โดยจำนวนประชากรโลกจะแตะ 9,000ล้านคนในปี 2580 ใช้เวลานานกว่าช่วงการเติบโตของประชากรจาก 7,000 ล้านคน สู่ 8,000 ล้านคน และประชากรจะเพิ่มขึ้นถึง 1.04  หมื่นล้านคนในปี 2629

คุมากาอิ ย้ำว่า องค์กรระหว่างประเทศควรทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขความต้องการด้านอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้น และหลายประเทศควรทำอะไรมากกว่านี้เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งยังแนะนำให้ประเทศเอเชียแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาประชากรลดลง ตลอดจนหาแนวทางพัฒนา โดยแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่กัน ผ่านภาครัฐและภาคธุรกิจ

ที่มา: รอยเตอร์