BF Knowledge Tips: ความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง

BF Knowledge Tips: ความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง

โดย เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP® BBLAM

ปี 2565 ที่พึ่งจะผ่านพ้นไป เป็นปีที่เต็มไปด้วยความผันผวนครับ หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นและสร้างผลกระทบต่อการลงทุนทั้งหุ้น ตราสารหนี้และสินทรัพย์เสี่ยงใหม่ๆ มากมาย ปีนี้ เปิดปีมาเราก็เจอสิ่งไม่คาดฝันมากมาย ทั้งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่รวดเร็วและรุนแรง นโยบายควบคุม Zero Covid ของจีนที่ลากยาว ซึ่งกว่าจะมีมาตรการผ่อนคลายให้ตลาดหุ้นคลายกังวลก็ไตรมาสที่ 4 รวมไปถึงผลพวงต่างๆ จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องค่าเงินที่ผันผวน ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศต่างๆ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ กดดันตลาดหุ้น และกองทุนต่างๆ กองทุนที่พุ่งขึ้นมาแรงในช่วง 2 ปี ตอนโควิดโดยเฉพาะหุ้นสายเทคโนโลยีที่ต่างก็ร่วงแรง ถูกเทขายทำกำไร

ถ้าเรามองย้อนกลับไป ก็จะพบว่าจริงๆ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีทั้งที่เป็นวัฎจักร ปัญหามีทั้งมีที่มาที่ไป คาดเดาได้แต่ไม่รู้จะเกิดตอนไหน อย่างการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถูกกดลงมาจนผิดปกติจากความพยายามในการพยุงเศรษฐกิจช่วงโควิด กับที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้น เกิดเมื่อไร และจบเมื่อไร อย่างกรณีสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ลากยาว

สำหรับสิ่งที่นักลงทุนรวมถึงตัวผมเองต้องกลับมาคิด มาทบทวน คือ เรื่องการกระจายความเสี่ยง ว่าที่ผ่านมา เรามีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอหรือไม่ หรือเราเพิกเฉยโดยเชื่อว่า การลงทุนในระยะเวลาที่ยาวนานก็เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้แล้ว

ปีที่ผ่านมาๆ มา ผลตอบแทนกองทุนโดยเฉพาะต่างประเทศเป็นขาขึ้นตลอด เวลาดูผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี 10 ปี เราจะพบว่า ขนาดย้อนหลังนานๆ ตัวเลขผลตอบแทนก็เยอะ จนหลายคนคาดหวังว่า การลงทุนยาวๆ จะได้ผลตอบแทนที่ดีแบบนั้นในอนาคต ก็เกิดการลงทุนกระจุกตัวในหุ้นเติบโต กองทุนที่เคยให้ผลตอบแทนดีๆ เหล่านั้น จนลืมไปว่า การลงทุนระยะยาวไม่เพียงพอต่อการลดความเสี่ยงของการลงทุน เราควรกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องความเสี่ยงที่เรายอมรับได้จริงๆ การจัดสรรพอร์ตให้มีความหลากหลายในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้มากขึ้น

หลักการทั่วไปโอกาสรับผลตอบแทนสูง ก็ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงต่ำ ก็โอกาสรับผลตอบแทนต่ำ ไม่มีอะไรที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่การันตีผลตอบแทนสูง ปี 2565 ซึ่งหุ้นก็ตก ตราสารหนี้ก็ตก ถ้าเรากระจายความเสี่ยง มีการแบ่งจัดสรรการลงทุนก็จะมีส่วนช่วยเราได้มาก สำหรับคนถือตราสารหนี้แม้จะขาดทุน แต่ก็ไม่มากเหมือนหุ้น บางคนก็ถือเงินฝาก เงินสด ก็จะโชคดีกว่า และในวันที่หุ้นตกแรงๆ คนมีเงินสด มีตราสารหนี้ที่ราคาตกน้อยกว่า ก็จะได้เปรียบ เพราะมีหน้าตักสำหรับโยกไปเก็บหุ้น กองทุนหุ้น ในวันที่ราคาจูงใจ เวลาเกิดวิกฤตจะได้ยินบ่อยๆ ว่า คนถือเงินสดมักได้เปรียบ เพราะสามารถช้อนซื้อกองทุนในราคาต่ำๆ ได้ หลายครั้งที่ราคาที่ต่ำ มักจะผสมโรงด้วยการเทขายจาก panic ทำให้ราคาร่วงมากเกินไปในเวลาสั้นๆ จังหวะ panic แบบนี้ เราสามารถโยกเงินไปช้อนเก็บได้ จะเก็บยาวหรือทำกำไรสั้นๆ ก็ได้

ในทุกโอกาสมีความเสี่ยง ในทุกความเสี่ยงก็มีโอกาส เพียงแต่สิ่งนั้นเหมาะสมกับเราหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องคิดพิจารณา การลงทุนในทุกวันนี้ยากขึ้น แนวคิดเชื่อมั่นอะไรสูงๆ แล้ว all in  ลงทุนหมดหน้าตัก เป็นความเสี่ยงที่สูงมาก แม้แต่การลงทุน all in ในตราสารหนี้เองก็เกิดความเสี่ยงเช่นเดียวกัน นั่นคือ เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะพยายามรักษามูลค่าของทรัพย์สินในพอร์ตให้สู้กับเงินเฟ้อ ถ้าเงินออมที่มีอยู่เพียงพอต่อการใช้เงินก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องคิดให้ดี ว่าการไม่ลงทุนในความเสี่ยงเลยเหมาะกับเราจริงๆ หรือไม่ครับ