Fund Comment ธันวาคม 2565: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment ธันวาคม 2565: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนธันวาคมปรับลดลง ทั้ง curve ประมาณ 4-35 bps โดยช่วงอายุไม่เกิน 1 ปีปรับลดลงประมาณ 4-14 bps จากกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาช่วงสิ้นปี ทั้งนี้ หากมองภาพรวมทั้งปี พบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น 41-98 bps โดยช่วงอายุที่ปรับเพิ่มมากที่สุด คือ รุ่น 2 ปี ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย

ตลอดทั้งปี 2022 คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย มีมติทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งสิ้น 75 bps จาก 0.50% เป็น 1.25% เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อพยายามสกัดเงินเฟ้อที่่เพิ่่มขึ้้นสููงในรอบหลายปี โดยในเดือนธันวาคม มีการประชุมของธนาคารกลางหลักๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 50 bps สู่ระดับ 4.25-4.50% ตามการคาดการณ์เป็นวงกว้างของตลาด นับเป็นการชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังจากที่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75 bps ต่อเนื่องใน 4 รอบการประชุมก่อนหน้า โดย Fed ย้ำว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพิ่มเติมอีกมีความเหมาะสมเพื่อให้อยู่ในระดับที่จำกัดเศรษฐกิจเพียงพอ ในการนำพาเงินเฟ้อให้ชะลอกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ขณะที่แนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot plot บ่งชี้ว่า Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแตะระดับสูงสุด (Terminal rate) ที่ 5.00-5.25% ณ สิ้นปี 2023F โดยเพิ่มขึ้นจากเดิม (เดือน ก.ย.) ที่ 50bps นอกจากนี้ มีคณะกรรมการ Fed จำนวน 7 จากทั้งหมด 19 ท่าน ที่มองอัตราดอกเบี้ยควรปรับสูงขึ้นกว่า 5.00-5.25% ด้วย จึงสะท้อนความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยอาจถูกปรับสูงขึ้นกว่านี้ได้

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา 50 bps สู่ระดับ 2.00% ตามตลาดคาดการณ์ พร้อมทั้งส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัยยะสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการเงินมีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าหมายในระยะปานกลางที่ 2% ได้ นอกจากนี้ ECB ยังมีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 8.4% ในปี 2022F (vs 8.1% คาดการณ์เดิม), 6.3% ในปี 2023F (vs 5.5% เดิม), 3.4% ในปี 2024F (vs 2.3% เดิม) อีกทั้งยังได้มีการเปิดเผยคาดการณ์ในปี 2025F เป็นครั้งแรก ซึ่งคาดอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.3% นับว่ายังอยู่สูงเกินเป้าหมายของ ECB ที่ 2.00% ตลอดช่วงประมาณการ

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) และคงมาตรการอื่นๆ ไว้ตามเดิม แต่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดโดยการปรับกรอบ Yield Curve Control จากเดิมที่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวในกรอบ +/- 0.25% กว้างขึ้นเป็น +/-0.5% ซึ่งเป็นการปรับที่เร็วกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2023 เป็นต้นไป หลังนายคุโรดะ ผู้ว่า BoJ คนปัจจุบันหมดวาระลง

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป คาดว่า  อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะปรับตัวตามการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. เป็นหลัก ซึ่งยังคงมองว่า กนง.จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่จากนโยบายการเงินตึงตัวทั่วโลกที่ยังมีแนวโน้มต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะ Fed ที่ยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 อยู่ ซึ่งจะยังคงกดดันการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ประกอบกับเงินเฟ้อไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเกินเป้าหมายของ ธปท. ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังมีความผันผวนสูงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว