ECB สร้างความเชื่อมั่นภาคธนาคาร เรียกร้องผู้นำ EU ออกมาตรการประกันเงินฝาก

ECB สร้างความเชื่อมั่นภาคธนาคาร เรียกร้องผู้นำ EU ออกมาตรการประกันเงินฝาก

ECB สร้างความเชื่อมั่นภาคธนาคาร เรียกร้องผู้นำ EU ออกมาตรการประกันเงินฝาก หวังบรรเทาผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคธนาคารของสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่า ECB มีแนวโน้มที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดาผู้นำในสหภาพยุโรป (EU) ในวันนี้ (24 มี.ค.) ว่า ธนาคารในยูโรโซนยังคงมีความปลอดภัย หลังจากตลาดการเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคธนาคารของสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี คาดว่า ECB จะเรียกร้องให้ผู้นำ EU ผลักดันการออกมาตรการประกันเงินฝาก

ผู้นำ EU กำลังประชุมร่วมกันเป็นวันที่ 2 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนไปใช้กฎระเบียบด้านการคลังและหนี้สินของ EU ขณะเดียวกัน คาดว่าที่ประชุมจะหารือถึงผลกระทบของวิกฤตการณ์ธนาคารเครดิต สวิส และการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ที่มีต่อระบบธนาคารของ EU ด้วย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของ ECB เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB จะเสนอแนวทางการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินต่อบรรดาผู้นำยูโรโซนทั้ง 20 ประเทศ และมีแนวโน้มว่า นางลาการ์ดจะถูกซักถามว่า ECB มีแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไปหรือไม่

“นางลาการ์ดมีแนวโน้มที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบธนาคารของ EU หลังจากธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ประสบปัญหาสภาพคล่อง และเธอจะเรียกร้องให้กลุ่มผู้นำ EU เร่งผลักดันการบังคับใช้กฎสหภาพการธนาคาร (Banking Union) และสหภาพตลาดทุน (Capital Markets Union)” เจ้าหน้าที่ ECB กล่าว

การร่างกฎสหภาพการธนาคารของ EU นั้น เสร็จสิ้นไปประมาณ 2 ใน 3 ส่วน และที่ผ่านมานั้น EU ได้มอบหมายให้ ECB เป็นผู้กำกับดูแลธนาคารรายใหญ่ในยูโรโซนแต่เพียงผู้เดียว และให้อำนาจแก่ ECB แต่เพียงผู้เดียวในการจัดหาเงินทุนในกรณีที่มีธนาคารล้มละลาย

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ใน EU มีนโยบายรับประกันเงินฝากธนาคารในระดับประเทศวงเงินไม่เกิน 100,000 ยูโร (108,320 ดอลลาร์) แต่ก็ยังไม่มีแผนการที่รับประกันเงินฝากที่ครอบคลุมทุกประเทศใน EU และเป็นการยากที่ประเทศใน EU จะร่วมมือกัน หากเกิดวิกฤตธนาคารที่รุนแรงมากในประเทศเดียว

ส่วนสหภาพตลาดทุนของ EU ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เพื่อช่วยให้บริษัทใน EU สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้คล่องตัวมากขึ้น แต่ความคืบหน้าของสหภาพตลาดทุนเป็นไปอย่างล่าช้า อันเนื่องมาจากความแตกต่างของกฎหมายด้านภาษีและกฎหมายล้มละลายในแต่ละประเทศสมาชิกทั้ง 27 ชาติของ EU

ที่มา: รอยเตอร์