BF Knowledge Tips: เคล็ดลับบอกรักเงินในกระเป๋า ด้วยกองทุนรวม

BF Knowledge Tips: เคล็ดลับบอกรักเงินในกระเป๋า ด้วยกองทุนรวม

โดย อรพรรณ บัวประชุม CFP® BBLAM

ใกล้สิ้นเดือน เหมือนจะสิ้นใจ ทำไมถึงเป็นแบบนี้ แล้วทำยังไงถึงจะหลุดพ้นจากวังวนแบบนี้เสียที บอกได้เลยว่า ต้องปฏิวัติตัวเองอย่างจริงจัง เพราะไม่ใช่จะทำตัวเหมือนเดิมๆ แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ดังนั้น ใจเราต้องเข้มแข็ง ยอมลำบากในช่วงแรกๆ เพื่อจะได้สุขสบายในภายหลัง

เคล็ดลับบอกรักเงินในกระเป๋าด้วยกองทุนรวม นั่นเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเราได้ ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงสิ้นเดือนพอดี ดังนั้น ต้องตั้งสติกันให้ดีๆ แนะนำให้หยิบกระดาษ กับปากกา หรือจะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยการเขียนจำนวนเงินที่เข้าบัญชีในวันที่เงินเดือนออก ว่า เรามีเงินเท่าไหร่ (เพราะตัวเราเองยังไม่รู้เลยว่าเรา มีเงินเข้าบัญชีทุกเดือนๆ เท่าไหร่) สำหรับใครที่ไม่เคยลงทุนโดยการหักเงินในบัญชี ก็แสดงว่า เงินที่เข้ามาทุกเดือนนั้น ยังไม่มีการออม การลงทุนใดๆ ดังนั้น แนะนำให้แบ่งเงินเป็น 4 ส่วนแบบนี้

ส่วนแรก สำหรับจ่ายหนี้ประจำเดือน ไม่ว่าจะเป็น หนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หนี้ที่เผลอไปกู้ยืมใครมา ลองเขียนดูว่า มีเท่าไหร่

ส่วนที่ 2 นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายประจำที่เราต้องจ่าย เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต เดือนนึงเท่าไหร่ ส่วนใครที่ต้องกินอาหารเสริมเป็นประจำ ค่าอาหารเสริม หรือค่ายาประจำตัวก็รวมในหมวดนี้ด้วย

ส่วนที่ 3 คือ ค่าใช้จ่ายไม่ประจำ เราสามารถเพิ่มได้ ลดได้ ส่วนใครที่บอกว่า เพิ่มประจำเลย เพิ่มทุกเดือน แบบนี้แสดงว่า มีเงินเหลือใช้ จึงเพิ่มค่าใช้จ่ายไม่ประจำได้ทุกเดือน ถ้าใครเป็นแบบนี้แสดงว่า เงินส่วนสุดท้ายอาจจะไม่เหลือต้องระมัดระวังการใช้จ่ายกันให้ดีๆ ส่วนใครที่ลดค่าใช้จ่ายไม่ประจำลงได้ ก็แน่นอนว่า จะช่วยให้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น

และส่วนสุดท้าย ก็คือ เงินเก็บให้ตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าใครสามารถเก็บเงินให้ตัวเองก่อนการใช้จ่ายอื่นๆ ได้จะดีมาก ยิ่งเก็บเป็นจำนวนเงินเท่าๆ กันทุกเดือน เพราะเราทำงานมาเหนื่อย ก็อยากได้รางวัล ต้องให้รางวัลกับตัวเองบ้าง ดังนั้น เงินในส่วนนี้ ยิ่งมีมากยิ่งดี ยิ่งเป็นการสะสมความมั่งคั่งให้กับตัวเองในอนาคต ดังนั้น เงินในส่วนนี้จึงต้องจัดการอย่างเหมาะสม โดยการคำนึงถึงเป้าหมายในอนาคต อย่างเช่น เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีก่อนการออม ก่อนการลงทุน ต้องสะสมให้ได้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน โดยสะสมในกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี หรือกองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้ภาครัฐ เมื่อมีเงินสะสมเพียงพอกับค่าใช้จ่ายประมาณ 6 เดือนแล้ว ก็ลองดูว่า เรามีเป้าหมายอะไรบ้าง หากเป็นเป้าหมายระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ก็สามารถลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้ ส่วนใครที่มีเป้าหมายระยะกลางไม่เกิน 7 ปี ก็สามารถลงทุนในกองทุนผสม อย่างกองทุนเปิดบัวหลวงอินคัม หรือกองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ 25 กองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ 55 ถ้ามีเป้าหมายระยะยาว ก็ลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ 100 กองทุนเปิดบัวแก้ว ที่เน้นลงทุนหุ้นไทย หรือกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นโกลบอล ที่กระจายการลงทุนหุ้นทั่วโลก แต่ถ้าใครที่ต้องการลงทุนสำหรับเป้าหมายเกษียณ และสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วย ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีหลากหลายนโยบายให้เลือก ซึ่งเราสามารถผสมผสานสัดส่วนการลงทุน ให้เหมาะกับความเสี่ยงที่เรารับได้

รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมปรับเปลี่ยนตัวเอง และไม่ว่าจะใช้จ่ายอะไร ต้องพินิจพิจารณากันให้ดีๆ ก่อนว่า จำเป็นมั้ย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรซื้อ ถ้าจำเป็นต้องดูว่า จำเป็นต้องตอนนี้เลยมั้ย ถ้ายังไม่ต้องตอนนี้ก็ผลัดการใช้เงินออกไปก่อน และนำเงินที่จะใช้จ่ายมาออม มาลงทุนเพิ่มเติมกัน เพื่อบอกรักตัวเอง บอกรักเงินในกระเป๋าของเราให้มากขึ้น ไม่ต้องรีบให้เงินในกระเป๋าจากไปเร็วอย่างไม่ทันตั้งตัว และเลือกลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งมีหลากหลายนโยบาย ให้เหมาะกับเป้าหมายที่เราต้องการค่ะ