การทำนายเศรษฐกิจจีนและอินเดียในอนาคต

PricewaterhouseCoopers (PwC) ได้เขียนรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ภายในปี 2050 อินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าสหรัฐเมื่อวัดตามความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity)

ความเสมอภาคของอำนาจซื้อจะสะท้อนว่าประเทศนั้นๆ ได้ผลิตสินค้าและบริการรวมกันมากน้อยแค่ไหน หากใช้ราคาสินค้าและบริการในสหรัฐอเมริกาเป็นฐานในการคำนวณ (หรือง่ายๆ คือ สมมุติราคาสินค้าให้เท่ากับในสหรัฐอเมริกา)

ปรากฎว่า จีนแซงหน้าสหรัฐเรียบร้อยแล้วในปี 2016 เมื่อเทียบขนาดเศรษฐกิจของจีนกับสหรัฐตามความเสมอภาคของอำนาจซื้อ โดยที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจ 21.26 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ตามมาด้วยสหรัฐที่ 18.56ล้านล้านเหรียญดอลล่าห์สหรัฐ อินเดียที่ 8.7 ล้านล้านเหรียญดอลล่าห์สหรัฐ ญี่ปุ่นที่ 4.9 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ เยอรมันนีที่ 3.9 ล้านล้านเหรียญดอลล่าห์สหรัฐ รัสเซียที่ 3.7 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ บราซิลที่ 3.1 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ อินโดเนเซียที่ 3.0 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ อังกฤษที่ 2.7 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และฝรั่งเศสที่ 2.7 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ

PwC ทำนายว่า ในปี 2030 จีนจะทิ้งห่างสหรัฐไปเรื่อยๆ ด้วยเศรษฐกิจตามนิยามความเสมอภาคอำนาจซื้อที่ใหญ่กว่า โดยจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจ 38 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาที่ 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  อินเดียที่ 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่นที่ 5.6 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ

แต่พอถึงปี 2050 แล้ว จีนและอินเดียจะนำสหรัฐขาดลอย โดยจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจ58 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตามมาด้วยอินเดียที่ 44 ล้านล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ และสหรัฐอเมริกาที่ 34 ล้านล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีโมดีแห่งอินเดียจึงไม่เกินเลย เมื่อเขาบอกว่าศตวรรษที่ 21นี้จะเป็นศตวรรษของอินเดีย

นาย John Hawksworth หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ PwC บอกว่า ตลาดเกิดใหม่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจ รายงานของ PwC ชี้เห็นว่าความกลัวที่จะล้มเหลวที่จะเข้าไปทำธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ จะเป็นการพลาดโอกาสงาม เพราะว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในช่วงนี้ไปถึงปี 2050

ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จต้องสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และฟันฝ่าความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมืองในระยะสั้นในตลาดเกิดใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ถึงปี 2050 ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่รายงานของ PwC ช่วยชี้ให้เห็นศักยภาพของประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและอินเดียที่กำลังจะสามารถทวงแชมป์โลกความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจคืนจากชาติตะวันตกได้ หลังจากเสียแชมป์นี้ไปในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม

ทนง ขันทอง 
กองทุนบัวหลวง