กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย มิติใหม่ของภาคตลาดทุนและภาคสังคม

นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยหรืออาจจะครั้งแรกในโลก ที่ภาคตลาดทุนจับมือร่วมกับภาคสังคมอย่างจริงจัง และดำเนินการเป็นผลสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่นโยบายความเห็นบนกระดาษ โดยภาคตลาดทุนที่กล่าวถึง คือ “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน” จำนวน 11 บริษัท โดยการสนับสนุนของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ร่วมมือกับภาคสังคม คือ “มูลนิธิเพื่อคนไทย” และ “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เช้นจ์ เวนเจอร์” ได้ร่วมกันก่อตั้งโครงการ “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” หรือ Thai CG Fund  ซึ่งเป็นกองทุนหุ้น ที่ลงทุนในหุ้นไทยเฉพาะกลุ่ม

บริษัทจัดการกองทุน 11 บริษัท (จากทั้งหมด 22 บริษัท) ซึ่งมีขนาดกองทุนรวมภายใต้การบริหารกว่า 90% ของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวม ได้ร่วมกันกำหนดกติกากลั่นกรองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ว่าหุ้นใดเข้าข่ายเป็นหุ้นที่มีการกำกับกิจการที่ดี (CG) ให้แต่ละบริษัทเลือกและนำมาลงทุนในกองทุนธรรมาภิบาลไทยที่แต่ละบริษัทจะจัดตั้งขึ้น

บริษัทจัดการกองทุนทั้ง 11 บริษัท จะแยกกันจัดตั้งกองทุนหุ้นธรรมาภิบาลไทยของตนเอง ไม่ได้ร่วมทีมกันจัดตั้งกองทุนเพียงกองเดียว เพราะการทำแบบนั้นมีความยากลำบากเกินไป เนื่องจากแต่ละค่ายจะมีสไตล์ มีวิธีการบริหาร มีแนวคิดการลงทุนของตนเอง แต่ในกรณีนี้จะดำเนินงานโดยมีเป้าหมายหลักร่วมกัน คือการส่งเสริมเรื่องธรรมาภิบาล สะท้อนถึงความตั้งใจดีของทั้ง 11 บริษัท

หรืออีกมุมหนึ่ง การที่ 11 บริษัทจัดการกองทุน มาตกลงร่วมมือกันแบบนี้ แสดงว่าทั้งหมดมีความเห็นร่วมว่าในแง่ของการลงทุนระยะยาวแล้ว เรื่องธรรมาภิบาล เรื่องความโปร่งใสของบริษัทจดทะเบียนคือสิ่งที่สำคัญ และเชื่อว่าการลงทุนในลักษณะนี้จะให้ผลดีกับผู้ลงทุนในระยะยาว ไม่ใช่บริษัทใดบริษัทหนึ่งคิดเอาเอง

กองทุนนี้มีเป้าหมายให้บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องธรรมาภิบาล       ความโปร่งใสต่างๆ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นับเป็นเฟืองใหญ่ที่หมุนเศรษฐกิจในประเทศ ถ้าบริษัทเหล่านี้เข้าใจเรื่องธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง และไม่ทำอะไรที่ผิดคุณธรรม เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความไม่โปร่งใส หรือเรื่องหมิ่นเหม่ต่างๆ ลดลงไปได้อย่างมาก โดยการรวมกลุ่มตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย เป็นเสมือนการบอกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นว่า ตอนนี้ผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลไม่น้อยไปกว่าผลกำไรของกิจการ

เป้าหมายที่สองคือ กองทุนกลุ่มนี้จะสนับสนุนเงินทุนให้หน่วยงานที่ทำความดีในเรื่องธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชน หน่วยงานอิสระ หรือกลุ่มคนที่เสียสละเข้ามาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการแบ่งค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน จำนวน 40% ไปสนับสนุนองค์กร หน่วยงานต่างๆ เหล่านั้น

กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย  จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่วมกัน 2 คณะ โดยทั้ง 2 คณะจะมีตัวแทนจาก บลจ. ที่ตั้งกองทุนธรรมาภิบาล มาเป็นกรรมการ โดย

  1. คณะแรกเป็นคณะที่ดูเรื่องการลงทุน ว่าจะมีบริษัทใดในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าข่ายที่จะลงทุนได้บ้าง  โดยดูจากเกณฑ์หลัก 2 เรื่อง ได้แก่ 1) ต้องได้รับ CG Scoring จากรายงานการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนหรือ IOD ในระดับ 4 ดาวขึ้นไป และ 2) ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (โครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือเรียกสั้นๆว่า CAC  ซึ่งย่อมาจากคำว่า Collective Action Coalition against corruption )
  2. คณะที่สอง เป็นคณะที่ดูแลเรื่องการจัดสรรเงิน 40% จากรายได้การจัดการกองทุน ส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ทำเรื่องธรรมาภิบาล ดูว่าจะสนับสนุนหน่วยงานหรือองค์กรใดบ้างในเรื่องนี้

นับได้ว่ากองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย  เป็นความลงตัวระหว่างภาคตลาดทุนและภาคสังคมที่เป็นรูปธรรม   และในแง่ของผู้ลงทุนเองก็ยังสามารถลงทุนในกิจการที่ดี มีธรรมาภิบาลโปรงใส ตรวจสอบได้ รวมยังยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนยั่งยืนในระยะยาว   และได้สนับสนุนกิจกรรมและหน่วยงานที่ต่อต้านคอรัปชั่น ผ่านค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนอีกด้วย 

เสกสรร โตวิวัฒน์
กองทุนบัวหลวง