เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนใจ ก่อนเปลี่ยนไป

เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนใจ ก่อนเปลี่ยนไป

By…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

BF Knowledge Center

ชีวิตของเรามีการ “เปลี่ยนแปลง” อยู่เสมอๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ การที่เรารู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น แล้วเราได้คิดหรือเตรียมการตั้งรับกับสิ่งนั้น จะช่วยทำให้เราสบายใจ ไม่กังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และพร้อมที่จะปรับแต่งชีวิตของเราให้เป็นไปในทิศทางที่เราพอใจ

“แก่” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจหนีความจริงไปได้ นอกจากเราแล้ว ประเทศไทยก็ยังมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น หรือที่พูดง่ายๆ ก็คือ มีคนแก่มากขึ้นนั่นเอง ส่งผลให้คนทำงานต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุมากขึ้น และมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้นในระหว่างปี 2553-2583 จากการคาดคะเนของสำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จะเห็นได้ว่าอีกเพียง 10 ปีข้างหน้า วัยทำงาน 100 คน ต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุเพิ่ม จาก 51 คน เป็น 64 คน เท่ากับเพิ่มขึ้น 13 คน หรือคิดเป็น 25% ที่วัยแรงงานต้องดูแลเพิ่มขึ้น แล้วเราก็คงจะหนีการเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ นอกจากการทำงานหารายได้ในปัจจุบันแล้ว ยังอาจต้องหาทางทำให้รายได้ที่ได้รับมาทำงานมากขึ้น และได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ทันต่อการใช้จ่ายในอนาคต แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ถ้าหากเรายังไม่เริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้

“เปลี่ยนใจ” ขั้นตอนง่ายๆ ที่ช่วยให้คุณเตรียมตัวต่อการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เริ่มจากวิธีตรวจสอบสภาพคล่องก่อนการลงทุน แนะนำให้สังเกตตัวเองก่อนว่า ปัจจุบันมีเงินเก็บสะสมอยู่ที่ไหนบ้าง มีเงินเก็บสม่ำเสมอไหม หากต้องใช้เงินยามฉุกเฉิน จะเอาเงินจากตรงไหนมาใช้ หากคำตอบที่ได้รับคือ มีเงินเก็บสะสมอยู่ในเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ ออมบ้างไม่ออมบ้าง ถ้าเดือนไหนเหลือแล้วค่อยออม กรณีฉุกเฉิน

ต้องการใช้เงินต้องหยิบยืมจากเพื่อนหรือญาติๆ เป็นประจำ หากเป็นแบบนี้ขอให้เปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ แล้วหันกลับมาจัดการกับตัวเอง
ด้วยการตัดใจออมเงินอย่างสม่ำเสมอ เท่าๆ กันทุกเดือน โดยให้ออมเป็นจำนวน % ของรายได้ เช่น รายได้ 30,000 บาท ออม 20% เท่ากับว่าออมเดือนละ 6,000 บาท ปีหน้ารายได้เพิ่มขึ้นก็ออมเป็น % ของรายได้ เช่น รายได้ 35,000 บาทต่อเดือน ออม 20% ก็เท่ากับว่าออมเป็น 7,000 บาท เท่ากับว่าออมเพิ่มขึ้น จากนั้นก็ต้องอดใจเพื่อสะสมเงินออมนี้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินก่อน เพราะหากมีอะไรเกิดขึ้นไม่คาดคิดจะได้มีเงินใช้โดยไม่ต้องหยิบยืมใคร ซึ่งอย่างน้อยควรมี 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่นใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาทก็ควรมี 120,000 บาท ในเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ ที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นเงินสดพร้อมใช้ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ แต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องมีเงินสำรองเท่ากันก็ได้ ขึ้นอยู่กับภาระหนักเบาของตัวเอง

เมื่อทำครบทั้ง 2 ขั้นตอนแล้ว ก็มา ”เปลี่ยนไป” เริ่มลงทุนเพื่ออนาคต โดยการกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการให้เป็นเป้าหมาย เพื่อให้เรามีแรงผลักดันในการลงทุน จากนั้นให้เลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ เพราะหากสามารถถึงเป้าหมายได้โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงมากนัก ย่อมดีกว่าการรับความเสี่ยงมากเกินไปโดยไม่จำเป็น เริ่มต้นลงทุนตั้งแต่วันนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเงินที่ดีในอนาคต และอะไรๆ ที่ไม่คาดคิดก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทีนี้แหละ คุณก็จะเป็นคนหนึ่งที่เปลี่ยนความปรารถนาให้เป็นความจริงได้…เย่