“ดิจิทัลเฮลท์แคร์” ยกระดับบริการสุขภาพอาเซียน

“ดิจิทัลเฮลท์แคร์” ยกระดับบริการสุขภาพอาเซียน

By…เต็มเดือน  พัฒจันจุน

Fund Management

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของผู้คน ตลอดจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจเฮลท์แคร์ (Healthcare) หรือบริการด้านสุขภาพนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามองท่ามกลางกระแสนี้ เนื่องจากหลายธุรกิจอาจได้รับผลกระทบที่เกิดการเปลี่ยนแปลง (Disrupt) และก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากธุรกิจเดิมอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดีการเข้ามาของเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนธุรกิจเฮลท์แคร์ และช่วยยกระดับบริการด้านสุขภาพรูปแบบเดิมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนที่ประชากรยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ทั้งยังมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาบริการด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้

ธุรกิจเฮลท์แคร์ในอาเซียนมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ จากรายงานของ Asian Development Bank (ADB) คาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรของอาเซียนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มประมาณ 3 เท่าตัวจากปี 2010 ที่มีเพียง 4.8% เท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าอาเซียนมีแนวโน้มเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่าประชากรของบางประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นอีก 40% ภายในปี 2050 ดังนั้น ปัจจัยด้านโครงสร้างและจำนวนประชากรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ความต้องการบริการด้านสุขภาพของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

สอดคล้องกับรายงานของ Solidiance ที่คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ หรือที่เรียกว่าอาเซียน 6 จะมีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 740 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 จากปี 2017 อยู่ที่ 420 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้น ปัจจุบันผู้คนเริ่มมีค่านิยมที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น และรัฐบาลของทุกประเทศในอาเซียนได้เล็งเห็นความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุนด้านสุขภาพ ดังนั้น ถึงเวลาที่ธุรกิจเฮลท์แคร์ในภูมิภาคนี้จะต้องปรับตัว

ดิจิทัลเฮลท์แคร์ (Digital Healthcare) ยกระดับบริการสุขภาพอาเซียน โดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับบริการด้านสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้สะดวกมากขึ้น ขณะที่ด้านผู้ให้บริการเองก็สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้รวดเร็ว มีความคล่องตัว สามารถทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลารักษาและการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยหนึ่งในรูปแบบของดิจิทัลเฮลท์แคร์ที่กำลังได้รับความนิยมคือแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในโทรศัพท์มือถือ โดยรายงานของกูเกิ้ลและเทมาเส็กระบุว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ประชากรใช้เวลาเฉลี่ยในการเล่นอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือต่อวันสูงที่สุดในโลกคือเฉลี่ยวันละ 3.6 ชั่วโมง สูงกว่าชาวอเมริกันที่ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเฉลี่ยเพียงวันละ 2 ชั่วโมง และเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในภูมิภาคนี้

ดังนั้น การจะผลักดันให้บริการด้านสุขภาพเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้อานิสงค์นี้จึงเป็นเรื่องที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ อีกทั้งปัจจุบันผู้ผลิตมือถือหลายรายเริ่มพัฒนาฟังก์ชันและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการนำอุปกรณ์ที่คนส่วนใหญ่พกพาติดตัวและใช้เชื่อมโยงติดต่อกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีค่าใช้จ่ายต่ำมาประยุกต์ใช้กับการดูแลและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ให้บริการ เช่น ทำให้สามารถลดจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ด้วยการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ลดระยะเวลาการรอคอยและลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วยแอพพลิเคชั่นที่ผู้ป่วยสามารถนัดพบแพทย์โดยไม่จำเป็นต้องมานั่งรอเป็นเวลานานที่โรงพยาบาล เป็นต้น

อีกทั้งปัจจุบันยังมีอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Device) หรืออุปกรณ์แฟชั่นทางด้านเทคโนโลยี (IT Gadget) เช่น Apple Watch, Fitbit และ Samsung Gear Fit เป็นต้น ซึ่งสามารถบันทึกกิจกรรมที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น นับจำนวนก้าวและระยะทางที่เดิน ความถี่และระยะเวลาที่ออกกำลังกาย รวมทั้งสามารถคำนวณแคลอรี่ที่ใช้ในช่วงเวลานั้นๆ แล้วบันทึกเป็นข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลที่สามารถส่งต่อให้แพทย์นำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพต่อไป หรือกรณีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บ้านโดยลำพังก็สามารถสวมใส่อุปกรณ์เหล่านี้ซึ่งสามารถส่งสัญญาณบอกชีพจร อุณหภูมิร่างกาย หรือตรวจจับอุบัติเหตุแล้วส่งสัญญาณไปยังโรงพยาบาลหรือผู้ดูแลให้มาช่วยเหลือได้ทันท่วงที เป็นต้น

ขณะที่การนำเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) มาใช้ในวงการเฮลท์แคร์ก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้วเช่นกัน โดยประโยชน์ของ AI และ Robotics คือสามารถวินิจฉัยโรคได้รวดเร็ว แม่นยำ ลดความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) ทำให้ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตและลดระยะเวลาในการรักษาให้สั้นลง โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นตัวอย่างโรงพยาบาลในประเทศไทยที่ได้มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้แล้วในปัจจุบัน เช่น การร่วมมือกับ IBM นำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อค้นหารูปแบบของโรคทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการนำหุ่นยนต์ da Vinci มาใช้ในการผ่าตัดรักษามะเร็งในอวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรักษายังต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ หุ่นยนต์เป็นเพียงเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมการทำงานของแพทย์เท่านั้น  และอีกตัวอย่างคือการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการจัดยาสำหรับผู้ป่วย ซึ่งนอกจากทำให้การจ่ายยามีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้วยังทำให้เภสัชกรมีเวลาเพียงพอในการแนะนำการใช้ยาและดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้นอีกด้วย จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ยังไม่ถึงขั้นที่นำมาใช้ตัดสินใจหรือทำงานแทนทั้งหมด

แม้ว่าปัจจุบันดิจิทัลเฮลท์แคร์ในภูมิภาคนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและส่วนใหญ่เป็นเพียงบริการพื้นฐาน แต่ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดให้มีความซับซ้อนและสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะต้องตระหนักเมื่อมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในวงการบริการด้านสุขภาพคือความปลอดภัยด้านไอที โดยเฉพาะการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย อีกทั้ง การที่รัฐบาลหรือโรงพยาบาลจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมากกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ดังนั้น จึงควรเป็นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ได้ประโยชน์สูงสุด และสุดท้ายจากแนวโน้มความต้องการบริการด้านสุขภาพที่สูงขึ้นจากทั้งจำนวนประชากรและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และกระแสการดูแลสุขภาพที่กำลังมาแรง ขณะที่การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลอาจทำให้เกิด Disruption บางส่วน แต่เชื่อว่าจะส่งผลต่อธุรกิจในทางบวกมากกว่า อีกทั้ง บริการด้านสุขภาพยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องอยู่คู่กับชีวิตมนุษย์ต่อไป ทำให้ธุรกิจเฮลท์แคร์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านสุขภาพต่างๆ รวมไปถึงธุรกิจ Health Tech ยังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะยาว